เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

เตือนภัย! โรคเหี่ยวเขียวในมะเขือเทศ

20 กันยายน 2565
5,198
ในอาทิตย์นี้เราจะมาเตือนภัยโรค "เหี่ยวเขียว" โรคพืชสุดร้ายแรงของ "มะเขือเทศ" ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศเฝ้าระวังกัน
โรคเหี่ยวเขียวมะเขือเทศ

สาเหตุของโรคเหี่ยวเขียวและในมะเขือเทศ

สาเหตุของโรคเหี่ยวเขียวในมะเขือเทศเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ที่มาพร้อมกับสภาพอากาศชื้น และระบาดหนักในพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตผลผลิตของมะเขือเทศ


อาการของโรคเหี่ยวเขียวในมะเขือเทศ

-เริ่มแรกใบล่างของมะเขือเทศจะเหี่ยวและลู่ลง ใบแก่ด้านล่างมีอาการเหลือง และใบที่เหี่ยวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

-ในระยะแรกจะแสดงอาการเหี่ยวเฉพาะในตอนกลางวันที่มีอากาศร้อนจัด ต่อมาอาการเหี่ยวจะนานขึ้นจนกระทั่งเหี่ยวทั้งวัน

-อาการจะลามขึ้นไปยังส่วนยอดของมะเขือเทศ ขอบใบม้วนลงด้านล่าง เมื่อถอนต้นขึ้นมาจะพบว่ารากมีอาการเน่า และถ้าตัดลำต้นตามขวางแล้วนำไปแช่น้ำสะอาด ภายใน 5-10 นาทีจะมีเมือกสีขาวขุ่น ไหลออกมาตามรอยตัดเป็นสายละลายปนกับน้ำ

-เมื่ออาการรุนแรงจะพบภายในลำต้นกลวง เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลายโดยเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum สาเหตุของโรคเหี่ยวเขียว และมะเขือเทศจะตายในที่สุด
.

วิธีป้องกันโรคเหี่ยวเขียว

-หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบมะเขือเทศที่แสดงอาการของโรคเหี่ยวเขียวให้นำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที

-เลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคเหี่ยวเขียวนี้มาก่อน และต้องมีการระบายน้ำที่ดี

-ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 ซม. จากผิวดินและตากดินไว้นานกว่า 2 อาทิตย์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคในดินลงได้มาก

-ปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไป

-ไม่ควรปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยวเขียว เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ พริก และถั่วลิสง บริเวณใกล้แปลงปลูกมะเขือเทศที่เป็นโรค
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมวิชาการเกษตร