เกษตรกรต้นแบบ

"แรกทำเขาว่าบ้า พอผลผลิตออกมาคว้าไปเลย 5,000 บาทต่อวัน"


คุณนุโชติ สิทธิ
 09 มิถุนายน 2559 4,065
จ.นครศรีธรรมราช
จงกล้าที่จะก้าว เพราะถ้าไม่ลองก้าว ก็จะไม่มีวันรู้เลยว่า หนทางข้างหน้าเป็นอย่างไร

ก่อน Smart Phone จะเกิดขึ้น มาบนโลกนี้ หรือ ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คนไทยเรารู้กันดีว่า ลำไย ลิ้นจี่ นั้นเป็นผลไม้ที่มีปลูกกันมากในเขตภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดลำพูน และยังไม่พบว่ามีการปลูกในภูมิภาคอื่นที่จะให้ผลผลิตดีเทียบเท่าการปลูกในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ที่มีฝนตกฉุกและความหนาวเย็นแทบจะไม่ไปเยือน ยิ่งไม่น่าจะเป็นภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของพืชอย่างลำไยได้เลย เพราะด้วยนิสัยของลำไยนั้นมีความต้องการอุณหภูมิต่ำ 10-22 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาว(พฤศจิกายน-มกราคม) เพื่อสร้างตาดอก ซึ่งในปีที่มีอากาศหนาวเย็นเนิ่นนาน โดยไม่มีอากาศอุ่นแทรก จะทำให้ลำไยออกดอกติดผลดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพอากาศปรวนแปร ประกอบกับมีการใช้นวัตกรรมอื่นๆ เข้ามาใช้ในภาคการเกษตรกันมากขึ้น และมีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เติบโตดีภายใต้สภาพอากาศในบ้านเราขึ้นมาอีกมากมายทำให้ลำไย พืชที่ใครๆ ต่างพากันคิดว่าจะไม่มีวันออกดอกติดผลได้ดีในเขตอื่นที่ไม่ใช่เขตภาคเหนือ กลายเป็นพืชที่สร้างรายได้อย่างงดงามในเขตภาคใต้ปลายด้ามขวาน ณ จ.นครศรีธรรมราช ของไทย ที่ติดลูกดก รสชาติดี ไม่แพ้ลำไยภาคเหนือ ที่ทำเงินให้กับเจ้าของได้วันละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท

ลำไย ทุ่งใหญ่ หวาน หอม อร่อย ปลอดสารพิษ

คุณนุโชติ สิทธิ เกษตรกรวัย 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52 หมู่ 9 บ้านทุ่งนาเมืองชัย ต.ท่ายาง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช อดีตมีอาชีพรับจ้างตัดผมและทำสวนยางพาราเช่นเดียวกับเกษตรกรท่านอื่นๆ ในภาคใต้ ในสมัยที่ยางราคาแพงก็มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่พอยางราคาตก ความเป็นอยู่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับคนอื่น เพราะรายได้หลักๆ ของครอบครัวนั้นมาจากการขายน้ำยาง ยิ่งทำไปนานวันราคายิ่งต่ำลงไม่คุ้มค่าจัดการดูแล และค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็สูงขึ้นทุกวัน จนเมื่อปี พ.ศ.2536 ได้มีคนมาแนะนำให้ลองปลูกลำไยเพราะให้ผลผลิตดีและมีรายได้สูงกว่าการทำสวนยางพารา ตนจึงตัดสินใจโค่นต้นยางบางส่วนออกและปรับพื้นที่ปลูกลำไยพันธุ์อีดอบนพื้นที่ 6 ไร่ จะปลูกได้ ประมาณ 120 ต้น ดูแล รดน้ำปุ๋ย ไปเรื่อยๆ พอเข้าปีที่ 3 ก็เริ่มติดลูก แต่เนื่องจากยังเป็นปีแรก ผลผลิตที่ได้จึงมีไม่มากและมีผลขนาดเล็ก คุณนุโชติ จึงบำรุงรดน้ำใส่ปุ๋ยเต็มที่ โดยเน้นการให้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก จนปีต่อมาพบว่า ลำไยให้ผลดกเต็มต้น ผลโต รสหวานฉ่ำ เนื้อกรอบ เปลือกร่อน ใครได้ชิมเป็นต้องเอ่ยปากชมเปราะว่าอร่อยไม่แพ้ลำไยทางภาคเหนือ

จากคนบ้ากล้าปลูกลำไยท่ามกลางพื้นที่ปลูกยางพารา กลายเป็นแปลงปลูกลำไยรสชาติดี คุณภาพเยี่ยมไม่แพ้ลำไยภาคเหนือ ที่มีผู้คนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจขอเข้ามาเยี่ยมชมสวนกันไม่ขาด และกลายเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จนทำให้ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ด้วยรายได้จากการจำหน่ายลำไยที่ได้มากกว่าวันละ 5,000 บาท

ด้วยการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเปลี่ยนชีวิต

ลุงนุโชติกล่าวว่า การที่ผมริโค่นยางหันมาปลูกลำไยซึ่งเป็นพืชที่ไม่ได้รับความนิยมปลูกในเขตภาคใต้ เพราะเชื่อกันว่าจะไม่ออกดอกติดผล เนื่องจากสภาพอากาศ ของภาคใต้ที่เป็นแบบร้อนชื้นสลับฝนนั้นอาจไม่เอื้อต่อการติดดอก ทำให้ใครๆ ต่างมองว่าผมบ้าที่ปลูกลำไยท่ามกลางความไม่เหมาะสมแบบนี้ "ผมคุ้นเคยกับคำว่าคนบ้าจนชินหู แต่ผมไม่ได้ใส่ใจ ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจทำต่อไป จนกระทั้งลำไยในสวนเริ่มให้ผลผลิตนู่นหล่ะที่ทำให้หลายคนที่เคยดูถูกผมไว้และมองผมว่าบ้า หันมาขอดูงาน เที่ยวชมสวน ชิมลำไยและซื้อลำไยติดมือกลับไปไม่ขาดสาย จนกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปภายในเวลาไม่นาน"

นอกจากนี้คุณนุโชติยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกและการดูแลลำไยแก่ผู้ที่สนใจเพิ่มเติม ดังนี้

การปลูกลำไยตามแบบฉบับคุณนุโชติ :

1.การเตรียมต้นพันธุ์ลำไยก่อนปลูก เพื่อให้กิ่งพันธุ์ลำไยสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมปลูกได้ดีก่อนปลูกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรย้ายต้นพันธุ์ลำไยออกกลางแจ้งภายนอกโรงเรือน

2.มีการตัดแต่งกิ่งยอดอ่อนออกบ้าง เพื่อลดการคายน้ำกรณีที่ใช้ต้นลำไยที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบกิ่งควรตรวจสอบการเชื่อมติดของรอยแผลให้สมบูรณ์ และใช้มีดกรีดพลาสติกพันแผลออกก่อนนำไปปลูก

3.การวัดระยะตำแหน่งของหลุมปลูกลำไย เป็นการกำหนดตำแหน่งของหลุมปลูกลำไย ตามที่กำหนดไว้ในแผนผังของพื้นที่ปลูก การวัดระยะเพื่อกำหนดตำแหน่งหลุมปลูกของลำไยควรได้แนวแถวปลูกที่มองทุกด้านเป็นแนวเส้นตรงในทุกทิศ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการวัดระยะตำแหน่งของหลุมปลูกลำไยเช่น เทปวัด ไม้หลักเล็งแนว ไม้หลักกำหนดจุด เชือก และ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ค้อน จอบ มีด การทำสวนในพื้นที่ขนาดใหญ่อาจใช้กล้องช่วยเล็งแนวเข้ามาช่วยในการวางแนว ก็จะทำให้การปฏิบัติงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น

4.การขุดหลุมปลูกลำไย ขนาดของหลุมปลูกพิจารณาได้จากสภาพโครงสร้างของดิน ถ้าในสภาพพื้นที่ที่มีดินปลูกเป็นดินร่วนและมีความอุดมสมบูรณ์ดี ขนาดของหลุมปลูกอาจเล็กลงได้โดยปกติจะใช้ขนาด 30 X 50 เซนติเมตร การทำสวนลำไยในพื้นที่ขนาดใหญ่การขุดหลุม ปลูกต้องใช้แรงงานจำนวนมากทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง การนำแทรกเตอร์ติดสว่านเจาะดินมาใช้ช่วยในการขุดหลุมจะประหยัดเวลาและแรงงานได้มากกว่า แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในสภาพดินที่ค่อนข้างชื้น

ศึกษาวิธีการปลูกและการดูแลลำไยเพิ่มเติม คลิ๊ก

ศัตรูสำคัญของลำไยช่วงเก็บผลผลิต คือ ค้างคาว ที่จะเข้ามากัดกินผลลำไยให้ได้รับความเสียหาย วิธีป้องกันที่ได้ผลดีและมีต้นทุนไม่มาก ให้ใช้ตาข่ายขนาดตา 2.5-3 ซม. ขึงสูงจากพื้นดินประมาณ 2-3 เมตรหรือความสูงพอๆ กับยอดไม้ ขวางทางบินของค้างคาวหรืออาจใช้ตาข่า ยคลุมทั้งต้นก็ได้

ป้องกันค้างคาวมากัดผลลำไยด้วยตาข่าย

ต้นทุนการผลิต

เริ่มต้นจากการซื้อกิ่งพันธุ์มาจำนวน 20 กิ่งต่อไร่ โดยกิ่งพันธุ์ราคากิ่งละ 35 บาท หากใช้กิ่งพันธุ์ในเนื้อที่ จำนวน 6 ไร่ ต้องใช้กิ่งพันธุ์ทั้งหมด 120 กิ่ง เมื่อรวมค่าปุ๋ย ค่าไฟฟ้า ค่าวางระบบน้ำ ค่าวัสดุอื่นๆ ที่ต้องใช้ในการจัดการสวนลำไยคุณนุโชติบอกตกอยู่ประมาณ 150,000 บาท/ไร่ ระยะเวลาที่ปลูก 6 ปีจึงเก็บเกี่ยวผลลำไยได้ ซึ่งการจัดการดูแลจนกระทั่งเก็บเกี่ยวตลอดฤดูกาลเพาะปลูก(หลังจากต้นเริ่มให้ผลผลิต) จะอยู่ในช่วง ม.ค.-มี.ค. โดยใน 1 ปี คุณนุโชติจะแบ่งการผลิต(การบังคับผลผลิตออกนอกฤดู) ออกช่วงๆ คือ ปีหนึ่งจะทำได้ 3 รอบการผลิต

แผนการตลาด

ลุงนุโชติ จะทำการตลาดเอง คือเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วไปวางขายที่ร้านตัดผมของตนเอง และต่อมาก็นำไปขายที่หน้าบ้านมีคนขับรถผ่านไป-ผ่านมา หมดทุกวัน ไม่พอขาย ลุงจะขายกิโลกรัมละ 50 บาท ต่อมามีการสั่งซื้อเข้ามาและเข้าไปซื้อถึงสวนเอง ลุงนุโชติ จะปลูกลำไยเป็น 3 รุ่น และคิดจะปลูกเพิ่มขึ้นอีก รายได้จะได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท หากรวมเป็นปีที่เก็บเกี่ยวครบ 3 รุ่น ก็จะมีรายรับรุ่นละประมาณ 300,000 บาท

หากเกษตรกรคนใดสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องการปลูกลำไยในพื้นที่ภาคใต้ คุณนุโชติยินดีให้คำปรึกษา หรือ โทรมาสอบถามข้อมูลได้ที่ 089-593-1200

ลำไยแต่ละต้นแต่ละลูก ลุงนุโชติใส่ใจตลอดการเก็บเกี่ยว

บทสรุป/ข้อเสนอแนะ

การปลูกลำไยในภาคใต้ แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกันหากสภาพอากาศแปรปรวนร้อนสลับกับฝนและมีอุณหภูมิที่ไม่แน่นอน ถ้าฝนตกหนักก็จะทำให้ลำไยติดดอก ติดผล ลูกเน่า ต้องอาศัยสภาพอากาศต่อการปลูกด้วย ในส่วนของผลผลิตจะมีปัญหาจำพวกโรคและแมลงกัดกินผลลำไย อีกทั้งพวกค้างคาว หนู กระรอก สัตว์ที่ชอบความหวาน แต่ทุกวันนี้ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งการปลูกให้ได้ผลดีนั้นต้องอาศัยความเอาใจใส่ ต้องมีต้นทุนและความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีตลอดจนการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด จึงจะประสบความสำเร็จและไม่ต้องกลัวว่าใครจะคิดยังไงเรามั่นใจในสิ่งที่เราทำ ผลที่ออกมามักจะประสบความสำเร็จกันเสมอ

เรื่อง/ภาพโดย: นงลักษณ์ สุวรรณพันธ์ จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.นครศรีธรรมราช