

"ปลากัด ปลาเศรษฐกิจอนาคตไกล"
คุณนายพิษณุ โชติช่วง
ปลากัด เป็นปลาสวยงามที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีสันสวยงามสะดุดตาและเป็นปลาที่จัดว่าเป็นยอดนักสู้ตัวฉกาจ ทั้งความสวยงามและความเก่งฉกาจจึงทำให้ได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยนิยมเลี้ยงปลากัดกันมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันและยังมีการเลี้ยงเพื่อเกมกีฬาอีกด้วย การเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงามมักนิยมเลี้ยงกันในขวดแก้วหรือขวดโหลขนาดเล็กไม่นิยมเลี้ยงร่วมกับปลาสายพันธุ์อื่น เพราะมักจะไล่กัดทำอันตรายกับปลาชนิดอื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลี้ยงไว้เพียงตัวเดียว ปลาจะมีความรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตของตัวเองได้ส่งผลทำให้มีสีสันสดใสสวยงาม ปลากัดจัดว่าเป็นปลาที่ติดตลาดทั้งภายในและตลาดภายนอกประเทศสามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี
นายพิษณุ โชติช่วง เกษตรกรหนุ่มรุ่นใหม่ที่หันมาเอาดีทางการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงามเพื่อจำหน่าย จากหนุ่มโรงงานที่ต้องทำงานเข้าออกเป็นเวลาไม่ค่อยมีเวลาให้กับตัวเองและสิ่งที่ชื่นชอบ ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน คุณพิษณุเริ่มหันมาเอาดีกับสิ่งที่่ตนเองรักอย่างจริงจัง ด้วยการลาออกจากงานประจำหันมาทำอาชีพที่ตนเองรักจากความชอบเมื่อสมัยเด็กที่ชอบยิงนกตกปลาและที่ชอบมากที่สุดคือการเลี้ยงปลากัด จากความชอบในวัยเด็ก จนวันนี้กลับกลายมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้อย่างงดงาม สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี
การเริ่มต้นเลี้ยงปลากัดในช่วงปีแรกๆของคุณพิษณุ ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หวังไว้ล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูก เพราะไม่ได้มีความรู้ในเรื่องของการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามมาก่อนอาศัยความเคยชินที่เคยเลี้ยงในวัยเด็กมาช่วย ต้องใช้เวลานับปีจนสามารถเพาะพันธุ์ปลากัดขึ้นเองได้และถูกต้องตามความต้องการของผู้ที่นิยมเล่นปลากัด สอบถามจากผู้รู้เขาก็ไม่บอกเคล็ดลับวิธีเลี้ยง เรียกได้ว่าทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นจากปลากัดเพียง 10 คู่ เริ่มทีละน้อยค่อยๆทำ พอเริ่มเพาะพันธุ์ได้เองจนสามารถจำหน่ายเป็นอาชีพและทำให้คนเลี้ยงปลากัดในพื้นที่จังหวัดระยองหันมาสนใจและเป็นที่รู้จักก็ทำให้ตนเองมีกำลังใจที่จะเดินหน้าทำอาชีพนี้ต่อ เพราะว่ามีพันธุ์ปลากัดใหม่ๆ สวยๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มันรู้สึกเป็นความท้าทายว่าเราทำได้สามารถเดินตามความชอบในวัยเด็กให้เป็นอาชีพในตอนโตได้อย่างภาคภูมิ
การอนุบาลลูกปลากัด ภาชนะที่ใช้ในการอนุบาลควรมีขนาดเล็ก เช่น กะละมังใบเล็ก โดยใส่น้ำครึ่งหนึ่งของภาชนะเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและการให้อาหาร เริ่มแรกควรให้ไข่แดงเป็นอาหารก่อน ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้นภายในหนึ่งอาทิตย์ สามารถเปลี่ยนบ่ออนุบาลลูกปลาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

เต้าหู้ไข่ อาหารเสริมของปลากัด
หลังจากหนึ่งอาทิตย์ผ่านไปสามารถให้ไรแดงเป็นอาหารได้ โดยใช้ไรแดงเลี้ยงประมาณ 20 วัน พร้อมกับการถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอลูกปลากัดจะโตได้ขนาดประมาณ 1.0 - 1.5 เซ็นติเมตร หลังจากนั้นเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เต้าหู้ไข่ เป็นต้น
พ่อแม่พันธุ์ปลากัด ตัวละ 400 บาท คู่ละ 800 บาท บ่อปูนซีเมนต์ ขนาดกว้าง 100 ซม.สูง 50 ซม. ราคา 150-200 บาท ขวดโหลใบละ 10-15 บาท กะละมังอนุบาลลูกปลา 35-40 บาท/ใบ ส่วนอาหารสำหรับปลากัดคุณพิษณุได้เลี้ยงไรแดงขึ้นเองจึงลดต้นทุนในส่วนนี้ อาหารเสริม อาทิ เต้าหู้ไข่ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ตกราคาชิ้นละ 10-15 บาท ต้นทุนในการเริ่มเลี้ยงสำหรับมือใหม่ครั้งแรกจะอยู่ประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น ราคาจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับความสวยงามถ้าแบบธรรมดาทั่วไป จะเริ่มต้นจำหน่ายตัวละ 10 บาท แต่ถ้ามีความสวยงามมากราคาจะขยับไปถึงหลักร้อยปลายๆ ถึงพันต้นๆ เลยทีเดียว ในหนึ่งเดือนคุณพิษณุจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า หนึ่งหมื่นบาทจากการจำหน่ายปลากัด
เนื่องจากคู่แข่งทางการตลาดยังถือว่ามีน้อย คุณพิษณุจึงทำการตลาดโดยการขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับไปจำหน่ายตามตลาดนัดทั่วไปในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง โดยจำหน่ายเป็นถุงขนาด 24*28 เซ็นติเมตร ในหนึ่งถุงบรรจุปลากัดได้ 20-30 ตัว ทั้งนี้ราคาขึ้นอยู่กับความสวยงามของปลา เช่น ปลากัดสวยไม่มากมีตำหนิ ขายส่งตัวละ 10 บาท หนึ่งถุงบรรจุ 30 ตัว เป็นเงิน 300 บาท ลูกค้าที่เข้ามาซื้อเพื่อไปจำหน่ายต่อส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่บอกกันแบบปากต่อปากทำให้เป็นที่รู้จักของนักเล่นปลากัดในละแวกนั้น และการโปรโมททางโซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งวิธี การโพสภาพของปลากัดที่เราพร้อมจำหน่ายให้กับลูกค้าได้เห็น ทำให้ยอดขายดีขึ้น ส่วนการตลาดในอนาคตคุณพิษณะจะสร้างเว็ปไซด์เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ใช้ใบหูกวางนำมาแช่น้ำในบ่อเลี้ยงปลากัดอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ สีของน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้มมาก และทำให้พบว่าการใช้ใบหูกวางทำให้ปลากัดมีความแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถทำให้เกล็ดของปลากัดแข็งแรงขึ้น ชั้นผิวหนังที่ปกคลุมเกล็ดหนาขึ้น ถ้าเทียบกับปลาที่เลี้ยงโดยไม่ใช้ใบหูกวางสีสันของปลากัดก็จะสวยงาม แต่การใช้ใบหูกวางในการเลี้ยงปลากัดนั้นมีข้อควรระวัง ก็คือ เรื่องของยาฆ่าแมลงที่อาจทำอันตรายกับปลากัดที่อยู่ในบ่อได้ ผู้เลี้ยงจึงควรเก็บหรือซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

