อาการของโรคแอนแทรคโนส ในมะม่วง
1. ใบอ่อนมีจุดฉ่ำน้ำ กลายเป็นแผลสีน้ำตาลดำ หากอาการรุนแรงแผลจะขยายตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกันทั้งผืนใบ ทำให้ใบบิดเบี้ยว เสียรูปทรง ยอดอ่อนเหี่ยวและดำ ส่วนใบแก่พบแผลรูปร่างค่อนข้างเหลี่ยม หากอาการรุนแรงแผลจะทะลุเป็นรู
2. อาการที่ช่อดอก พบจุดหรือขีดสีน้ำตาลแดงเล็ก ๆ บนก้านช่อดอก แผลขยายใหญ่ขึ้น หากมีความชื้นสูงจะเห็นเป็นเมือกสีส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรคอยู่ที่บริเวณแผล ทำให้ช่อดอกเหี่ยวแห้ง ดอกหลุดร่วงก่อนติดผล
3. พบจุดแผลสีน้ำตาลดำในผลอ่อน ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมผลที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำและหลุดร่วงก่อนกำหนด
4. หลังเก็บเกี่ยว จะพบจุดแผลสีดำเล็ก ๆ ต่อมาแผลขยายลุกลามและยุบตัวลง ถ้ามีหลายแผลขยายมาติดกัน ขนาดของแผลจะกว้างขึ้นและยุบตัวลง ทำให้เน่าทั้งผล
แนวทางป้องกันแก้ไขโรคแอนแทรคโนส ในมะม่วง
1. ตรวจสวนมะม่วงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
2. สวนมะม่วงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก
3. ควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป