

""ตราดบ้านผัก" แบรนด์ผักสร้างรัก
สร้างครอบครัว สร้างความลงตัวให้ชีวิต"
คุณเมธี ยี่หวา
จากมัคคุเทศก์ นำท่องเที่ยวที่มีพื้นเพมาจากลูกชาวสวน ได้ผันตัวมาทำพืชผักปลอดสารพิษ จับกระแสรักสุขภาพ เพื่อหวังให้ผู้บริโภคในถิ่นเกิดได้ทานพืชผักปลอดภัย จากการปลูกผักหมุนเวียนและมะเขือเทศเชอรีในโรงเรือน ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้นไม่ถึงแสน แต่เน้นการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทุกพืชที่ปลูกอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถดูแลและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับพืชปลูกได้รอบด้านก่อนลงมือปฏิบัติจริง เริ่มทำการตลาดด้วยการไล่แจกผลผลิตให้เพื่อนบ้านและคนท้องถิ่นชิมฟรี จนได้รับความนิยมติดตลาดภายใต้แบรนด์ "ตราดบ้านผัก" สร้างรายรับได้หลักแสน(ยังไม่หักต้นทุน)ต่อรอบการผลิต ชีวิตอยู่ได้สบายๆ ไม่เดือดร้อนดิ้นรนเป็นหนี้ใคร และยังได้อยู่ใกล้ครอบครัวและคนที่รักด้วยอาชีพเกษตรกรรมที่ยึดมั่น ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ภาคภูมิกับการหันมาเดินรอยตามบรรพบุรุษ
เมธี ยี่หวา เป็นชาวเมืองตราด แต่เดิมประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ ซึ่งมีหน้าที่แนะนำให้ข้อมูลต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว ทำให้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่หลากหลาย และพบเห็นอะไรมากมาย "หลายครั้งที่ต้องพานักท่องเที่ยวเข้าสวนผัก สวนผลไม้ต่างๆ นักท่องเที่ยวก็มักจะถามคำถามมากมาย เช่น พืชชนิดนั้นปลูกอย่างไร ทำอย่างไรให้ผลผลิตเยอะ ดอกทุเรียนเกิดจากอะไร ซึ่งช่วงแรกๆ เราก็อาศัยข้อมูลที่เราพอทราบ เนื่องจากพ่อแม่เราเป็นชาวสวน ก็มีผิดบ้างถูกบ้าง ก็ตอบเค้าไป แต่เราเป็นมัคคุเทศก์ข้อมูลที่เราบอกนักท่องเที่ยวต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง จะผิดพลาดไม่ได้ เราก็เลยไปศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆ จากงานวิจัยที่อาจารย์หลายๆ ท่านเขียนไว้ ทำให้เริ่มมีความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนเกิดความสนใจการเกษตรเพิ่มขึ้นเรื่่อยๆต่อมาเมื่อแต่งงานมีครอบครัวจึงตัดสินใจเลิกอาชีพมัคคุเทศก์ แล้วหันมาประกอบอาชีพเกษตรกร เพราะการเป็นมัคคุเทศก์ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับครอบครัว เพราะเชื่อมันในความรู้เกี่ยวกับการเกษตรที่ได้ศึกษามาจึงมั่นใจว่าจะทำการเกษตรได้ไม่ยาก
คุณเมธีเน้นนำหลักวิชาการมาใช้ในการปลูกพืชผักต่างๆ ก่อนจะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง "ก่อนที่ผมจะปลูกอะไรผมจะศึกษาก่อนว่าพืชชนิดนั้นมีลักษณะอย่างไร ต้องปลูกแบบไหน ต้องการสารอาหารเท่าไร" ตอนผมปลูกแตงร้านใหม่ๆ เกษตรกรท่านอื่นที่เคยปลูกแตงร้านมาก่อนก็แนะนำว่าอย่าปลูกซ้ำหลุม ให้เว้นระยะเวลาในการปลูก หรือปลูกหมุนเวียนกับพืชชนิดอื่น แต่ปัญหาคือ ที่ดินผมมีจำกัด ผมก็มาตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรให้สามารถปลูกแตงร้านในพื้นที่เดิมได้ ดังนั้นเราต้องมาดูก่อนเลยว่าทำไมการปลูกแตงร้านถึงไม่ให้ปลูกซ้ำหลุมเดิม คำตอบที่ได้ คือ
1.ดินจะขาดสารอาหาร 2.จะเป็นการสะสมโรคซึ่งเกิดจากการที่ดินเป็นกรด ผมจึงนำดินไปตรวจวิเคราะห์ทุกปี เพื่อหาค่าความเป็นกรด-ด่างและตรวจสารอาหารแร่ธาตุต่างๆ ในดิน แล้วทำการปรับปรุงสภาพดินให้เหมาะสมต่อการปลูกแตงร้านทุกครั้ง จึงทำให้ผมปลูกแตงร้านต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องเว้นระยะ พอปลูกแตงร้านต่อเนื่องมาได้ระยะหนึ่ง จึงเริ่มคิดที่จะปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ดูบ้าง เพราะอยากเรียนรู้และทดลองทำอะไรแปลกใหม่เพิ่มเติม
"ผมปลูกแตงร้านมา 5 ปี ได้ผลผลิตดีทุกปี แต่ปัญหาที่พบคือการใช้สารเคมี ที่ต้องใช้ต่อสู้กับแมลงจำนวนมาก ซึ่งมันส่งผลต่อผู้บริโภค"
ด้วยความคิดที่ว่าไม่อยากให้ลูกค้าต้องทานผักเปื้อนสารพิษ อยากให้เขาทานผักเราแล้วปลอดภัย และต้องทำเกษตรแบบที่ไม่ทำให้ระบบนิเวศเสีย จึงหันมาปลูกพืชในโรงเรือนที่มีมุ้งป้องกันแมลงแทน

ตราดบ้านผัก แบรนด์นี้ปลอดภัยมั่นใจได้เลย
การจัดการดูแลพืชผักในโรงเรือน : คุณเมธี จึงหันมาปลูกพืชผักในโรงเรือน ทำให้หมดปัญหาเรื่องแมลงรบกวน ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัด "ผักที่ผมปลูกทุกชนิดปลอดภัยไร้สารเคมี ส่วนเรื่องน้ำและอาหารนั้นผมให้เป็นระบบ คือ ให้น้ำวันละ 8 ครั้งห่างกันครั้งละ 1 ชั่วโมง ผักแต่ละชนิดจะต้องการปริมาณน้ำและสารอาหารที่แตกต่างกัน เราต้องศึกษาก่อนที่จะลงมือปลูกต้องมีการเรียนรู้ ว่าพืชชนิดนั้นๆ ต้องการอะไร มีธาตุอาหารหลัก อาหารรอง และ อาหารเสริม อะไรบ้าง จากการตั้งข้อสังเกตที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าเกษตรกรหลายท่านรู้จักแต่อาหารหลัก รู้แค่ N-P-K ที่อยู่ติดข้างถุงปุ๋ย ซึ่งจริงๆ แล้วธาตุอาหารของพืชนั้นมีเป็น 10 ชนิด การที่จะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดีตามหลักวิชาการนั้น ต้องให้พืชได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนด้วยจึงจะดีต่อการให้ผลผลิต"
ในการปลูกพืชผักของคุณเมธีก็จะดูแลตามปกติ แต่จะเน้นการจัดการเกี่ยวกับธาตุอาหารที่พืชต้องการ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีรสชาติดี มีผลผลิตสูง และ ตลาดต้องการ โดยเฉพาะมะเขือเทศเชอรี ที่ปลูกไว้เป็นพืชหลักทำเงิน บนพื้นที่เพียง 1 ไร่ ในโรงเรือน จะเก็บผลผลิตขายภายใต้ชื่อ "ตราดบ้านผัก" วางจำหน่ายตามร้านสหกรณ์ต่างๆ ภายในจังหวัด,ตลาดสินค้าเกษตรและศาลากลางจังหวัด นั้นสร้างรายได้ให้กับคุณเมธีได้ปีละหลายแสนบาท เพราะมีการดูแลจัดการด้านธาตุอาหารทั่วถึงทำให้ได้ผลผลิตดีและทำเงินได้มาก
การให้น้ำและสารอาหาร : สำหรับการให้น้ำมะเขือเทศเชอรี 1 แปลง (สามารถปลูกได้ประมาณ 300 ต้น) จะให้ประมาณ 750 ลิตร โดยการเตรียมน้ำจำนวนนี้ไว้ให้มีพร้อมในถังพักน้ำ และให้ปุ๋ยและธาตุอาหารไปพร้อมกับการให้น้ำในคราวเดียวกัน ทำให้ประหยัดเวลาไปได้มากสำหรับธาตุอาหารเสริม ก็จะให้แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และสภาพดิน ก่อนจะให้ปุ๋ยอะไรกับพืชชนิดไหน จะต้องนำดินไปตรวจหาธาตุอาหารรวมถึงความเป็นกรด-ด่างที่กรมพัฒนาที่ดิน และขอคำปรึกษาว่าในดินมีธาตุอาหารอะไร จำนวนเท่าไหร่ และต้องเสริมธาตุอาหารตัวไหนบ้างมาประกอบการปลูกพืช เพื่อให้สามารถจัดการเรื่องธาตุอาหารได้เหมาะสมต่อพืชที่ปลูก การให้ธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันไป แต่ธาตุอาหารหลักที่มะเขือเทศเชอรีต้องการใช้ก็คือ N-P-K โดยคุณเมธีจะให้ปุ๋ยสูตร 20-10-30 อัตรา 450 กรัม ต่อน้ำ 750 ลิตร ผสมลงในถังพักน้ำให้ไปพร้อมกับระบบน้ำทุก 7-14 วัน
หละกๆ จะมีค่าโรงเรือนและระบบน้ำซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งแรกและครั้งเดียวอยู่ที่ 60,000 บาทต่อโรงเรือน ส่วนค่าเมล็ดพันธ์ุ ค่าปุ๋ยและค่าน้ำ คำนวนแล้วตกอยู่ที่ต้นละ 15 บาทต่อปี โรงเรือนหนึ่งปลูกได้ 300 ต้น ต้นทุนค่าดูแลอยู่ที่ปีละ 4,500 บาท มะเขือเทศเชอรี่ให้ผลผลิตปีละ 6-10 กิโลกรัมต่อต้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งคุณเมธีขายมะเขือเทศได้กิโลกรัมละ 180 บาท ในราคาเดียวตลอดทั้งปี จึงมีรายได้จากการปลูกมะเขือเทศที่ปลูกไว้ ในโรงเรือยนหนึ่งประมาณ 324,000 - 540,000 บาท จึงมีกำไรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ
ในช่วงแรกคุณเมธีอาศัยการบอกต่อแบบปากต่อปาก โดยการหิ้วตะกร้าใส่ผักไปแจกจ่ายให้ประชาชน คนในพื้นที่ชิมฟรี ถ้าติดใจค่อยมาซื้อแล้วให้ช่วยบอกต่อ จากนั้นก็เริ่มขายให้กับกลุ่มคนรู้จัก แล้วอาศัยการบอกต่อแบบปากต่อปากไปเรื่ิอยๆ จนมีลูกค้ามากมาย นอกจากนี้ยังติดต่อไปยังร้านค้าสหกรณ์ต่างๆ เพื่อนำผักไปวางจำหน่าย และทำเฟสบุ๊คชื่อ "ตราดบ้านผัก" เป้นช่องทางกระจายสินค้าเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง ทำให้ผลผลิตเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในวงกว้าง
การจะปลูกพืชชนิดใดนั้น เกษตรกรต้องศึกษาให้ละเอียด ต้องรู้จักพืชที่เราจะปลูกเป็นอย่างดี ทั้งสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน สารอาหารที่ต้องการรวมถึงปริมาณน้ำ โรคและแมลงของศัตรูพืชต่างๆ เมื่อเกษตรกรได้รู้จักพืชเป็นอย่างดีแล้ว การจะทำให้ประสบความสำเร็จหรือได้ผลผลิตตามเป้าที่ต้องการนั้นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

