![]() |
ดร.เพราลัย นุชหมอน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเล กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ "การแก้ไขปัญหา IUU" ในการประชุมวิชาการประมงปี 2558 ว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ความเห็นว่าไทยมีการทำประมงเกินระดับที่เหมาะสม (Overfishing) กรมประมงจึงศึกษาจากสถิติการจับสัตว์น้ำย้อนหลังของไทยกว่า 10 ปี และจำนวนเรือประมงในปัจจุบัน พบว่าไทยมีการทำประมงโอเวอร์ฟิชชิ่งในประเภทสัตว์น้ำหน้าดินและปลาผิวน้ำ ซึ่งควรจะลดจำนวนเรือประมงลงกว่า 3,200 ลำ และลดจำนวนวันทำประมงลง 5-85 วัน/ปี แล้วแต่พื้นที่และประเภทเรือ
ด้าน ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้นำเสนอข้อมูลนี้ต่อศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ไป 1-2 ครั้งแล้ว และพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ในฐานะผู้บัญชาการศปมผ.ได้สั่งการให้กรมประมงร่วมกับกรมเจ้าท่าจัดทำข้อมูล เรือประมงที่แน่ชัดให้เรียบร้อยภายในเดือนมิ.ย.นี้ เนื่องจากกรมเจ้าท่ามีการรับขึ้นทะเบียนเรือไปกว่า 4.2 หมื่นลำ แต่กรมประมงออกใบอาชญาบัตรทำการประมงไปเพียงกว่า 3 หมื่นลำเท่านั้น ศปมผ.จึงต้องการทราบว่าเรืออีกกว่า 1.3 หมื่นลำมีสถานะอย่างไร เพื่อนำข้อมูลที่แน่ชัดมาใช้ในการหามาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงโอเวอร์ฟิช ชิ่งต่อไป กรณีการลดจำนวนเรือหรือลดจำนวนวันทำการประมง เป็นนโยบายที่ค่อนข้างแน่นอน ศปมผ.จึงสั่งการให้กรมประมงจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเข้าเสนอเพิ่มเติม ด้านการร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่หรือฉบับแก้ไข ศปมผ.กำลังเร่งรัดอย่างเต็มที่เพื่อเสนอโครงร่างให้ EU พิจารณาภายในสิ้นเดือนนี้ โดยจะต้องครอบคลุมนิยามการทำประมง IUU Fishing และการบริหารทรัพยากรทะเล ตามที่ EU ได้ให้ความเห็นไว้ แหล่งที่มาของข้อมูล : "ศปมผ.สั่งเช็คจำนวนเรือประมงใหม่ กรมประมงเสนอลดเรือ 3,200 ลำ เหตุอียูบีบโอเวอร์ฟิชชิ่ง.". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1433858410 |


