เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

กระทรวงเกษตรอัดงบ 3 พันล้าน คุมเข้มนำเข้า-ใช้สารเคมีอันตรายในผัก-หมูู

24 มีนาคม 2560
2,104
"ชุติมา" อัดงบ 3 พันล้าน ลุยตรวจถี่ผัก-พืช-หมู-ไก่ หลังยังพบสารพิษเกินมาตรฐาน7%-คอกาแฟสะดุ้งเก็บรักษาไม่ดีพบสารก่อมะเร็ง
น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2560 กระทรวงเกษตรฯได้ติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างและปนเปื้องในสัตว์และพืช จำนวน 130,000 ตัวอย่าง เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ภายใต้งบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการตรวจและเฝ้าระวังสารตกค้างและปนเปื้อนประมาณ 110,000 ตัวอย่าง ที่ได้มีการตรวจพบสารปนเปื้อนหรือสารเคมีเกินมาตรฐานประมาณ 7% ซึ่งการตรวจสอบและเฝ้าระวัง แบ่งเป็นตรวจสอบพืช 20,000 ตัวอย่าง ปศุสัตว์จำนวน 30,000 ตัวอย่าง และประมง 80,000 ตัวอย่าง เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร ตามนโยบายปี 2560 ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน

ดังนั้นเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ระหว่างวันที่ 1-7 เม.ย.นี้ กระทรวงเกษตรฯจะออกสุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยต้องเฉลิมฉลอง หากมีสารเคมีปนเปื้อนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยและนักท่องเที่ยวได้

"หน่วยงานของกระทรวงเกษตร ต้องเร่งสุ่มตรวจการใช้สารเคมีเกินมาตรฐาน หรือการตกค้างของสารเคมีที่จะนำมาบริโภค ที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้โภค จึงมีการสุ่มตรวจตัวอย่าง พืช สินค้าประมง ปศุสัตว์ อาทิ หมู ไก่ พริก มะเขือเทศ ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่ กาแฟ ที่คนไทยจำนวนมากกำลังนิยมบริโภค ก็มีการตรวจพบว่ามีสารก่อมะเร็งตกค้างอยู่จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บรักษาในที่ที่มีความชื้น หรือวิธีการใช้ไม่ถูกต้อง โดยหลายคนเอาช้อนที่เปียกน้ำลงไปตักผงกาแฟเพื่อมาชง ส่งผลให้เกิดความชื้น และที่สุดก็ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง ที่คนไทยมองข้าม"

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์การยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน คือ การจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ที่ยกร่างเสร็จแล้วจะมีการประกาศใช้ช่วงเดือน เม.ย.60 หลังจากเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และจัดทำแผนปฏิบัติการ ปี 2561 รวมทั้งเตรียม งบปี 2562 และ 2) การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ประกอบด้วย 1.ข้าว จะมีสร้างชุมชนต้นแบบข้าวอินทรีย์ 10 แห่ง และสนับสนุน ศพก. ในพื้นที่ให้ทำ ข้าวอินทรีย์โดยการดำเนินการส่งเสริมในลักษณะกลุ่มครบวงจรทั้งผลิต-แปรรูป-บรรจุภัณฑ์-ฉลาก จับคู่ให้กลุ่มเดิมดูแลกลุ่มใหม่ เป้าหมาย 100 กลุ่ม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายอินทรีย์ พร้อมขับเคลื่อนข้าวอินทรีย์แปลงใหญ่ 4 แปลง ที่ จ. ยโสธร และ พืชหลังนา ปศุสัตว์ ประมง เน้นพื้นที่เกษตรอินทรีย์เดิม โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ฟาร์มสาธิตเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งให้ความรู้และสนับสนุนปัจจัยแรกเริ่มในกรณีของปศุสัตว์และประมง ผ่านศูนย์ฯ เป้าหมายรวม 34 แห่ง และสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ใน ศพก. ที่มีอยู่ 38 แห่ง สร้างชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ พืชอื่น 7 แห่ง และกลไกและสถาบันเกษตรอินทรีย์จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสถาบันกลางเกษตรอินทรีย์ในปีงบประมาณ 2561 รวมถึงโครงการรับรองสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ในเดือน เม.ย. จะมีการออกหลักเกณฑ์การรับรองสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ และตรวจสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ จำนวน 10 แห่ง

นอกจากนี้จะขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีให้มีประสิทธิภาพ ดำเนินการใน 5 เรื่อง คือ 1.การควบคุมการนำเข้าสารเคมี ในบัญชีเฝ้าระวัง กำหนดหลักเกณฑ์/เงื่อนไขการนำเข้าสารเคมีในบัญชี 3 และ 2 ในเดือน เม.ย.60 เสนอเข้า คกก.วัตถุอันตราย 2.การกำกับร้านค้าให้ได้มาตรฐาน โดยตรวจร้านค้าปัจจัยการผลิตประเภทต่างๆ 24,370 ร้าน สอดส่องรถเร่และการขายยาหลังร้าน เพิ่มสารวัตรเกษตรอาสา (หมอดิน) เพื่อให้เกษตรกรให้เบาะแส และบูรณาการกับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ยกระดับร้านจำหน่ายสารเคมีเกษตรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน (Q Shop) 3,000 ร้าน

3.การถ่ายทอดความรู้ด้านสารเคมีเกษตรไม่น้อยกว่า 20,000 รายโดยใช้กลไก ศพก./Smart Box และ Q Shop เน้นสารเคมีเฝ้าระวัง สารเคมีที่นิยมใช้แพร่หลายและสารเคมีที่มีความเสี่ยงในการใช้ผิด 4.สนับสนุนเกษตรกรให้รู้วิธีป้องกัน/กำจัดศัตรูพืชทันท่วงทีเตือนภัยการระบาดโรค แมลงศัตรูพืชทุกสัปดาห์อย่างทันท่วงที ผ่าน ศพก. 882 แห่ง 5.เฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในสินค้ามาตรฐานและสินค้าทั่วไป

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"กระทรวงเกษตรอัดงบ 3 พันล้าน คุมเข้มนำเข้า-ใช้สารเคมีอันตรายในผัก-หมูู". (23-03-2560). ประชาชาติธุรกิจ.:
สืบค้นเมื่อ 24-03-2560, เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1490258041