นายสามารถ จิตตดีชัย ผู้จัดการโรงงานไทยนำมันสำปะหลัง กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางโรงงานได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ทำการเกษตรกรรมประมงที่บริเวณลำห้วยหลวง ว่ามีปลาตายเพราะมีน้ำเสียจากโรงงานไหลลงในลำห้วยหลวง ทางโรงงานฯก็มิได้นิ่งนอนใจ รีบทำการสำรวจและแก้ไขปรับปรุงคันคูบ่อน้ำเสียที่รั่วไหลลงสู่ลำห้วยอย่างเร่งด่วนทันที ซึ่งบัดนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
วันนี้ทางโรงงานจึงร่วมมือกับชุมชนตามลำห้วยหลวงจัดโครงการ "ไทยนำ ปล่อยปลา คืนธรรมชาติ ให้ลำห้วยหลวง" เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมคืนธรรมชาติให้กับลำน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบเรื่องปลาตาย และ เป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรมกับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งวันนี้ได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียน 1 แสนตัว และปลายี่สก 1 แสนตัว เพื่อคืนธรรมชาติความอุดมสมบูรณ์ของลำห้วยหลวงให้ดีขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าจังหวัดอุดรธานีไม่เคยนำบทลงโทษตามกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจังกับเหตุการณ์น้ำเสียแล้วปลาตาย ครั้งนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการนำกฎหมายหลายฉบับมาใช้ ตั้งแต่ พรบ.โรงงาน , พรบ.ประมง และ พรบ.สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีและมีคำสั่งปรับไปแล้ว ทั้งหมดอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อเป็นบทเรียนนำไปใช้กับกรณีอื่น และครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงงานที่ยอมรับความผิดพลาดของเขาเอง พร้อมมีความตั้งใจที่จะตอบแทนสังคมด้วยการเยียวยาลำน้ำด้วยการปล่อยพันธุ์ปลา 2 แสนตัว เพื่อทดแทนปลาที่ตายไป ด้วยความเต็มใจ
แหล่งที่มาของข้อมูล : สามารถ จิตตดีชัย. ผู้จัดการโรงงานไทยนำมันสำปะหลัง. สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2558
เรียบเรียงโดย : น.ส.ดุจน้ำทิพย์ พันธุ์ทอง เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น
แหล่งที่มาของข้อมูล : สามารถ จิตตดีชัย. ผู้จัดการโรงงานไทยนำมันสำปะหลัง. สัมภาษณ์, 3 สิงหาคม 2558
เรียบเรียงโดย : น.ส.ดุจน้ำทิพย์ พันธุ์ทอง เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น