โครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ด้านแรกคือ น้ำต้นทุน ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท การเฝ้าระวังเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองและปฏิบัติการเติมน้ำ เช่น ฝนหลวง ปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดิน
ด้านที่ 2 ความต้องการใช้น้ำ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชในหน้าแล้ง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคเกษตร การเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะรับน้ำได้ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง รวมถึงแหล่งรับน้ำต่างๆ จากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและชุมชนต่างๆ
ด้านที่ 3 การบริหารจัดการ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำของแต่ละชุมชน สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์เรื่องสถานการณ์และแผนการบริหารจัดการน้ำ ติดตามประเมินการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงาน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ หรือพื้นที่เสี่ยงภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการบรรเทาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น ปรับปรุง/ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ก่อสร้างปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลและระบบประปา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้พื้นที่เสี่ยงภัยที่จะขาดแคลนน้ำ จะมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน ในการเตรียมตัวนับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ