คุณหนึ่งฤทัย แพรสีทอง เจ้าของร้านเกด-หนึ่ง ตลาดไท รับซื้อและส่งเสริมลูกไร่ปลูกมะละกอ อีกทั้งยังทำสวนเอง เพื่อส่งผลผลิตป้อนแผงของตัวเอง โดยมีแปลงมะละกอที่ จ.นครพนม และ ที่ จ.นครราชสีมา แปลงลูกไร่ กระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั้ง ชุมพร นครสวรรค์ สระแก้ว กาญจนบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า "สถานการณ์ด้านตลาดของมะละกอในช่วงนี้มีผลผลิตน้อยกว่าทุกปี เนื่องจากมะละกอที่จะเก็บได้ในช่วง ส.ค.-ต.ค. จะต้องเป็นมะละกอที่ต้องออกดอกในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อนและปีนี้มีสภาพอากาศร้อนจัด จึงไม่เอื้อต่อการติดผลของมะละกอมากนัก ดังนั้น ดอกมะละกอที่ออกช่วงนี้จึงร่วงสูงมาก แต่ถ้าเกษตรกรท่านใดดูแลจัดการดีทำให้ติดลูกได้ในช่วงนี้ก็มีโอกาสสูงมากเช่นกัน ที่จะขายผลผลิตได้ในราคาสูง ซึ่งมะละกอปีนี้มีการติดผลน้อยจากสภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในช่วง มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ที่มีปัญหาเรื่องการขาดน้ำในช่วงที่มะละกอกำลังออกดอกทำให้ดอกร่วง และการขาดน้ำในช่วงติดผลทำให้การพัฒนาของผลไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร จึงทำให้มะละกอรับน้ำไม่เพียงพอ ผลที่ได้มีคุณภาพด้อยลง เช่น ผลมีขนาดเล็ก ผิวมะละกอหยาบกระด้าง มะละกอแสดงอาการผิวเหี่ยวย่น หลังจากเก็บทิ้งไว้หนึ่งคืน เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงอากาศร้อนมากๆ ยังทำให้ดอกมะละกอสมบูรณ์เพศ(กะเทย) เปลี่ยนเป็นดอกตัวเมียมากขึ้นตามสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้ผลที่ได้จากดอกตัวเมียนั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ(ตลาดต้องการผลจากต้นกะเทย) ผลมะละกอที่ได้จากดอกตัวเมียจึงเกิดผลกลมอันเป็นลักษณะที่ตลาดไม่ต้องการ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตมะละกอไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้บริโภคยังคงเดิม จึงเป็นเหตุให้ราคาผลผลิตในช่วงนี้กระโดดขึ้นสูงมาก ราคาที่เกษตรกรขายหน้าสวนในปีนี้ จึงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งพอจะสรุปเป็นอุปสรรคปัญหาที่ทำให้ผลผลิตมะละกอในช่วง ส.ค.-ต.ค. มีน้อยลง ดังนี้ "
1.มะละกอที่จะเก็บได้ในช่วงส.ค.-ต.ค.ต้องเป็นมะละกอที่จะต้องออกดอกในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อนจัด ดังนั้นช่วงนี้โอกาสที่ดอกมะละกอที่ออกช่วงนี้จะร่วงจึงมีโอกาสสูงมากที่จะร่วง จึงทำให้มะละกอติดผลน้อยในช่วงเวลาดังกล่าว
2.สภาพแวดล้อมของอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ มีผลต่อการออกดอกของมะละกอ มะละกอในบางพื้นที่ที่มีสภาวะเหมาะสมที่จะทำให้มะละกอออกดอกได้ ก็มีโอกาสที่ดอกสมบูรณ์เพศจากมะละกอต้นกระเทยจะเปลี่ยนไปเป็นดอกตัวเมีย ซึ่งให้ผลกลมอันเป็นลักษณะที่ตลาดไม่ต้องการ
3.สภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของมะละกอ การขาดน้ำในช่วงออกดอกทำให้ดอกร่วง และการขาดน้ำในช่วงติดผลทำให้การพัฒนาของผลไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร สิ่งที่แสดงออกมาเมื่อมะละกอได้รับน้ำไม่เพียงพอก็คือ ผลมีขนาดเล็ก ผิวมะละกอหยาบกระด้าง มะละกอแสดงอาการผิวเหี่ยวย่นหลังจากเก็บทิ้งไว้หนึ่งคืน เป็นต้น
สภาพแปลงมะละกอรอเก็บเกี่ยว คุณหนึ่งบอกว่าถ้าดกขนาดนี้ รายรับเป็นหลักแสน
และถ้าเก็บได้หมดคอต้นก็รับกันทีเป็นล้าน
และถ้าเก็บได้หมดคอต้นก็รับกันทีเป็นล้าน
คุณหนึ่งฤทัย ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนการปลูกมะละกอ เพื่อให้มีผลผลิตในช่วงที่มีราคาดี รับทรัพย์เป็นหลักล้านหลักแสน(ช่วง ส.ค.-ต.ค.)ว่า
1. กำหนดช่วงเวลาการปลูกให้มีผลผลิตเก็บได้ในช่วง ส.ค.-ต.ค. โดยการนับย้อนไป 8 เดือนแล้วจึงปลูก นั่นก็หมายความว่า ถ้าจะให้เก็บได้ช่วง ส.ค.-ก.ย.ก็ต้องปลูกประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งมะละกอที่จะเก็บได้ช่่วงนี้ ต้องเป็นมะละกอที่จะออกดอกช่วง มี.ค.-เม.ย.ซึ่งอากาศร้อนมาก มะละกอจะมีปัญหาดอกร่วงเยอะ บางพื้นที่ ที่มีอากาศร้อนมากจะไม่ติดดอกเลย ดอกจะร่วงหมด ดังนั้น พื้นที่ปลูกที่มีความชื้นสูง ไม่ร้อนมากจะค่อนข้างได้เปรียบเพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม ก็สามารถทำให้มะละกอออกดอกและเก็บขายในช่วงที่มีราคาแพงได้ สำหรับพื้นที่ที่มีอากาศร้อนมากต่อให้นับวันปลูก เพื่อให้เก็บได้ในช่วงที่มีราคาแพงก็จะมีปัจจัยที่ทำให้ไม่ได้เก็บผลผลิตจำหน่ายอยู่ดี เพราะดอกมะละกอจะออกมาเจอกับสภาวะอากาศร้อนจนร่วงหมด มะละกอที่คาดว่าจะไปเก็บได้ในช่วง 8 เดือน ก็อาจจะเลื่อนไปเก็บได้ในเดือนที่ 10 หรือ 11
** สำหรับในพื้นที่ที่ไม่มีความได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ จะทำอย่างไรให้มีมะกอเก็บได้ในช่วงที่มีราคาแพงมาก (อาจไม่มากแต่ก็ขอให้ได้บ้าง) ก็สามารถทำได้โดยเลื่อนเวลาปลูกให้เร็วขึ้นเพื่อให้ออกดอกในช่วงที่ไม่มีอากาศร้อนเกินไป อาจจะเลื่อนมาปลูกช่วง ก.ย.-ต.ค.หรือ พ.ย.ก็ยังพอไหว เพื่อให้มะละกออกดอกก่อนฤดูร้อน โดยมะละกอจะเริ่มออกดอกหลังปลูกประมาณ 3 เดือน หรือ บางสวนอาจจะ 2 เดือนกว่าๆ ถ้าต้นสมบูรณ์มากๆ เพราะมะละกอจะมีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 4 เดือนขึ้นไป หรือ บางทีอาจจะยาวถึง 6 หรือ 7 เดือนก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความดกของต้น อย่างไรก็ตาม ตลอดอายุการเก็บเกี่ยวมะละกอจะมีผลผลิตบางส่วนที่สามารถเก็บได้ในช่วงที่มีราคาแพงแน่นอน
ลักษณะผลที่เกิดจากดอกกะเทย(สมบูรณ์เพศ) ที่ตลาดต้องการ
2. การสร้างสภาวะอากาศให้เหมาะกับการออกดอกติดผลของมะละกอในช่วงร้อน ข้อนี้ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำดีและอากาศไม่ร้อนมาก อย่างภาคเหนือแถบเชียงราย แม่สอด หรือ ภาคตะวันออกเขตจันทบุรี ระยอง รวมทั้งพื้นที่ทางภาคใต้ จะค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่ไม่ร้อนมาก ความชื้นในอากาศสูง โดยชาวสวนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ใช้วิธีนับย้อนช่วงเวลาการปลูกไปให้ผลผลิตออกมาในช่วงที่มีราคาแพงก็สามารถมีมะละกอเก็บได้ แต่ในพื้นที่ที่ไม่มีความได้เปรียบของสภาวะดังกล่าว สามารถสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการออกดอกของมะละกอได้ โดยการเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดความร้อนของอากาศลงโดยติดตั้งสปริงเกลอร์ในแปลง ให้มีระดับความสูงของสปริงเกลอร์ในตำแหน่งที่มะละกอออกดอกติดผลหรือสูงประมาณ 1.5-2 เมตรจากดิน แม้วิธีนี้จะทำให้มะละกอติดผลไม่มากเหมือนในเขตพื้นที่ที่ได้เปรียบในเรื่องของอากาศ แต่อย่างไรก็จะมีผลผลิตให้ได้เก็บอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง
3.การจัดการธาตุอาหารเพื่อส่งเสริมการออกดอกติดผล โดยสามารถใส่ปุ๋ยทางดินสูตรตัวท้ายสูง ร่วมกับการพ่นปุ๋ยเกร็ดทางใบที่มีสูตรตัวท้ายสูง รวมทั้งการใช้ธาตุอาหารรองที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการออกดอกโดยเฉพาะแคลเซียม-โบรอน ซึ่งจะช่วยสร้างความสมบูรณ์ของดอก สร้างความแข็งแรงของเกสร ทำให้ระยะเวลาการบานของดอกตัวเมียยาวนานขึ้น โอกาสที่จะเกิดการผสมของเกสรตัวผู้กับตัวเมียมีมากขึ้นก็จะทำให้การออกดอกติดผลเพิ่มขึ้นได้
การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวน เพื่อขนย้ายไปจำหน่ายยังตลาด จะใส่โฟมตาข่ายเพื่อความสวยงามและลดความเสียหายหรือป้องกันการกระแทกระหว่างการขนส่ง
หลังจากหมดช่วงที่ผลผลิตมีราคาแพง ก็จะมีมะละกอทะลักออกมาสู่ท้องตลาดอย่างมากในช่วง เดือน พ.ย.-ธ.ค.จนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการของตลาดหรือล้นตลาดได้ นั่นเพราะส่วนหนึ่งมาจากมะละกอที่ชาวสวนนิยมปลูกกันช่วงฝนเพราะต้องการประหยัดน้ำรด หรือไม่ต้องการรดน้ำในช่วงแรกที่มะละกอเจริญเติบโต กับอีกส่วนคือมะละกอที่สวนวางแผนปลูกให้เก็บผลผลิตช่วงแพง คือ หลังปลูก 8 เดือนอย่างที่บอก แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ไม่อำนวยก็จะทำให้ดอกที่ออกช่วงแล้งร่วงหมดประมาณ 2 เดือนที่อากาศร้อน และมาติดดอกชุดใหม่ในช่วงเริ่มเข้าฝน แทนที่มะละกอจะเริ่มเก็บตอน 8 เดือน ก็จะมาเริ่มเก็บตอน 10-11 เดือน ชนกับมะกอที่ปลูกช่วงต้นฝน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาด้านราคาได้
อย่างไรก็ตาม คุณหนึ่งฤทัย ได้เน้นย้ำว่า มะละกอสุกนั้นมีการเติบโตทางการตลาดขึ้นมาก จากความนิยมของผู้บริโภคเนื่องจากรสชาติอร่อย เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็น จึงทานได้บ่อยโดยไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ มีแคโรทีนและวิตามินอีสูง หากผู้ที่มีปัญหาเรื่องผิวพรรณ เช่น เป็นฝ้า กระ หรือ จุดด่างดำบนใบหน้า ทานติดต่อกันเป็นประจำ(ไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์) จะทำให้ผิวพรรณกลับมาขาวใส และหายจากฝ้าหรือรอยสิวได้(ทานมากๆ ผิวจะเหลือง) ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ตลาดผู้บริโภคจึงมีความต้องการสูง ขณะที่หลายพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งปลูกมะละกอมานานเกิดการสะสมและระบาดของโรคไวรัสวงจุดแหวน จึงทำให้ผลผลิตมะละกอในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และมีราคาสูงตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
ใช้ระยะเวลาปลูกจนเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต 8-10 เดือน
ปัจจุบัน มะละกอจึงเป็นพืชที่น่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก ราคามะละกอในช่วงปกติจะอยู่ประมาณ 15-20 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่สูงมากหรือประมาณ 5-6 บาท/กก. จึงนับว่าเป็นโอกาสสำหรับคนที่มองหาพืชที่มีผลตอบแทนที่ดี ต้นทุนไม่สูง โดยมะละกอมีต้นทุนอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท/ไร่ นับจากปลูกจนถึงเริ่มเก็บเกี่ยว คือ 8 เดือน ซึ่งหลังจากได้เก็บผลผลิตแล้ว มะละกอจะสามารถเก็บผลผลิตได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง พื้นที่ 10 ไร่ จะเก็บได้ประมาณ 2,500-3,000 กก.ต่อรอบ หรือ หากท่านใดสนใจมะละกอไม้ผลที่น่าลงทุนและทำเงินได้ดี สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวความรู้ได้ในงาน สัมมนามะละกอเงินล้าน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 2559 นี้ ที่ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณหนึ่งฤทัย แพรสีทอง 08-9783-5887
เขียน/เรียบเรียงโดย :มินยดา อนุกานนท์ web content editor @ www.rakbankerd.com