

"ลูกชาวนาก็รวยได้"
คุณปัญญา สร้อยเขียว
ทุ่งนาข้าวที่เขียวขจี พร้อมที่จะกลายเป็นทุ่งรวงทอง นึกภาพแล้วก็จะมีความสุขมากมายจริงๆยืนอยู่บนทุ่งนากว้าง ลองนึกดูสิว่าจะมีความสุขขนาดไหน ที่นี่ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ที่ยังมีการทำนาข้าวอยู่ในปัจจุบัน มีผลผลิตผลิตไว้รับประทานเองด้วย และก็มีไว้พร้อมจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านนี้หลายๆครัวเรือน ได้ด้วยเช่นกัน ท้องทุ่งนากว้างที่บรรพบุรุษสร้างไว้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับลูกหลานได้มาก รวมทั้งครอบครัวของผมด้วยเช่นเดียวกัน
คุณปัญญา สร้อยเขียว ชาวนาในวัย 61 ปี(ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ส.อบต.ธงชัย) อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 8 ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบางสะพานใหญ่ ตำบลธงชัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมรสกับคุณนวลจันทร์ สุขหอม มีบุตรสาว 2 คน คุณปัญญาเลี้ยงดูครอบครัวด้วยอาชีพทำนา ส่วนภรรยาก็เปิดร้านขายของชำอยู่ที่บ้าน เมื่อถึงฤดูกาลทำนาก็มาช่วยกัน และด้วยความที่มีคนรักและนับถือเป็นแบบอย่างเรื่องการทำนา ทำเกษตร ชอบช่วยเหลือสังคม ก็ได้มีโอกาสเป็น ส.อบต.ธงชัย ณ ปัจจุบันนี้ด้วย
ตื่นเช้าแต่ละวัน หลังเสร็จภารกิจส่วนตัว ก็คว้ามอเตอร์ไซด์คู่กายขับไปทุ่งนาที่หล่อเลี้ยงชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นช่วงพักฤดูกาลทำนาก็บำรุงดินในนาด้วยการปลูกปอเทือง เรื่องแมลงหรือโรคศัตรูข้าวก็จะมีพบบ้างเล็กน้อยแต่ก็สามารถควบคุมได้เพราะพยายามศึกษาข้อมูลการทำน้ำหมักต่างๆเพื่อช่วยป้องกันโรคและแมลงมาทำลายนาข้าว ปัญหาหลักจริงๆที่เกษตรกรชาวนาต้องหวั่นวิตก คือ ราคาข้าว เพราะในแต่ละปีราคาข้าวก็มีขึ้นมีลง ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ยังจำหน่ายได้ราคาแต่กำไรอาจจะน้อยบ้างในบางปี แต่สิ่งที่เกษตรกรสามารถควบคุมได้คือการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ต่างๆ สิ่้งใดที่ทำเองได้ต้องทำ นั่นคือสิ่งที่เราควบคุมเองได้ และเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน
รายได้ที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละปีราคาข้าวจะถูกหรือแพง แต่ก็ยังสืบต่ออาชีพการทำนาเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดีตลอดมา ทรัพย์สินทุกอย่างที่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยหลักแล้วมาจากรายได้ในการทำนาทั้งสิ้น ความสำเร็จถูกถ่ายทอดให้เห็นกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อผมเห็นบรรพบุรุษของผมทำมาแล้วได้รับความสำเร็จ ผมจึงลงมือทำจริง

ลดต้นทุน อะไรทำแล้วดี ต้องทำ
สูตรปุ๋ยปลาใช้บำรุงข้าว :
1. ปลาสด จำนวน 30 กิโลกรัม
2. พืชผักสด จำนวน 20 กิโลกรัม (เปลือกแตงโม เปลือกสับปะรด อื่นๆ)
3. กากน้ำตาล จำนวน 20 ลิตร
4. พด.2 จำนวน 2 ซอง (ผสมน้ำเปล่า 5 ลิตร)
5. น้ำเปล่า จำนวน 30 ลิตร
ทำนาปีละ 1 ครั้ง
ต้นทุนแรงงาน : จ้างรถ ค่าตัดข้าว ไร่ละ 800*30ไร่ รวม 24,000 บาท ส่วนด้านอื่นๆจะทำเองทั้งหมดใช้แรงงานจากสมาชิกภายในครอบครัว
ต้นทุนค่าเช่านา : เช่านา 10 ไร่ ได้ผลผลิต 600 ถัง คิดค่าเช่าอัตรา 100 ถัง จ่าย 20 ถัง ถ้า 600 ถัง ก็จ่ายข้าวไป 120 ถัง
ต้นทุนปุ๋ย-ยา : ต้นทุนค่าปุ๋ยชีวภาพประมาณ 8,000 บาท ต่อปี และก็จะมีทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพใช้เองเพื่อลดต้นทุนด้วยเช่นกัน
ต้นทุนด้านพันธุ์ข้าว : ซื้อพันธุ์ข้าวกิโลกรัมละ 25 บาท ใช้ทั้งหมด 500 กิโลกรัม รวมเป็นเงิน 12,500 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งปี : ประมาณ 44,500 บาท
ปัจจุบันผลผลิตข้าวที่ได้จะได้ปีละ ประมาณ 15 ตัน จำหน่ายตันละ 13,000 -15,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 19,500- 22,500 บาท แต่ละปีจะมีลูกค้าประจำที่มารับซื้อจากจังหวัดชุมพร และส่วนหนึ่งจะเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านที่ไม่ได้ทำนา มาขอซื้อไปรับประทานเพราะข้าวที่นี่เน้นปลอดสารพิษ ดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ จำหน่ายให้ชาวบ้านข้าวเปลือกราคาถังละ 150 บาท รับรองกินแล้วสบายใจปลอดสารพิษ ผลิตได้เท่าไหร่นอกจากแบ่งไว้กินเองแล้ว ที่เหลือก็ขายได้หมดทุกปี
1.การทำนาข้าว ปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำ ที่ต้องใช้ในการทำนาการจัดการน้ำ การดูแลระบบน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ อย่างเช่นถ้าอยู่ในช่วงที่ต้องปล่อยน้ำให้อยู่ในนาข้าวต้องพยายามให้น้ำขังกอข้าวให้ครบตามกำหนด และต้องพยายามดูรูรั่วปิดรูรั่วภายในนา ตามคันนาให้หมด
2.ถ้าต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีในปีต่อไป หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้วให้เก็บพันธุ์ข้าวบรรจุในกระสอบป่านมัดเก็บให้เรียบร้อย และนำกระสอบที่จะใช้เป็นเมล็ดพันธุ์วางแยกต่างห่างกับกระสอบข้าวอื่นๆ ห้ามวางทับซ้อนกัน ด้วยวิธีการนี้จะช่วยให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เมล็ดใหญ่สมบูรณ์ได้คุณภาพข้าวที่ดี
การทำสิ่งใดต้องอดทน ทำนาเพียงอย่างเดียวก็อยู่ได้ ทำนาแล้วก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าสำเร็จ เพียงแต่เราต้องศึกษาและลงมือทำจริง พร้อมใจรัก มันก็เพียงพอแล้วที่จะร่ำรวยความสำเร็จ ผมเชื่ออย่างนั้น

