

""สละ" ผลไม้เปลี่ยนชีวิต"
คุณปรีชา ปิยารมณ์
สละ เป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมรับประทานชนิดหนึ่ง มีเนื้อนุ่ม รสหวาน ออกเปรี้ยวเล็กน้อยและมีกลิ่นหอมเป็นเสน่ห์ของผลไม้ที่ชื่อว่าสละ นอกจากรสชาดที่ถูกใจแล้วสละยังเป็นผลไม้ที่จัดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพตัวยง เพราะอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย อีกทั้งยังเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย อาทิเช่น กรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น แถมยังบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยขับเสมหะและแก้เลือดกำเดาได้อีกด้วย ด้วยสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สละจึงถือได้ว่าเป็นผลไม้กึ่งสมุนไพรที่ผู้บริโภคนิยมจนตลาดผลไม้จะขาดไม่ได้ ทำให้เกษตรกรที่หันมาทำการเพาะปลูกสละลืมตาอ้าปากได้อย่างไม่ต้องกังวล
ลุงปรีชา ปิยารมณ์ เกษตรชาวจันทบุรี เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรู้รอบเรื่องของสละ โดยเฉพาะสละสายพันธ์สุมาลี ลุงปรีชาเรียนจบ ม.6 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2501 และเริ่มอาชีพทำสวนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลุงปรีชาเล่าว่าตลอดอาชีพการทำสวนของแกนั้นแกผ่านการทำสวนผลไม้มามากมาย ทั้งสวนเงาะ สวนทุเรียน มังคุด จนตอนนี้ก็มาบรรจบลงที่การทำสวนสละในพื้นที่40ไร่
"สมัยก่อนสภาพอากาศมันไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงเหมือนสมัยนี้ สมัยนี้เราต้องรู้สภาพอากาศว่าอากาศแบบนี้ๆจะต้องทำยังไงกับพืชที่เราเพาะปลูกอยู่ นี่คือสิ่งที่เกษตรกรสมัยนี้ต้องเจอ อย่าไปคิดว่ามันเป็นอุปสรรค ควรสนุกและเรียนรู้กับมันมากกว่า"
นั่นคือคำแนะนำจากชายผู้มีชีวิตเกษตรกรมากว่า 58 ปี ลุงปรีชาเล่าเพิ่มเติมว่าแกเริ่มปลูกสละมาตั้งแต่ปี 37 สิ่งที่แกชอบในการทำสละก็คือมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ มันขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการมากกว่า คือให้น้ำพอ ปุ๋ยพอ และอย่าไปเอาต่อกอมากนัก มันก็อยู่ได้อย่างสบายๆ
ก่อนที่ลุงปรีชาจะหันมาทำสละสายพันสุมาลี แรกแต่เดิมนั้นแกปลูกสายพันธุ์เนินวง แต่พอมาดูตลาดเป็นพันธุ์สุมาลีที่เป็นที่นิยมมากกว่า ความต้องการมากกว่าก็เลยเปลี่ยนพันธุ์ปลูก ตอนปลูกใหม่ๆซื้อพันธุ์มาต้นละ 4, 000 บาท แต่ถ้าเป็นตั้งแต่เริ่มแรกๆตอนออกใหม่ๆตกต้นละ หมื่น เวลาผ่านก็ลดลงมาเรื่อยๆ เก้าพัน แปดพัน ปัจจุบันนี้เหลือต้นละ 500 บาท ต้นหนึ่งก็แตกกอได้ประมาณ 4-5 ลำและต้องใช้หน่อเท่านั้นในการเพาะปลูก ถ้าใช้เม็ดมันจะกลาย แต่ข้อสำคัญที่สุดไม่ว่าจะปลูกสละสายพันธุ์ไหนก็แล้ว ต้องปลูกตัวผู้เพื่อไว้ผสมเกสรด้วย ถ้าติดเองจะไม่แน่นไม่เยอะ ต้องผสมช่วยเค้า
ส่วนเรื่องของการตลาด ลุงปรีชาบอกว่าลูกค้าจะมารับถึงที่ เว้นแต่ผลผลิตออกมามากก็จะเอาไปขายเอง แต่ก็นานๆครั้ง ลูกค้ามารับถึงที่ก็กิโลกรัมละ 70 บาท และจากการสอบถามจากพ่อค้าที่รับไปขายต่อ เวลาขาย เขาต้องให้สละของลุงปรีชาหมดเสียก่อนถึงจะขายสละที่รับมาจากเจ้าอื่นได้ นั่นแสดงว่ารสชาติและคุณภาพสละสายพันธุ์สุมาลีของลุงปรีชานั้นไม่เป็นสองรองใคร
"เมื่อปี 54 งานพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ เราส่งสละไปประกวด 2 กระปุก และได้รางวัลเหรียญทองอันดับ 1 กับอันดับ 2 ในงานพืชสวนโลกในครั้งนั้นด้วย ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก"
พูดถึงเรื่องการเก็บเกี่ยว เรายังได้รู้อีกว่า สละนั้นตัดเก็บได้เกือบทั้งปี ตัดประมาณอาทิตย์ละครั้ง รายได้คิดเฉลี่ยทั้งปี ก็จะตกที่ปีละ 1 แสนบาท ต่อไร่
การปลูกสละ :
1. พื้นที่ดอนที่ปลูกไม้ยืนต้นไว้แล้ว
- สามารถปลูกสละร่วมกับไม้ยืนต้นเหล่านั้นได้เลยโดยอาศัยไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้แล้วเป็นร่มเงาพรางแสง พื้นที่
ดอนที่ไม่มีไม้ยืนต้น
- ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ และขุดร่องระบายน้ำหากมีปัญหาน้ำท่วมขัง
- ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วเพื่อเตรียมไว้เป็นร่มเงาของสละ
2. พื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน
- ขุดยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร
ลึก 1 เมตร
- มีระบบระบายน้ำเข้าออกเป็นอย่างดี
- ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วเป็นไม้ร่มเงาริมขอบแปลงทั้ง 2 ด้านเพื่อช่วยยึดป้องกันการพังทลายของแปลงปลูกด้วย
วิธีการปลูก :
ระยะปลูกสัมพันธ์กับจำนวนต้นต่อพื้นที่ โดยจำนวนต้นที่เหมาะสมเท่ากับ 100 ต้นต่อไร่ เช่น หาก
ปลูกสละแบบต้นเดี่ยว ควรปลูกในระยะ 4x4 เมตร หรือ ปลูกแบบกอไว้กอละ 3 ต้น ควรปลูกใน
ระยะ 6x8 เมตร เป็นต้น หรือสละ 1 ต้น ใช้พื้นที่ 14-20 ตารางเมตร
การปลูก :
ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 500 กรัม/หลุม วางต้นพันธุ์แล้วกลบดินจนอยู่ระดับเดียวกับผิวดิน ควรเอาดินกลบโคนปีละ 1 ครั้ง
การพรางแสง :
- สละต้องมีร่มเงาพรางแสงประมาณ 50% ของแสงปกติ วิธีการพรางแสงทำได้โดย
- กรณีปลูกในสวนไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เช่น เงาะ ทุเรียน ขนุน ฯลฯ ควรตัดแต่งกิ่งของไม้ยืนต้นให้ได้แสงที่พอเหมาะ
- กรณีปลูกใหม่ไม่มีไม้ร่มเงาต้องปลูกไม้โตเร็วเป็นไม้ร่มเงาถาวร เช่น กระถินเทพา เพกา เหรียง ฯลฯ หรือไม้ยืนต้นอื่นที่เหมาะสมและควรปลูกมากกว่า 1 ชนิด
- ใช้ตาข่ายพลาสติกพรางแสงขึงคลุมให้ได้แสงประมาณ 50%
การป้องกันลม :สวนสละต้องมีการป้องกันลมโดยทำฉากป้องกันลมหรือปลูกไม้บังลมรอบแปลง
การดูแลรักษาสละในระยะก่อนให้ผลผลิต (อายุ 1-3 ปี)
- ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 2-5 กิโลกรัม/กอ/ปี แบ่งใส่ 2-4 ครั้ง/ปี
- ปุ๋ยคอก อัตรา 10-20 กิโลกรัม/กอ/ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี
- ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณ 100-118 ลิตร/กอ/วัน สำหรับระยะปลูก 6x6 เมตร
การตัดแต่งทางใบ : ไม่ควรตัดแต่งทางใบมากนักนอกจากทางใบที่แก่หมดสภาพแล้วเท่านั้น หากทางใบโน้มกีดขวางการทำงานควรใช้เชือกไนล่อนผูกรวบไว้ ทางใบที่ตัดแล้วควรนำไปปูคลุมรอบโคนต้นโดยคว่ำด้านหนามลงดิน หรือบดละเอียดด้วยเครื่องบดทางสะละเป็นปุ๋ยหมักต่อไป
การตัดแต่งหน่อและการไว้กอ : สละอายุได้ประมาณ 1 ปี จะแตกหน่อออกมาจำนวนมาก หากปลูกแบบกอควรเลี้ยงหน่อไว้เพียงหน่อเดียว (2 ต้นต่อกอรวมทั้งต้นแม่) จะทำให้สละตกผลเร็ว หลังจากนั้นค่อยเลี้ยงหน่อ
เพิ่มขึ้นให้ได้จำนวนต้นตามต้องการและคอยหมั่นตัดแต่งหน่อที่ไม่ต้องการออก
การตัดแต่งดอก :ดอกที่ออกมาในระยะก่อน 2 ปีควรตัดทิ้ง เพราะผลผลิตที่ได้ในระยะนี้จะไม่มีคุณภาพ ตัดแต่งช่อดอกในแต่ละคานให้เหลือปริมาณพอเหมาะกับความสมบูรณ์ต้น โดยสังเกตจากช่อดอก
หากสมบูรณ์จะอวบยาว สีแดงเข้ม กาบหุ้มมีสีดำหรือสีน้ำตาล
การผสมเกสร :
- สละต้องช่วยผสมเกสร
- ผสมเกสรโดยตัดช่อดอกตัวผู้ของระกำ สะกำ หรือสละที่บานแล้วมาเคาะใส่ช่อดอกตัวเมียที่บานแล้วประมาณ 50% ของช่อดอกขึ้นไป ให้ละอองเกสรตกลงไปผสมกับเกสรตัวเมีย
- ผสมเกสรโดยใช้เกสรสำเร็จรูปที่เก็บรวบรวมไว้กับแป้งทาลคัมอัตรา 1:10 พ่นบนช่อดอกตัวเมียที่บานแล้ว 80% ก่อนนำเกสรสำเร็จรูปไปใช้ควรทดสอบเปอร์เซ็นต์ความมีชีวิตของละอองเกสรก่อน
- การผสมเกสรสามารถทำได้ตลอดทั้งวัน แต่ในฤดูฝนเมื่อผสมแล้วต้องคลุมดอกไว้อย่างน้อย 2 วัน
บทสรุป :
ทั้งหมดคือประสบการณ์อันโชกโชนของลุงปรีชาและวิธีการปลูกดูแลสละที่นำมาแชร์ให้กับเกษตรกรคนรุ่นใหม่และคนที่สนใจจะหันมาเพาะปลูกสละไว้เป็นวิทยาทานได้ไม่มากก็น้อย สุดท้ายนี้ลุงปรีชาฝากบอกกับคนรุ่นใหม่ว่า สิ่งที่ลุงปรีชายึดถือที่สุดในการทำสวนก็คือ จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและพยายามทำคุณภาพให้ดีที่สุด ดั่งที่ลุงเคยได้รางวัลเหรียญทองมาและจะรักษามารฐานไว้ให้ดีตลอดไป คนรุ่นใหม่ก็เช่นกัน ขยัน ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาและจะอยู่ได้นาน
ช่องทางการติดต่อ : นายปรีชา ปิยารมย์ โทร. 08-1860-2491 บ้านเลขที่ 19 หมู่ 5 บ้านโป่งแรด พลับพลา เมือง จ จันทบุรี 22000

