![]() |
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำทีมสมาคม ได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมกุ้งไทย และบริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป บริษัท ทีอาร์เอฟ ฟีดมิลล์ จำกัด ซีแวลูกรุ๊ป และอันดามันซีฟู้ดกรุ๊ป เข้าร่วมแถลงต่อสื่อมวลชน สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing และการถูกสหรัฐจัดอันดับการค้ามนุษย์ในระดับ Tier 3
ดร.พจน์กล่าวว่า IUU และ Tier 3 เป็น 2 ศึกหนัก ถือเป็นวิบากกรรมของไทย แต่รัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ามีความจริงใจ มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) ซึ่งขึ้นทะเบียนแรงงานแล้วกว่า 1.6 ล้านคน และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน ด้าน IUU มีการผลักดัน พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ที่ยืดเยื้ออยู่ในสภากว่า 15 ปี ให้เสร็จสิ้นใน 60 วัน และกำลังจะแก้ไขอีกครั้งเพื่อให้รัดกุมตามที่ EU ต้องการ รัฐบาลยังตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อรวมศูนย์ขับเคลื่อนทุกกระทรวงให้เดินหน้าแก้ไขปัญหาประมงด้วย เอกชนภาคส่งออกอาหารทะเลจึงประกาศเจตนารมณ์ พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทั้งด้านประมงและการป้องกันการค้ามนุษย์ และจะไม่ซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลจากเรือที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยกลุ่มสมาคมได้ดำเนินนโยบาย Shrimp Task Force นั่นคือผู้ประกอบการจะซื้อปลาป่นเพื่อทำอาหารกุ้งจากเรือประมง 450 ลำที่ได้รับการรับรองว่าปราศจาก IUU จากกรมประมงแล้วเท่านั้น และลดการใช้ปลาเป็ดจากเรือน้อยลงเหลือเพียง 10-20% หันไปใช้บายโปรดักต์จากปลาทูน่ามากขึ้น ดร.พจน์กล่าวว่า ส่วนของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเอง มีการออกระเบียบ 1 ล้ง 1 โรงงาน นั่นคือสมาชิกสมาคมจะต้องให้สัตยาบันในการควบคุมห่วงโซ่การผลิตกุ้งของตนเองให้ปราศจากการค้ามนุษย์ 100% ดังนั้นหากโรงงานใดที่ไม่มีไลน์แปรรูปกุ้งเบื้องต้น (หักหัวปอกเปลือก) ในโรงงานเอง ต้องซื้อกุ้งมาจากล้ง จะต้องดูแลแรงงานในล้งเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของโรงงาน และควรให้ล้งขายสินค้าให้กับโรงงานนั้นเพียงแห่งเดียว ซึ่งขณะนี้มีโรงงานเข้าร่วมแล้วกว่า 70 ราย และมีล้งเข้าร่วมกว่า 40 ราย หากสมาชิกใดไม่ปฏิบัติตาม สามารถลาออกจากสมาคมได้ สำหรับสินค้ากุ้ง กระแสข่าวก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากปัญหา IUU และ Tier 3 แล้ว ยังประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ระบาดมาตั้งแต่ช่วงปลายปี?54 ทำให้ปริมาณกุ้งลดฮวบจากที่เคยผลิตได้กว่า 6 แสนตัน/ปี เหลือเพียง 2.1 แสนตันในปี?57 และรายงานจากสมาคมกุ้งไทยยังระบุว่า สินค้ากุ้งถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จาก EU มาตั้งแต่ 1 ม.ค. 58 ทำให้สินค้ากุ้งสดแช่แข็งที่เคยเสียภาษี 0% เพิ่มขึ้นเป็น 12% และกุ้งแปรรูปเคยเสียภาษี 7% เพิ่มเป็น 20% ประกอบกับปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ไทยประสบความยากลำบากในการแข่งขันตลาดยุโรป การขยับตัวของภาคเอกชนในคราวนี้จึงมองได้ว่า เป็นความพยายามสร้างเกราะกำบังเพื่อปกป้องภาคประมงส่งออกล่วงหน้า โดยเฉพาะสินค้ากุ้งที่ถูกทุกปัญหาซ้ำเติม จนรอให้รัฐบาลทำความสะอาดระบบไปพร้อมกับสินค้าประมงอื่นไม่ได้อีกแล้ว แหล่งที่มาของข้อมูล : "วิกฤตประมง รอรัฐไม่ได้ ผู้ส่งออกเร่งสร้างมาตรฐานป้องกันตน.". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1434953615 |


