เกษตรกรต้นแบบ

"ปลูกข้าวก็รวยได้"


คุณบุญเรือน ทองจำรัส
 08 เมษายน 2559 2,317
จ.นครศรีธรรมราช
ชีวิตที่ไในอดีตชาวนาทางภาคใต้ใช้แกะเก็บข้าวทีละรวง เอามาผูกมัดกันเป็น "เรียง" ที่เรียกว่า "เรียงข้าว"เพื่อคัดเลือกข้าวทีละรวงเก็บไว้ปลูกทำพันธุ์

ที่ตำบลดอนตรอ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเกษตรกรทำนา ที่มักจะพูดกับตัวเองและคนอื่นๆ เสมอว่า "ปลูกข้าวก็รวยได้" เป็นเกษตกรที่มีความคิดสร้างสรรค์และริเริ่มปรับปรุงวิธีการทำนาให้เหมาะสมกับสภาพนา โดยเปลี่ยนจากนาเคมีมาเป็นนาข้าวอินทรีย์ โดยใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพราะข้าวพวกนี้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของภาคใต้ และปลูกข้าวเพื่อสุขภาพ ปลูกข้าวเป็นยา อีกทั้งการเก็บเกี่ยวก็ใช้แกะเก็บทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ไม่มีข้าวอื่นมาปนและนำไปแปรรูปก็ได้ข้าวที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำข้าวมาแปรรูปเป็น สบู่จากจมูกข้าว และนำข้าวมาแพ็คสูญญากาศ ตลาดนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะขายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง รวยเร็วด้วยเทคโนโลยี และการจัดการต้นทุน รวมถึงการจัดการด้านการตลาด จนมีรายได้เข้ามาทุกวัน

ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน

นางบุญเรือน ทองจำรัส อายุ 56 ปี ครอบครัวจากภาคใต้ อยู่บ้านเลขที่ 85 หมู่ 5 ต.ดอนตรอ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช เป็นทายาทลูกชาวนารุ่นที่ 4 บรรพบุรุษทำนามาแล้ว 150 ปี นางบุญเรือนทำนาอยู่ 34 ไร่ เล่าว่า เมื่อก่อนตนได้ทำนาในฤดูนาปีอย่างเดียวและใช้สารเคมีในการทำนาจึงใช้ต้นทุนสูง และได้มีอาชีพเสริมเป็นคนขับรถแม็คโครจ้าง ซึ่งมีรายได้ต่อวันไม่กี่ร้อยบาท และได้หันมาทำนาปีละสองครั้ง โดยใช้วิธีการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น และได้มีแนวคิดนำข้าวที่ปลูกมาแปรรูปส่งขายเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และได้จัดตั้งกลุ่มข้าวอินทรีย์ครบวงจร และมีรายได้เข้ามาทุกวัน

นางบุญเรือน ทองจำรัส เล่าว่า ได้ใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ปลูกข้าวสังข์หยดในฤดูนาปี และปลูกข้าวหอมปทุมธานีในนาปรัง เนื่องจากข้าวพื้นเมืองอายุ 150 วัน จึงต้องปลูกก่อนปทุมธานี 1 เดือน เพื่อให้เก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน เพื่อเลี่ยงปัญหานกหนูทำลาย ส่วนน้ำใช้น้ำชลประทานที่มีแหล่งน้ำจากลำคลอง เน้นใช้ใช้แรงงานครอบครัวเป็นหลัก ตลอดระยะเวลาที่ทำนาเพื่อลดต้นทุน หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ป้าบุญเรือน ได้แบ่งข้าวเป็น 2 ส่วน 1.เก็บไว้กินเองในครอบครัว 2.นำไปจำหน่าย /แปรรูปเป็นสบู่ และแพ็คสูญญากาศเพื่อส่งจำหน่าย

ข้าวสามารถทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนได้

นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุนการทำนาด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยแกะ การทำปุ๋ยอินทรีย์อะตอมมิคนาโน การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในแปลงนา และมีการเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่บุคคลที่สนใจ โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านยางยวน ตำบลดอนตรอ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนในหมู่บ้าน และนักเรียน นักศึกษา เกษตรกรที่สนใจ โดยมีป้าบุญเรือน และสมาชิกคนอื่นๆในกลุ่ม เป็นวิทยากร ทั้งหมดนี้ทางกลุ่มหวังเพียงว่าฯชาวนาจะมีวิถีชีวิตที่มั่นคง มีสุขภาพดี และสุดท้ายคนกินข้าวได้ทานข้าวที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ในอดีตชาวนาทางภาคใต้ใช้แกะเก็บข้าวทีละรวง เอามาผูกมัดกันเป็น "เรียง" ที่เรียกว่า "เรียงข้าว"เพื่อคัดเลือกข้าวทีละรวงเก็บไว้ปลูกทำพันธุ์ การเก็บข้าวด้วยแกะต้องใช้เวลาและแรงคน โดย 1 ไร่ หากเก็บเพียง 1 คนจะใช้เวลาในการเก็บ 1 สัปดาห์ จึงมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว

การเก็บข้าวด้วยแกะ

ปัจจุบันหาชาวนาที่เก็บข้าวด้วยแกะได้น้อยลง แต่ของป้าบุญเรือน ยังรวมกลุ่มกันลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยแกะตลอดมา จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนในชุมชนและผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน

ต้นทุนการผลิต

ด้านต้นทุนการผลิต ป้าบุญเรือน บอกว่า ต้นทุนแทบไม่มี เพราะทุกอย่างทำเองทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว การเตรียมดินการหว่านข้าว ปุ๋ยที่ใช้ก็ใช้จากธรรมชาติ ซึ่งทำมาจากหอยเชอรี่ ซึ่งสามารถทำได้เอง และการเก็บเกี่ยวข้าว ก็ใช้วิธีการลงแขกลงเก็บข้าวโดยใช้แกะ การเก็บข้าวโดยวิธีการใช้แกะนี้ ทำให้ได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ สามารถนำมาแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย

แผนการตลาด

ด้านการตลาดนั้น ได้โปรโมทผลผลิตของข้าวผ่านระบบโซเชียลมีเดียและได้จัดส่งสินค้าตามตลาดเองและร้านค้าภายในอำเภอและนอกอำเภอ จะจัดส่งกับหน่วยงานราชการต่างๆ และหากมีประชุมกันที่ไหนก็นำผลิตภัณฑ์ไปขายด้วย ขายผลิตภัณฑ์จากข้าว ข้าวแพ็คสูญญากาศราคา 50 บาท/กก. น้ำจมูกข้าวเพื่อสุขภาพราคา 10 บาท/ขวด สบู่จากจมูกข้าวราคา 20 บาท/ก้อน เป็นรายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท/เดือน คิดเป็นปีก็ประมาณ 200,000 บาท/ปี

ผลิตภัณฑ์และรางวัล ที่ป้าบุญเรือนใส่ใจอยู่ตลอดเวลา

บทสรุป/ข้อเสนอแนะ

ข้าวสังหยดเป็นข้าวเจ้า เป็นข้าวนาปีที่สามารถปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง เป็นข้าวที่ปลูกยาก มีความไวต่อแสงน้อย จะออกดอกในช่วงที่รับแสงได้ 11 ชม. 45 นาที/วัน ข้าวสังหยดควรปลูกในช่วงเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม ของทุกปี เพราะในช่วงนี้ภาคใต้อยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีแสงแดดน้อยจึงสามารถปลูกข้าวสังหยดได้ผลดีที่สุด ป้าบุญเรือนใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 8 กก.ต่อไร่ ทำให้ได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ เนื่องจากข้าวที่ปลูกจะได้ไม่แน่นเกินไป ข้าวสังหยด มีลักษณะเมล็ดเรียวยาว เปลือกสีฟาง รสชาติ นุ่ม มัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงที่อุดมไปด้วย ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และไนอาซีน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ป้าบุญเรือนทำก็คือ การเก็บข้าวกับแกะ ซึ่งจะไม่มีเมล็ดข้าวอื่นปนมา จึงส่งผลให้ได้พันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์และมีคุณภาพด้วย

เรื่อง/ภาพโดย: สิทธิโชค กุลสุข จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.นครศรีธรรมราช