ทั้งนี้ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 5 ปีแรก หลังจากกฎหมายมีการบังคับใช้ กำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถปลูกกัญชา และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาขาย ได้แก่ 1.หน่วยงานของรัฐ อาทิ มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลรัฐ และเกษตรกรรมเพื่อทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม 2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน และวิจัยทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ 3.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น 4.ผู้ขออนุญาตอื่นๆตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
สำหรับการแจ้งครอบครองกัญชาของผู้ป่วยที่มีกัญชาครอบครองเพื่อการรักษาอยู่แล้ว ก่อน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 บังคับใช้นั้น ผู้ป่วยหรือผู้แทนจะต้องมาแจ้งการมีไว้ในครอบครองหลัง พ.ร.บ.บังคับใช้ ภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยแจ้งได้ตามที่อยู่อาศัย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต่างจังหวัด แจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
ขณะที่สิ่งที่ต้องเตรียม ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารแจ้งการมีกัญชา เอกสารใบรับรองแพทย์ ที่ระบุโรค อาการของโรค ชื่อผู้ป่วย ชื่อแพทย์ และเลขที่ใบประกอบของแพทย์ โดยผู้ที่แจ้งครอบครองกัญชาจะต้องนำกัญชาที่ใช้ในการรักษาไปด้วย ซึ่ง หากปริมาณเยอะมากเกิน ก็สามารถใช้รูปถ่ายแทนได้
ทั้งนี้ นอกจากผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในการรักษาแล้ว ผู้ที่สามารถครอบครองกัญชาได้ ยังประกอบด้วย หน่วยงานของรัฐบาล มหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีการวิจัยเรื่องกัญชา ผู้ประกอบวิชาชีพ วิสาหกิจชุมชน ขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ บุคคลอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยบุคคลเหล่านี้ต้องมาแจ้งขอครอบครองกัญชาที่ อย.ก่อน ส่วนใครที่สนใจเรื่องดังกล่าว สามารถโทร.สายด่วน อย.1556 กด 3 ในวันและเวลาราชการ.