เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

สวพ.2 เร่งวิจัยการผลิตท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการเกษตร 7 จว. ภาคเหนือตอนล่าง

04 สิงหาคม 2559
2,941
นายสมเพชร พรหมเมืองดี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 (สวพ.2) กรมวิชาการเกษตร เผยว่า สวพ.2 มีนโยบายเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มุ่งเน้นทั้งการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นโดยต้นทุนยังเท่าเดิมหรือลดลง ผลผลิตมีคุณภาพ และปลอดภัย โดนในพื้นที่รับผิดชอบของ สวพ.2 ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และตาก มีพื้นที่การเกษตรถึง 15.9 ล้านไร่ ลักษณะภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย คือในพื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบบริเวณกว้างขวาง ขณะที่ด้านข้างของพื้นที่เป็นลาดเชิงเขา
แนวเทือกเขาทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกทำให้มีพืชที่สามารถปลูกได้หลายชนิด ทั้งพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง มะม่วง และพืชผักต่างๆ รวมทั้งพืชท้องถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัวเช่น ทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล สับปะรดห้วยมุ่น ใบตองกล้วยตานี เมล็ดแมงลัก มะม่วงหิมพานต์ มะปราง มะยงชิด นอกจากนี้สวพ. 2 ยังมีนโยบายพัฒนาพืชสมุนไพร และพืชเครื่องเทศ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจให้ได้

นายวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สวพ. 2 กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาพืชท้องถิ่นออกเป็น 3 ด้าน คือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะพื้นที่ การพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร และการพัฒนาแหล่งผลิต โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะพื้นที่จะเน้นการวิจัยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมเฉพาะพื้นที่ตามความจำเป็นของแต่ละพืช

ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาดและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงพัฒนาเกษตรกรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเกษตรกรสามารถพัฒนาการผลิตพืชให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและการตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ สวพ. 2 มุ่งที่จะพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คือ มีองค์ความรู้ทางด้านการผลิตพืชที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถนำหลักวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ร่วมกัน มีการจัดตั้งเกษตรกรต้นแบบและแปลงต้นแบบในพื้นที่เพื่อขยายผลให้กับเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ การพัฒนาแหล่งผลิตเพื่อให้การผลิตพืชเป็นไปอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"สวพ.2 เร่งวิจัยการผลิตท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการเกษตร 7 จว. ภาคเหนือตอนล่าง". (04-08-2559). แนวหน้า.:
สืบค้นเมื่อ 04-08-2559, เข้าถึงได้จาก : http://www.naewna.com/local/228769