เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ลุยตรวจสอบโรงงานนำเข้ามะพร้าว 10 ราย ไม่ส่งข้อมูลการใช้ อาจเอามาขายต่อ

10 ตุลาคม 2561
2,800
กรมการค้าต่างประเทศ เตรียมลุยตรวจสอบโรงงานนำเข้ามะพร้าว 10 ราย หลังไม่ส่งข้อมูลการใช้มาให้ตามปกติ อาจนำเข้าแล้วไม่ได้ใช้จริง แต่ส่งไปขายต่ออีกทอด ชี้เป็นอีกตัวการทำราคามะพร้าวไทยดิ่งเหว...
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2561 นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กรมฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวของผู้ขออนุญาตนำเข้าเพื่อนำไปใช้อุตสาหกรรม เช่น กะทิสำเร็จรูป อาหาร ซึ่งนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ว่านำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ เพราะในการขออนุญาตนำเข้า กำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องนำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาต ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน หากตรวจพบไม่ใช้ตามวัตถุประสงค์ อาจไม่พิจารณาออกหนังสือรับรองการนำเข้าในครั้งต่อไป โดยการตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่พบว่า ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากมีการนำเข้าแล้วไม่ใช้ตามวัตถุประสงค์ แต่นำไปจำหน่าย จ่าย โอน ให้ผู้อื่น

"ตามกฎหมายที่กรมฯ มีอยู่ ในการขออนุญาตนำเข้ามะพร้าว ผู้ขออนุญาตนำเข้า ต้องส่งข้อมูลปริมาณการนำเข้า วัตถุประสงค์การนำเข้า เป็นต้น มาให้กรมฯ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อกำกับดูแลการนำเข้าให้มีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ขออนุญาตทั้งหมด 29 ราย ทุกรายให้ส่งข้อมูลมาให้ตามปกติ ยกเว้น 10 รายที่นิ่งเฉย และไม่ชี้แจงใดๆ ซึ่งกรมฯ จะไปตรวจสอบโรงงานของทั้ง 10 รายในเร็วๆ นี้" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสข่าวว่ามะพร้าวในประเทศราคาตกต่ำเกิดจากการอนุญาตให้นำเข้าปริมาณมากนั้น ยืนยันว่า การนำเข้าเป็นไปตามพันธกรณีของไทยที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และอาฟตา โดยในส่วนของดับบลิวทีโอ ไทยผูกพันนำเข้าในโควตาที่ 2,317 ตัน ภาษี 20% กำหนดเวลานำเข้าช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. และเดือน พ.ย.-ธ.ค. และนอกโควตาภาษี 54% ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า ส่วนอาฟตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ แต่กำหนดเวลานำเข้า เช่นเดียวกับดับบลิวทีโอ

นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 61 นำเข้ารวม 195,303.75 ตัน ลดลง 27.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1,696.92 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้าภายใต้อาฟตา 167,723.31 ตัน มูลค่า 1,495.61 ล้านบาท นำเข้านอกโควตาดับบลิวทีโอ 27,580.48 ตัน มูลค่า 201.31 ล้านบาท ส่วนในปี 60 ที่มีการนำเข้า ถึง 420,971 ตันเพราะ ปี 60 ไทยมีโรคระบาดหนอนหัวดำในมะพร้าว ทำให้ผลผลิตเสียหาย จึงต้องนำเข้าเพิ่ม แต่พอปี 61 โรคหนอนหัวดำแก้ไขได้ มะพร้าวในประเทศให้ผลผลิตได้แล้ว การนำเข้าจึงลดลง

"ขอชี้แจงอีกครั้งว่า การนำเข้าไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้มะพร้าวราคาตกต่ำ เพราะในช่วง 8 เดือนการนำเข้าลดลง ขณะที่โรคระบาดในปีนี้แก้ไขได้แล้ว ผลผลิตในประเทศมีมากขึ้น ที่จริงราคาในประเทศควรขยับขึ้นด้วยซ้ำ แต่ราคากลับตกต่ำลงมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการลักลอบนำเข้าในปริมาณมาก และมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยอาจมีการจำหน่าย จ่าย โอนให้ผู้อื่น ซึ่งกรมฯ จะตรวจสอบโรงงานอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องลักลอบนำเข้า ต้องขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจสอบให้มากขึ้น" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะต้องพิจารณา ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 18 ต.ค.นี้ โดยเห็นว่ามาตรการใช้แก้ปัญหาได้ทันที เช่น มาตรการสุขอนามัยพืช (เอสพีเอส) เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช และโรคพืช หรือการกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าวในประเทศตามสัดส่วนการนำเข้า

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ส่วนการใช้มาตรการเซฟการ์ด กรมฯ มี พ.ร.บ.ปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ที่จะใช้ดูแลสินค้าที่ทะลักเข้ามาได้ แต่ก็มีขั้นตอนดำเนินการนานถึง 1 ปี และไม่เหมาะสมจะใช้กับสินค้าเกษตร ที่เน่าเสียได้ จึงควรใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ (สเปเชียล เซฟการ์ด) สำหรับสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ไทยจึงไม่สามารถใช้มาตรการสเปเชียล เซฟการ์ดได้.
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"ลุยตรวจสอบโรงงานนำเข้ามะพร้าว 10 ราย ไม่ส่งข้อมูลการใช้ อาจเอามาขายต่อ". (09-10-2561).
ไทยรัฐ.: สืบค้นเมื่อ 10-10-2561, เข้าถึงได้จาก : https://www.thairath.co.th