เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ชาวสวนแห่โค่นยาง-ปาล์ม หันปลูก กาแฟ

08 พฤศจิกายน 2562
1,137
ชาวสวนแห่โค่นยางพารา-ปาล์มน้ำมันทิ้ง หันปลูกกาแฟ หลังยอดการบริโภคกาแฟเติบโตสูงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี แถมเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะยะลาพัฒนา หันนำพันธุ์อราบิก้าที่ปลูกได้ในภาคเหนือมาปลููกที่ภาคใต้
นายนัด ดวงใส เจ้าของไร่กาแฟ และรองประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดกาแฟไทยมีการขยายตัวทั้งสายพันธุ์อราบิก้าและโรบัสต้า ซึ่งเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกทั้งภาคเหนือและภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้เกษตรกรหลายรายโค่นยางพารา ปาล์มน้ำมันทิ้ง แล้วหันมาปลูกกาแฟแทน ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ รวมไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หันมาศึกษาดูงานกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์กาแฟ จ.ชุมพร เนื่องจากการบริโภคกาแฟมีทิศทางการเติบโตสูง จากปี 2559/2560 มีตัวเลขใช้ในการบริโภคเฉลี่ยกว่า 80,000 ตัน/ปี เมื่อปี 2560/2561 เพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ตัน/ปี และในปี 2561/2562 ภาพรวมน่าจะไม่ต่ำกว่า 90,000 ตัน

"แม้ว่าจะสามารถปลูกกาแฟไทยเพิ่มได้เพราะมีตลาดผู้บริโภครองรับ แต่ก็มีประเด็นกาแฟนำเข้าที่น่าจับตามอง ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้จนถึงเดือนมีนาคม 2563 จะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟไทยปี 2562/2563 ราคาผลผลิตน่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 อยู่ที่ 67-68 บาท/กก. และราคาสูงสุดอยู่ที่ 70 บาท/กก. ขณะที่ราคากาแฟจากต่างประเทศอย่างเวียดนาม สปป.ลาว จะต่ำกว่าไทยอยู่ประมาณ 10 บาท/กก. เพราะต้นทุนการผลิตกับอัตราค่าแรงงานต่ำ พื้นที่ปลูกก็อุดมสมบูรณ์แตกต่างจากไทยที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่าถึง 80% บริษัทผู้นำเข้าจะได้ส่วนต่างประมาณ 5 บาท/กก. อาจจะเกิดผลกระทบต่อตลาดกาแฟไทย"

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.5) เปิดเผยว่า ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 180,000 ไร่ ใน จ.ชุมพร ประมาณ 120,000 ไร่ จ.ระนอง 50,000 ไร่ นอกจากนั้นกระจายตัว 10-20 ไร่ และรายเล็กปลูกกาแฟแบบสวนผสม ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะ อ.ธารโต อ.เบตง จ.ยะลา เคยเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า เริ่มส่งเสริมการปลูกพันธุ์อราบิก้าที่นิยมปลูกในภาคเหนือ เพราะเป็นพื้นที่สูงและมีความเหมาะสมสามารถให้ผลผลิตได้

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
ประชาชาติธุรกิจ