![]() |
จากกรณีสหรัฐอเมริกาเกิดโรคระบาดไข้หวัดนก ทำให้ไทยหยุดนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐตั้งแต่เดือน ม.ค. 58 กระทบต่อปริมาณไก่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) ซึ่งปกติไทยมีการนำเข้าจากสหรัฐปีละกว่า 4 แสนตัว คิดเป็น 70% ของการนำเข้าไก่ GP ทั้งหมด เมื่อไม่สามารถนำเข้าจากสหรัฐได้อาจส่งผลให้ลูกไก่เนื้อ (Broiler) ในปีหน้าลดจำนวนลง
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวถึงกรณีนี้ว่าผู้ประกอบการทุกรายรับทราบปัญหาอยู่แล้ว หากนำเข้าจากสหรัฐไม่ได้ ลูกไก่เนื้อจะลดลงในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานพอในการคิดแก้ปัญหา เบทาโกรเองมีแหล่งนำเข้าไก่พ่อแม่พันธุ์ (PS) ในทวีปอื่น เช่น ยุโรป อเมริกาใต้ มีการศึกษาวิจัยฟาร์มพ่อแม่พันธุ์อื่นไว้ แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ นายกิตติชัย ศิริมงคลเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่ากังวล บางบริษัทในสหรัฐมีแหล่งผลิตในประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งเชื่อว่ากรมปศุสัตว์จะเปิดให้นำเข้าได้เร็ว ๆ นี้ ดังนั้น จีเอฟพีทีสามารถย้ายไปนำเข้าจากอังกฤษและประเทศอื่นได้ รวมถึงสามารถยืดระยะปลดระวางไก่ GP ที่มีอยู่ออกไป จะช่วยสถานการณ์ได้ส่วนหนึ่ง สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกไก่เนื้อรายหนึ่งเปิดเผยว่า เชื่อว่าภายใน 2-3 เดือนนี้ กรมปศุสัตว์น่าจะอนุญาตให้มีการนำเข้าไก่จากประเทศอังกฤษ โดยปี 2557 ไทยเคยนำเข้าไก่ GP จากอังกฤษจำนวน 7.7 หมื่นตัว ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถทดแทนความต้องการได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ควรรอดูสถานการณ์ไปจนถึงเดือน ต.ค. 58 ก่อน ขณะนี้ยังไม่ควรตื่นตระหนกมากนัก บริษัทนำเข้าไก่ GP ของไทยมีทั้งหมด 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บจ.อาร์เบอร์เอเคอร์ส (ประเทศไทย) บจ.รอส บรีดเดอร์ส สยาม บมจ.จีเอฟพีทีเครือเซนทาโก กลุ่มบริษัทแหลมทองสหการและ บจ.สหฟาร์ม ซึ่ง 3 บริษัทแรกเท่านั้นที่นำไก่ GP มาผลิตไก่ PS เพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ จะนำเข้าไก่ GP เพื่อใช้ในสายการผลิตไก่เนื้อของตัวเอง ดังนั้น หากเกิดวิกฤตลูกไก่ขาดแคลนจริง จะกระทบต่อบริษัทที่ไม่มีไก่ GP ในสายการผลิตของตัวเองเป็นอันดับแรก แหล่งข่าวในวงการผู้เลี้ยงไก่อีกรายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้ไก่เนื้อล้นตลาดอยู่ประมาณ 4 ล้านตัว/สัปดาห์ การมีกระแสข่าวในทางกลับกันคือ ไก่กำลังจะขาดตลาด จะทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจไก่เหมือนใกล้จะกลับสู่ภาวะสมดุล และส่งผลดีต่อตลาดหุ้น แต่ที่จริงแล้วภาวะไก่ขาดตลาดที่จับตากันอยู่จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดอีก 1 ปีข้างหน้า นายประจิตต์ อุดหนุน รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา "วิกฤตการณ์ไข้หวัดนกต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อและเนื้อไก่ไทย" จัดโดยสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่15 พ.ค. 58 ว่า ปี 2557 ไทยมีการนำเข้าไก่GP จำนวน 5.6 แสนตัว แต่ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 58 ไทยมีการนำเข้าไก่ GP จำนวนน้อยมากมาจากประเทศนิวซีแลนด์ ถ้าในปีนี้ยังไม่สามารถนำเข้าไก่ GP เพิ่มได้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปริมาณลูกไก่เนื้อจะเริ่มขาดแคลนประมาณเดือน ก.ค. 59 และดิ่งเหวลงเหลือ 10 ล้านตัว/สัปดาห์ ในช่วงต้นปี 2560 จากปัจจุบันที่ผลิตลูกไก่เนื้อได้ 32 ล้านตัว/สัปดาห์ กระทบต่อการส่งออกไก่เนื้อไทยมูลค่า 7-8 หมื่นล้านบาท/ปี ไก่ GP ปกติมีคู่ค้าที่เข้าคิวตามลำดับไว้อยู่แล้ว ทำให้เป็นการยากที่ไทยจะได้มา ทุกบริษัทต้องใช้สายสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อหาทดแทนให้ได้ หากเริ่มนำเข้าช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 58 ได้ เชื่อว่าจะพ้นวิกฤตปริมาณไก่ลดในปี 2559 และช่วงนี้บริษัทต่าง ๆ น่าจะหาทางยืดระยะเวลาปลดระวางไก่ GP ที่มีอยู่ไปอีก 3 เดือน น.สพ.วัชรพงษ์ สุดดี ผู้อำนวยการส่วนโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปี 2557 ไทยมีการนำเข้าไก่ GP จำนวน 5.6 แสนตัวแบ่งสัดส่วนเป็นจากสหรัฐ 74% อังกฤษ 14% ฝรั่งเศส 6% และนิวซีแลนด์ 6% แต่ไทยได้ประกาศชะลอนำเข้าไก่จากอังกฤษมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 57 เนื่องจากพบการระบาดของไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้ประกาศเขตปลอดโรคไข้หวัดนกและยื่นจดหมายขอให้ไทยยกเลิกชะลอการนำเข้าแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 58 ซึ่งกรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการพิจารณา นอกจากนี้ มีประเทศที่ยื่นขอยกเลิกการชะลอนำเข้ามาแล้ว คือ เนเธอร์แลนด์ และมีประเทศผู้ผลิตไก่ GP และ PS อีก 5 ประเทศที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าได้ขณะนี้คือ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ โปแลนด์ และเดนมาร์ก นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ตลาดส่งออกของไทยที่หวังพลิกวิกฤตไข้หวัดนกของสหรัฐมาเป็นโอกาสนั้นมีน้อยมาก เพราะตลาดใหญ่ของสหรัฐ เช่น เม็กซิโก แคนาดา รัสเซีย ไทยแทบไม่มีการส่งออก สำหรับประเทศที่มีตลาดร่วมกัน และเป็นไปได้ที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมีเพียงญี่ปุ่น ซึ่งสหรัฐส่งออกไก่อยู่ประมาณ 2.5 หมื่นตัน ขณะที่ไทยส่งออกไปประมาณ 2 แสนตัน ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สิงคโปร์ มองว่าบราซิลที่เป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า แหล่งที่มาของข้อมูล : "เบทาโกร-GFPTไม่หวั่นหวัดนกสหรัฐ เล็งนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่เนื้อจากอังกฤษ-ฝรั่งเศส.". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1432537729 |

