ลักษณะของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย
"เพลี้ยจักจั่นฝ้าย" ตัวเต็มวัยมีลักษณะรูปร่างยาวรี มีขนาดตัวประมาณ 2.3-3 มิลลิเมตร ปีกยาวและบาง โดยลักษณะเด่นของเพลี้ยจักจั่นจะอยู่ตรงกลางปีกที่จะมีจุดสีดำ และการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วทั้งกระโดด และบิน ลักษณะของตัวอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกับตัวเต็มวัย
ลักษณะของกระเจี๊ยบแดงเมื่อถูกทำลายด้วยเพลี้ยจักจั่นฝ้าย
- ตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ตามเส้นใบ หรือก้านใบ ลักษณะของไข่จะมีสีเขียวและโค้งงอ
- เพลี้ยจักจั่นฝ้ายจะเข้าทำลายต้นกระเจี๊ยบแดงตั้งแต่ต้นยังเล็ก ทำให้ต้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้
- ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยจักจั่นฝ้ายจะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงของใบ ทำให้ใบเป็นสีน้ำตาลและมีลักษณะงอ เหี่ยว และแห้งกรอบไปในที่สุด
วิธีป้องกันเพลี้ยจักจั่นฝ้าย
- สำรวจแปลง สวนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- หากพบการทำลาย หรือไข่ ให้ทำลายเพื่อลดการระบาด
- หากพบแมลงที่ต้องสงสัย ให้รีบกำจัดทันทีเพื่อลดจำนวนและโอกาสในการวางไข่ หรือปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่นฝ้ายกำจัด เช่น แตนเบียนไข่ แมลงช้างปีกใส แมงมุม เป็นต้น
อากาศร้อน ๆ แบบนี้ ได้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบสักแก้วแก้กระหายก็คงจะดีไม่น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรท่านใดที่ปลูกต้นกระเจี๊ยบแดงอยู่ ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตของตัวเองนำมาทำน้ำกระเจี๊ยบดื่มเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเองสักหน่อย แต่ก็อย่าลืมดูแลสวนของตัวเองให้ปลอดภัยจาก "เพลี้ยจักจั่นฝ้าย" ด้วยนะครับ