เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

เรื่องร้อนสหฟาร์มถึงมือดีเอสไอ พ่อค้าข้าวโพดจี้ถอดตระกูลโชติเทวัญพ้นแผนฟื้นฟู

14 พฤษภาคม 2558
4,709
เจ้าหนี้การค้า กลุ่มพ่อค้าข้าวโพด กลุ่มสหกรณ์การเกษตรสหฟาร์ม จึ้ถอดเจ้าหนี้ตระกูล "โชติเทวัญ" ออกจากแผนฟื้นฟู พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก DSI-ศาลล้มละลายกลาง-กรมบังคับคดี สอบแผนฟื้นฟูกลุ่มสหฟาร์มส่อไม่สุจริต หลังพบมูลหนี้คนในตระกูลโชติเทวัญ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องรวมสูงถึง 5 แสนล้าน
ตลอดเส้นทางการฟื้นฟูกิจการจนถึงปัจจุบันของเครือสหฟาร์ม มีกลุ่มเจ้าหนี้ตั้งข้อสังเกตกันหลายประการ ตั้งแต่งบฯแสดงฐานะการเงินที่แนบในแผนฟื้นฟูกิจการแสดงให้เห็นว่าทั้งสหฟาร์มและโกลเด้นไลน์ฯมีปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ปี2555จนกระทั่งยื่นร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยขณะนั้นสองบริษัทมีหนี้สินรวม 25,267 ล้านบาท
ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาล มีเจ้าหนี้บางรายยื่นคัดค้านการร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่ไม่เป็นผล ศาลล้มละลายกลางได้ตัดสินให้สหฟาร์มและโกลเด้น ไลน์ฯสามารถฟื้นฟูกิจการได้ ณ วันที่ 23 ก.ค. 57 และให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทฯ หรือ EY เป็นผู้ทำแผน ซึ่ง EY ได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการแจกจ่ายแก่เจ้าหนี้ทุกรายช่วงเดือน เม.ย. 58 ผ่านไปกว่า 5 เดือน นับจากคำสั่งศาลประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาเจ้าหนี้การค้า กลุ่มพ่อค้าข้าวโพด กลุ่มสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจำนวนมากเป็นสมาชิกของกลุ่มสหฟาร์มได้เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมกับ 3 หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ศาลล้มละลายกลาง และกรมบังคับคดี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีมีการยื่นขอรับชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามแผนฟื้นฟูกิจการจากคนในตระกูลโชติเทวัญ,บริษัทสหฟาร์ม และบริษัทในเครืออย่างไม่สุจริต ก่อนจะมีนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติยอมรับหรือไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 25-26 พ.ค. 58

นายจักรพงษ์ โล่ห์คุณสมบัติ เจ้าหนี้การค้าวัตถุดิบข้าวโพด จ.ลพบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ DSI กรมบังคับคดี และศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 58 ว่า ในงบกำไรขาดทุนของบริษัท สหฟาร์ม จำกัด มีข้อพิรุธหลายประการ นั่นคือช่วงที่ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง งบกำไรขาดทุน ณ วันที่ 31 ต.ค. 58 แจ้งว่า สหฟาร์มขาดทุนสุทธิ 1,845 ล้านบาท แต่ผ่านไปเพียง 2 เดือน งบกำไรขาดทุน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นเป็น 3,875 ล้านบาท โดยรายละเอียดแจ้งว่าการขาดทุนเพิ่มขึ้นของสหฟาร์มมาจากค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,943 ล้านบาท ซึ่งมองว่าผิดปกติ เพราะในช่วงเวลานั้นสหฟาร์มได้หยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวอยู่ จากปัญหาด้านการเงิน

ดังนั้นข้อเรียกร้องของกลุ่มคือการให้ภาครัฐยื่นมือเข้าตรวจสอบความผิดปกติ และหากพบความไม่ถูกต้องขอให้ถอดรายชื่อเจ้าหนี้และยอดหนี้ที่ไม่ถูกต้องออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้หนังสือร้องเรียนยังกล่าวถึงข้อน่าสังเกตว่าบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีให้กับสหฟาร์มเป็นแห่งแรก ไม่ได้รับรองความถูกต้องของบัญชีให้ และสหฟาร์มได้เปลี่ยนบริษัทตรวจสอบบัญชีเป็นบริษัท พีวีเอ จำกัดแทน

นายศักดิ์ชัย ลาภพรศิริกุล ตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้การค้ากลุ่มผู้ค้าวัตถุดิบข้าวโพด จ.ลพบุรี และ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ความผิดปกติที่พบในแผนคือ เดิมหนี้สินรวมสองบริษัทที่แสดงในงบการเงินมีเพียงกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่จำนวนขอรับชำระหนี้รวมของสหฟาร์มและโกลเด้น ไลน์ฯกลับมีสูงถึง 557,411 ล้านบาท สูงขึ้นกว่า 20 เท่า จากหนี้สินที่แสดงในงบการเงิน และเมื่อพิจารณาในรายละเอียด ยอดขอรับชำระหนี้จำนวนมากยังเป็นของผู้บริหารบริษัทเองและบุคคลใกล้ชิดถึง 539,492 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 97%

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ยอดขอรับชำระหนี้สองบริษัทของเจ้าหนี้กลุ่มเกษตรกร 544 ราย รวมมีหนี้สินกว่า 400 ล้านบาท เจ้าหนี้แรงงานกว่า 6,000 ราย มีหนี้สิน 300 ล้านบาท และเจ้าหนี้การค้า 1,300 ราย รวมหนี้สิน 4,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ไม่ใช่ผู้บริหารบริษัทมียอดหนี้สินน้อยมากหากถึงวันที่ 25 พ.ค. 58 ที่เป็นวันนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงคะแนนว่า ยอมรับแผนฟื้นฟูย่อมเป็นเสียงส่วนน้อย ไม่สามารถออกเสียงให้มติที่ประชุมไม่ยอมรับแผนดังกล่าวได้ จึงต้องการให้หน่วยงานราชการตรวจสอบความผิดปกติ และยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้รายชื่อเจ้าหนี้และจำนวนหนี้มีความยุติธรรม

"พวกผมส่งข้าวโพดให้สหฟาร์มนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ก็ไม่ได้เงินใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องแต่ก็ไม่ได้จ่ายเงินให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เขาให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ส่งให้ เกษตรกรก็ไม่ได้เงินค่าไก่ พนักงานในโรงงานเชือดไก่ก็ไม่ได้ค่าแรง สหฟาร์มได้เงินจากการขายไก่ก็ไม่ได้จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ แล้วเงินที่ได้ไปอยู่ที่ไหน อยากให้รัฐช่วยตรวจสอบตรงนี้"

"ความกลัวของเราคือ ถ้าเขาได้บริหารแผนไปสักพักแล้วกิจการไปไม่รอด ไม่ได้กำไร ต้องขายสินทรัพย์ทอดตลาดแล้วเฉลี่ยคืนหนี้ เมื่อยอดหนี้กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้บริหารบริษัทคิดเป็นแค่ 3% แบบนี้ เราจะไม่ได้อะไรคืนเลย แต่เขาจะได้ไป 97%" นายศักดิ์ชัยกล่าว

โดยเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือร้องเรียนและจะนำเรียนต่อนางสุวณาสุวรรณจูฑะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาขอบเขตอำนาจของกรมต่อไป ส่วนนิติกรจากศาลล้มละลายกลางได้จัดทนายอาสาให้คำปรึกษาแก่เจ้าหนี้การค้าผู้ค้าวัตถุดิบข้าวโพดและแนะนำช่องทางหากต้องการฟ้องร้องสามารถยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางตามมาตรา90/80 และ 90/81 ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ว่าด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้อันเป็นเท็จ หรือการส่งเอกสารวัตถุพยานเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการอันเป็นเท็จ หรือฟ้องร้องคดีฉ้อโกงต่อศาลอาญาได้

แจงเครือข่าย "โชติเทวัญ" แปลงเป็นเจ้าหนี้กลุ่ม 8-9-10

จากการตรวจสอบบริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด ปรากฏรายชื่อผู้บริหารนั่งแท่นกรรมการบริษัท 4 ราย คือ นายปัญญา โชติเทวัญ นายวุฒิ โชติเทวัญ นายคุณภัส โชติเทวัญ และ น.ส.บุญญาลักษณ์ โชติเทวัญ แต่รายชื่อผู้บริหารบริษัททั้ง 4 รายกลับเข้าขอรับชำระหนี้ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และกลุ่มที่ 10 เจ้าหนี้ค้ำประกันของทั้งสองบริษัทด้วย

นอกจากผู้บริหารทั้ง 4 รายแล้ว ยังปรากฏรายชื่อบุคคลนามสกุลโชติเทวัญอีก 10 ราย ได้แก่ นางอัศวิน โชติเทวัญ นางมนูญศรี โชติเทวัญ นายยศพร โชติเทวัญ นายวิรัตน์ โชติเทวัญ นายก้องเทวัญ โชติเทวัญ นายสันติ โชติเทวัญ นายสิรวิชญ์ โชติเทวัญ น.ส.เสาวลักษณ์ โชติเทวัญ นายชยาพัฒน์ โชติเทวัญ และนายปิยะพันธ์ โชติเทวัญ ที่ยื่นขอรับชำระหนี้จากสหฟาร์มและโกลเด้น ไลน์ฯ ซึ่งบุคคลสกุลโชติเทวัญ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง ลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสหฟาร์มทั้งสิ้น

บริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหฟาร์มยังมีรายชื่อเข้ารับชำระหนี้ในนามบริษัทอีก 10 แห่งด้วย ได้แก่ บจ.เบส ไอคิว บจ.สยาม เวลอคซ์ โลจิสติค บจ.ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ บจ.เบสท์ชิคส์ บจ.ชิงธง บจ.ฟู้ด ฟอร์ เดอะ เวิลด์ บจ.โกลเด้น ไลน์ อินเตอร์ฟู้ด บจ.โพรเกรส อินเตอร์ฟาร์ม บจ.โชติเทวัญ และ บจ.สหโพรเซสซิ่ง ยังไม่นับ บจ.สหฟาร์มและ บจ.โกลเด้น ไลน์ฯ ที่เป็นเจ้าหนี้ไขว้ข้ามบริษัทกันเองอีกด้วย

และเมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมยังพบรายชื่ออีก 7 รายที่เป็นกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นเข้าขอรับชำระหนี้จากสหฟาร์มและโกลเด้น ไลน์ฯในฐานะบุคคลธรรมดาด้วย ได้แก่ น.ส.สาลี่ ต่อตระกูล น.ส.ชณนภัส ผลิตวานนท์ นางกมลลักษณ์ ใจงาม น.ส.มยุรี ป้อมบุปผา นายทวีศักดิ์ กิตติอุดมธรรมนางวรวรรณ พรโรจนากูร และนายวีระไม้เต็ง รวมถึงผู้บริหารระดับรองผู้จัดการอีก 2 ราย คือ นายสว่าง ธีระนิธิ และนายเกรียง ธีระนิธิ

ทั้งนี้ บางรายชื่อยังพบในรายงานข่าวที่ผ่านมาปรากฏความสัมพันธ์เป็นครอบครัวเดียวกับตระกูลโชติเทวัญ เช่น น.ส.สาลี่ ต่อตระกูล ในฐานะภรรยานายปัญญา โชติเทวัญ นางวรวรรณ พรโรจนากูร ในฐานะลูกสาวนายปัญญา โชติเทวัญ

สรุปรวมรายชื่อทั้งบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสหฟาร์มที่ขอรับชำระหนี้มีจำนวน 29 รายชื่อ รวมหนี้กว่า 5.2 แสนล้านบาท

แหล่งที่มาของข้อมูล : "เรื่องร้อน สหฟาร์ม ถึงมือดีเอสไอ พ่อค้าข้าวโพดจี้ถอดตระกูลโชติเทวัญพ้นแผนฟื้นฟู.". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1431506372