เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ทุเรียนไทย-มาเลเซีย ใครฟอร์มดีในตลาดจีน

31 ธันวาคม 2563
1,763
จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนไปยัง 48 ประเทศทั่วโลก ปริมาณรวม 490 ล้านกิโลกรัม ซึ่งในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นการส่งออกไปยังตลาดจีน ปริมาณมากถึง 343 กิโลกรัม
ความต้องการบริโภคทุเรียนของประชาชนชาวจีนกว่า 1,300 ล้านคนเพิ่มขึ้นทุกปี จนทำให้รัฐบาลจีนและไทยต้องมีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยการนำเข้า-ส่งออก โดยอนุญาตให้ไทยสามารถส่งทุเรียนสด (เปลือก) ไปยังประเทศจีนได้ เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนนิยมทุเรียนไทยเพราะทั้งมีรสชาติดีและราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับทุเรียนจากประเทศอื่น

ด้วยจุดแข็งนี้จึงทำให้ทุเรียนไทยสามารถแซงทุเรียนจากประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศถิ่นกำเนิดทุเรียนได้สำเร็จ โดยในปี 2562 ไทยสามารถส่งออกได้ปริมาณ 518,424 ตัน เพิ่มขึ้น 5.27% มูลค่า 983 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.98% ซึ่งเป็นการส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 และแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ยังมีการคาดการณ์ว่าปี 2563 จะสามารถส่งออกได้ 637,272 ตัน มูลค่า 1,424 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกทุเรียนไทยยังไม่สามารถประมาทผู้ส่งออกทุเรียนจากมาเลเซียได้ ด้วยเหตุที่ทุเรียนของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน และที่สำคัญปัจจุบันมาเลเซียมีการพัฒนานวัตกรรมและการเก็บรักษาจนกระทั่งสามารถส่งออกได้ไม่แพ้ไทย ทั้งยังได้มีการลงนามพิธีสารของการบริหารทั่วไปของศุลกากรของจีนและกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ในการตรวจสอบและกักกันทุเรียนแช่แข็งมาเลเซียเพื่อส่งเข้าตลาดจีน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2561

ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ประเทศจีน ได้จัดทำรายงานเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของทุเรียนมาเลเซียและไทยว่า มาเลเซียมีจุดแข็งจากการที่มีจำนวนพันธุ์ทุเรียนมากกว่า 200 สายพันธุ์ มีความหอมกว่าทุเรียนไทย เก็บผลสุกงอมและปลอดภัยจากสารเคมี แต่ต้นทุนขนส่งค่อนข้างสูง เก็บรักษาได้ไม่นาน ราคาสูง สีเข้ม และลูกเล็ก

ขณะที่ทุเรียนไทยมีรสชาติหวานละมุน ราคาถูกกว่า สีเหลืองสวยงาม เปลือกบาง เนื้อแน่น เม็ดเล็ก ต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าด้วย สามารถขนส่งผ่านทางเส้นทางหมายเลข 9 และ R3A นอกจากจะขนส่งผ่านทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือกวางโจว และจากท่าเรือแหลมฉบังไปสู่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ส่วนข้อเสียคือ สายพันธุ์อาจจะมีจำนวนไม่มาก การเก็บผลผลิตตอนเริ่มสุก 70% และใช้สารเอทิลีนเพื่อควบคุมการสุกและทำให้รสชาติดีขึ้น

สำหรับผู้ส่งออกไทยที่ยังมองว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจและที่ต้องการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน จะต้องขออนุญาตส่งออกกับกระทรวงพาณิชย์ก่อน จากนั้นจะต้องยื่นเอกสารใบรับรองปลอดโรคพืชจากกรมวิชาการเกษตร และเตรียมเอกสารเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของหน่วยงานจีน ชื่อ "AQSIQ"

ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้าของจีนต้องมีการเอกสารใบอนุญาตการเป็นผู้นำเข้าด้วย ซึ่งกระบวนการผ่านพิธีศุลกากรนั้น ทางผู้ส่งออกอาจจะเลือกใช้บริษัทชิ้ปปิ้งที่น่าเชื่อถือได้ โดยผ่านสมาคมชิ้ปปิ้งแห่งประเทศไทยได้

ทั้งนี้หากไทยสามารถขยายการส่งออกทุเรียนไปจีนได้ ไม่ใช่เพียงช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสทำกำไรจากรายได้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเกษตรกรหลายพื้นที่หันมาปลูกทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากขึ้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
BANGKOKBANK SME