สาเหตุของโรคตายพรายในกล้วย
"โรคตายพราย" เกิดขึ้นในกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป สาเหตุมาจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f.sp. Cubense ที่เข้าไปทำลายราก และลามไปในท่อน้ำ และท่ออาหาร ทำให้เกิดการอุดตัน จึงทำให้ใบมีอาการขาดน้ำ เหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต้นกล้วยจะหยุดการเจริญเติบโตและจะตายไปในที่สุด
อาการของโรคตายพรายในกล้วย
1. จะเห็นทางสีเหลือง 3-4 ใบและหักพับตรงโคนก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ก่อน ใบอ่อนจะมีอาการเหลืองไหม้ ใบยอดจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่แค่ช่วงแรก และก็จะตายไปเช่นเดียวกัน
2. กล้วยที่ตกเครือกล้วยแล้วจะเหี่ยว ผลเล็กไม่สมส่วน ถ้าผ่าลำต้นตามแนวขวางจะสังเกตุเห็นว่าเนื้อข้างในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง และบางครั้งอาจมีเส้นใยของเชื้อราให้เห็นบ้าง
3. ในระยะสุดท้ายจะพบว่าใบของกล้วยจะมีสีเหลือง เหี่ยวแห้งทั้งต้น และจะยืนต้นตายไปในที่สุด
วิธีป้องกันและดูแลโรคตายพรายในกล้วย
1. ในบริเวณเพาะปลูกไม่ควรมีน้ำท่วมขังเพราะจะทำให้กล้วยอ่อนแอ และเกิดโรคได้ง่าย และเพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นกล้วยที่เป็นโรคไปสู่ต้นกล้วยปกติ ควรทำให้พื้นที่เพาะปลูกระบายน้ำได้ดี
2. ต้องหมั่นสังเกตที่กอกล้วยว่ามีอาการของโรคตายพรายที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่
3. โรยปูนขาวบริเวณเพาะปลูก ทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรอยู่เสมอ เพราะเชื้อชนิดนี้ลุกลามได้ง่าย และควรทิ้งระยะพื้นที่นั้นๆ เป็นเวลา 2-3 เดือน
4. ควรทำลายต้นกล้วยที่เกิดโรคตายพรายในทันทีและห้ามขุดย้ายหน่อต้นที่เป็นโรคไปปลูกโดยเด็ดขาด