![]() |
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบกรณีมีกระแสข่าวสมาคมประมงไปทำสัญญาห้ามเรือถูกกฎหมายออกทะเลเพื่อเพิ่มความกดดันรัฐบาล ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า จากที่ได้รับรายงานทราบว่าผู้ประกอบการเรือที่ผิดกฏหมายไม่ได้ไปบังคับเรือที่ถูกกฏหมายแต่อย่างใด แต่เป็นความเป็นห่วงว่าหากออกเรือไปแล้วอาจโดนจับกุมตามข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งใน 15 ข้อที่ตั้งขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งศปมผ.สั่งการให้หน่วย ศรชล 1-3 ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทันที ถ้าพบมีพฤติกรรมที่รุนแรงต้องรีบดำเนินการตามกฏหมาย
ผบ.ทร.สั่งแจงรีบขึ้นทะเบียน พล.ร.ท.จุมพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มอบนโยบายให้ไปอธิบายให้ประชาชนรับรู้ว่า เรือประมงที่ใช้เครื่องมือผิดประเภทหรือเครื่องมือที่ไม่ได้รับอนุญาตสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลมากน้อยแค่ใหน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่สำรวจเรือ และขึ้นทะเบียนเรือ ให้รีบมาขึ้นทะเบียน เพื่อจะได้ออกทะเลทำประมงได้ ถ้าเรือลำใดที่มาขออนุญาตให้เครื่องมือที่กฏหมายอนุญาต ก็สามารถขอออกอาชญาบัตรได้ แต่หากจะมาขอใบอนุญาตใช้เครื่องมือที่กฏหมายห้ามไว้ ภาครัฐไม่สามารถขึ้นทะเบียนให้ได้เช่นกัน ยืนยัน ศปมผ.ทำตามโรดแมปที่วางไว้ และขณะนี้ชาวประมงส่วนใหญ่เข้าใจและทำตามกฏระเบียบ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมประมงรอดพ้นจากเทียร์ 3 นี้ร่วมกัน ลั่นเอาผิดขวางประมงถูกกม. ด้านพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ถ้ามีคนอยู่เบื้องหลังหรือใช้อิทธิพลบังคับเรือประมงถูกกฎหมายไม่ให้ออกจับปลา ถือว่าไม่ถูกต้อง หากตรวจพบมีเหตุการณ์เช่นนี้ตำรวจในพื้นที่ต้องดำเนินการ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการข่าวต้องติดตามหาข้อมูล ความชัดเจน พิสูจน์ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร หากพบว่าการกระทำเข้าข่ายความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้ามีการบังคับขู่เข็ญไม่ให้เรือประมงออกหาปลา แล้วเรือเหล่านั้นมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นหน้าที่ที่ตำรวจต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถกกรอ.เคาะปรับระเบียบทำประมง วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยผลประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยมอบให้กรมประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง เช่น เรื่องของแรงงาน และการทำสมุดบันทึกการประมง โดยไม่ผิดระเบียบของไอยูยู และไม่กระทบกับการทำประมงพื้นบ้านที่มีอยู่กว่า 30,000 ลำ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯมอบหมายให้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รับเป็นแม่งาน ไปพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ จัดชุดเคลื่อนที่22จว.รับขึ้นทะเบียน ขณะที่พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงการช่วยเหลือผ่อนปรนเรือประมงที่ไม่สามารถออกทำประมงได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเรือประมงเหล่านั้นยังไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายว่า รัฐบาลจัดชุดเคลื่อนที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จไปในพื้นที่ 22 จังหวัดชายฝั่ง ให้บริการ ณ จุดที่เรือขึ้นท่า อำนวยความสะดวกแก่เจ้าของเรือ ไต๋เรือ และลูกเรือนำหลักฐานเอกสารมายื่นขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสามารถออกทะเลทำประมงได้ โดยชุดเคลื่อนที่จะดำเนินการจนถึงวันที่15 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการให้บริการจดทะเบียนเรือ ต่อใบอนุญาตการใช้เรือ ออกใบประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตใช้เรือ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงาน ทั้งกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กสทช. รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น เชื่อว่าจะช่วยให้เรือประมงจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้ออกเรือ แต่มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนมาแสดง สามารถกลับไปออกเรือได้ตามปกติ ส่วนเรือที่ไม่มีเอกสารหรือไม่สามารถดำเนินการได้ถูกต้อง ก็ต้องหยุดออกเรือ สมุทรสาครแห่ขึ้นทะเบียนคึกคัก ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนให้ประมงที่ยังขาดเอกสารในการออกเรือ ดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับการทำประมง และจัดชุดเคลื่อนที่เร็วอบรมใบอนุญาตให้นายท้ายเรือ นายช่างเครื่องและพนักงานวิทยุในเรือประมง ทำให้มีชาวประมง และผู้ประกอบการประมงจ.สมุทรสาคร สนใจเข้าอบรมและยื่นเอกสารกว่า 600 คน ด้านนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาครเชื่อว่า หากการตรวจเอกสารและอุปกรณ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ภายในวันนี้ (8 กรกฎาคม) เรือเล็กและเรือใหญ่ประมาณ 700-800 ลำ จะสามารถออกทำประมงได้ทันที และต่อจากนี้อีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ คาดว่าสถานการณ์เรือประมงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สงขลาเร่งช่วยเรือผิดกฏหมาย เช่นเดียวกับที่ จ.สงขลา ประมงที่ยังมีเอกสารไม่ครบถ้วน เร่งยื่นเรื่อง และเข้ารับการอบรมตามระเบียบกันอย่างคึกคัก ขณะที่ จ.สงขลา ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port in ? Port out) ของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 2 (ศรชล.) ยังคงตรวจเข้มเรือประมงที่ผ่านเข้า-ออกจุดตรวจศูนย์ควบคุมฯ โดยนาวาตรีวันชนะ รัตนฉายา หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ของศรชล.เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา มีเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารทุกอย่างตามที่ทางรัฐบาลกำหนดได้ทำการออกเรือตามปกติ และยังไม่มีการจับกุมเรือประมง เนื่องจากเรือที่ผิดกฏหมายหรือที่มีเอกสารไม่ครบยังคงจอดเทียบท่าและบางส่วนอยู่ระหว่างแก้เอกสารเพื่อให้สามารถออกทำการประมงได้ โดยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 4 สงขลา ให้ความช่วยเหลือในการเปิดสอบนายท้ายเรือและช่างเครื่องยนต์เรือคนไทย และอบรมก่อนออกใบอนุญาตพนักงานวิทยุคมนาคมในเรือประมง เพื่อให้ผู้ประกอบการเรือนำไปประกอบเอกสารตามระเบียบศูนย์ควบคุมฯ แหล่งที่มาของข้อมูล : "รับลูกนายกฯ ศปมผ.แจงประมงรีบยื่นขึ้นทะเบียน.". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.naewna.com/local/167621 |


