เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ไตรมาส 3 ปีนี้ จีดีพีเกษตรหดตัวร้อยละ 1.8 เนื่องจากเหตุอากาศแปรปรวน

27 ตุลาคม 2565
680
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2565 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน) หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 หลังจากขยายตัวได้ดีในไตรมาส 1 และ 2 ที่ผ่านมา โดยขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 4.4 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้น อิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอก
GDP เกษตร 2
ขณะที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติสะสมอยู่มาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตสินค้าเกษตรและผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมการผลิต การค้า การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว กลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่และดูแลเอาใจใส่ดีขึ้น


นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และการขยายช่องทางการตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้นแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2564 จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศโดยทั่วไปที่ยังคงเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี ในการผลิต ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้มีการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจจะต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2566 ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและอาหารสัตว์ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์