เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ไทยระวังเสียแชมป์ ทุเรียนมาเลย์ส่งจีนกำลังปัง

13 ตุลาคม 2563
1,594
จับตาทุเรียนไทย "หมอนทอง" ปะทะ "มูซานคิง" ทุเรียนมาเลย์ฯม้ามืดมาแรง ที่ไทยต้องระวังไม่เช่นนั้นอาจพลาดเสียแชมป์ส่งออก ขณะที่เวียดนาม-ฟิลิปปินส์รุกตลาดจีนเช่นกัน
ณ วันนี้ "ทุเรียนมาเลย์" เป็นคู่ปรับรายใหญ่บนสังเวียนการค้า หลายคนอาจมองว่าเป็น "มวยคนละชั้น" แต่ดูเหมือนมาเลเซียมีทีท่าพร้อมจะ "ขึ้นชกข้ามรุ่น" ที่ผ่านมา มาเลเซียได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการประชาสัมพันธ์เพื่อตอกย้ำกระแสทุเรียนมาเลย์ให้เป็นที่รู้จักมักคุ้นของหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มาเลเซียปลุกกระแสความนิยมทุเรียนมาเลย์ในตลาดจีนอีกระลอก ด้วยการขนทุเรียนพันธุ์ Musang King และเนื้อทุเรียนรวมกว่า 1,000 ตันเข้าร่วม "เทศกาลทุเรียนมาเลเซีย 2020" ที่จัดขึ้นพร้อมกันบริเวณหน้าห้าง Hangyang City ในนครหนานหนิง และที่เมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจและสังคมแบบดุลยภาพใหม่ (New Normal) การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของภาคธุรกิจ ทั้งการทำตลาดออฟไลน์+ออนไลน์ การทำโฆษณาผ่านสื่อหลายช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะบัญชีทางการของวีแชท (Wechat Official Account) สื่อแนวใหม่ หน้าแรกบนเว็บไซต์ e-Commerce รายใหญ่ และแพลตฟอร์มไลฟ์สด (Live Streaming) โดยเครื่องมือทางการตลาดที่กำลังมาแรงที่สุด ได้แก่ นักไลฟ์สดตัวท็อป (Key Opinion Leader-KOL) และกิจกรรมที่ถูกจริตผู้บริโภคชาวจีน เช่น ชิมฟรี ชิงฟรี และเปิดประมูลทุเรียนเริ่มต้นที่ 1 หยวน ทำให้ทุเรียนมาเลย์กลายเป็นกระแสดังติดตลาดจีน ทำยอดขายทุเรียนภายในงานได้ 3.4 แสนลูก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 70 ล้านหยวน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยนั่งเก้าอี้ผู้ส่งออกทุเรียนสดรายใหญ่ที่สุดในตลาดจีนมาโดยตลอด โดยตลาดนำเข้าหลักอยู่ที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลกวางตุ้ง แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า เทรนด์การบริโภคทุเรียนในจีนกำลังเปลี่ยนไป ทุเรียนหมอนทองอาจไม่ใช่ตัวเลือกเดียวในใจผู้บริโภคชาวจีนอีกต่อไป มาเลเซียกำลังระดมกำลังเพื่อส่งทุเรียนพันธุ์อื่นบุกตลาดจีน โดยเฉพาะพันธุ์ Musang King หรือที่ชาวจีนเรียกว่า "มาวซานหวัง" ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "Hermes แห่งวงการทุเรียน"

จากข้อมูลพบว่า 5 ปีมานี้ ราคาขายทุเรียน Musang King พุ่งขึ้นกว่า 3 เท่า การที่จีนเปิดตลาดทุเรียนสดแช่แข็งทั้งลูกให้กับมาเลเซีย ส่งผลให้ราคาทุเรียนมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้ว เดิมทีราคารับซื้อทุเรียนในฤดูที่หน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-10 ริงกิต ในปีนี้ ราคารับซื้อดีดตัวพุ่งไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 ริงกิต ซึ่งทุเรียนพันธุ์ที่มีการวางตำแหน่งทางการตลาดระดับพรีเมียมอย่างพันธุ์ Musang King (D197) พันธุ์ Ochee (D200) และพันธุ์ Sultan (D24) ถูกกว้านซื้อไปจนหมดเกลี้ยง

หมอนทอง ปะทะ มูซังคิง ศึกนี้ใครรุ่งใครร่วง หลายปีมานี้ ทุเรียน Musang King เป็น "คำค้นหายอดฮิต" บนแพลตฟอร์ม e-Commerce ตามคำบอกเล่าของคุณซือ หาว (Si Hao/??) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหาร พืชผัก ผลไม้ และของเย็นของ T-mall กล่าวคือ "ทุเรียน" เป็นสินค้ายอดนิยมในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย สะท้อนให้เห็นว่า นักช้อปออนไลน์มีความสนใจในตัวสินค้า hi-end และสินค้าที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการซื้อ นอกจากนี้ ทุเรียนยังเป็นสินค้าที่มีอัตราการออกอากาศสูง ในการไลฟ์สดขายสินค้าของนักไลฟ์มืออาชีพ

จากคำยืนยันของคุณซือฯ ชี้ว่า ที่ผ่านมา ผู้ค้าทุเรียนใน T-mall ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง (มากกว่า 80% ในตลาดจีน) และชะนีของไทย คำสั่งซื้อค่อนข้างเยอะจนบางครั้งถึงกับสินค้าขาดตลาด แต่หลังจากที่ทุเรียนมาเลเซียเริ่มเข้ามาบนตลาดออนไลน์ ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องฤดูกาลทุเรียนโดยการใช้เทคนิคการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวที่ช่วยยืดอายุทุเรียนจาก 5 วันเป็น 18 เดือน โดยทุเรียนไม่สูญเสียกลิ่นและรสชาติดั้งเดิม (แต่กระบวนดังกล่าวจำเป็นต้องมีห่วงโซ่ความเย็นและเงื่อนไขด้านการเก็บรักษาที่ดี ทั้งสถานที่เก็บรักษาและอุปกรณ์ทำความเย็น) ทำให้การทำธุรกิจทุเรียนออนไลน์โตขึ้นเกือบ 100% และตลาดเมืองรองมีแนวโน้มขยายตัวสูงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมืองระดับ 4 ลงไปมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 210%

แม้ขณะนี้มาเลเซียจะมีผลผลิตทุเรียนน้อยกว่าประเทศไทย แต่เศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น พฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่นิยมบริโภคทุเรียนแบบสุกแล้วมากกว่าที่จะรอให้สุกหรือเพิ่งสุกแบบทุเรียนไทย รวมทั้งความโดดเด่นด้านรสชาติหวานปนขม ลักษณะเนื้อทุเรียนสีเหลืองทองที่เป็นเนื้อครีมละมุน และกลิ่นที่ค่อนข้างแรง ทำให้ทุเรียนมาเลเซียตอบโจทย์ชาวจีนที่พร้อมควักกระเป๋าจ่ายเพื่อแลกกับของดีมีคุณภาพ

หากทุกภาคส่วนของไทยยังคงนิ่งนอนใจ และไม่เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งของสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว สินค้าเกษตรไทยก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งได้ในไม่ช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อรุกตลาดจีน (รุกก่อนย่อมได้เปรียบ) ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ต้องการสินค้าคุณภาพและมีความแปลกใหม่เหนือสินค้าท้องถิ่น เพื่อตอกย้ำคุณภาพ Made in Thailand

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
thaibizchina.com