22 ม.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าการประมูลขายยางพาราในสต็อกรัฐ จำนวน 3.1 แสนตัน จาก2 โครงการแทรกแซงราคายาง ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ซื้อในราคา 112 -120 บาทต่อกก.จำนวน เกือบ 2 แสนตัน และในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับซื้อพยุงราคา 60 ต่อกก.ในโครงการมูลภัณฑ์กันชน อีก 1 แสนกว่าตัน ซึ่งขณะนี้กยท.ได้เปิดประมูลขายไปแล้วกว่า 9 หมื่นตัน เฉลี่ยราคาขายกิโลกกรัม 68 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยางในโกดังภาคใต้ โดยจะเดินหน้าประมูลขายให้หมดภายในเดือนมี.ค.นี้ โดยการประมูลขายตามสภาพยางถ้ายางในโครงการใหม่ราคาก็จะสูงกว่านี้จะทำให้ขาดทุนน้อยลง ประกอบกับภาคใต้ประสบอุทกภัยกรีดยางไม่ได้ด้วยส่งผลให้ราคายางขยับขึ้นต่อเนื่องล่าสุดราคายาง 80 บาทต่อกก.แล้ว
ผู้ว่าฯกยท.กล่าวอีกว่ายังได้หารือกับบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ หรือ IRCO เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค RRM ให้เป็นตลาดมาตรฐานระดับภูมิภาคอาเซียน สามารถซื้อขายและส่งมอบจริงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายยางที่เป็นสมาชิกในตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค ที่ผ่านมา สินค้าในตลาดนี้จะเป็นยางแท่งมาตรฐาน STR 20 และยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 มาตรฐานกรีนบุ๊ค RSS 3 เท่านั้น แต่เพื่อให้มีการขับเคลื่อนตลาด RRM จึงมองเห็นว่า น้ำยางข้น เป็นผลผลิตที่เป็นที่นิยมในภูมิภาคนี้ ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำยางข้นหลักของโลก รองลงมาจากยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ล่าสุด ในปี 2016 ประเทศไทยส่งออกน้ำยางข้นประมาณ 559.6 พันตัน ในขณะที่มาเลเซีย 22.1 พันตัน และอินโดนีเซีย 4.2 พันตัน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการซื้อขายน้ำยางข้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย และอุตสาหกรรมน้ำยางพาราของประเทศสมาชิก