เกษตรกรต้นแบบ

"ปลาส้มสายเดี่ยว ของดีจังหวัดหนองบัวลำภู"


คุณหนูเพียร เมฆวัน
 24 พฤษภาคม 2559 6,538
จ.หนองบัวลำภู
การแปรรูปวัตถุดิบในชุมชน สามารถส่งเสริมอาชีพ เกิดการหนุมเวียนรายได้ เกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน

มารู้จักอีกหนึ่งช่องทางอาชีพน่าสนใจ โดยมองหาวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เกษตรกร บ้านห้วยบง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ตั้งอยู่ใกล้เขื่อนอุบลรัตน์ แหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงหันมาจับปลา รับซื้อปลา นำมาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายเลี้ยงครอบครัว

ความภาคภูมิใจและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

นางหนูเพียร เมฆวัน อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 5 บ้านห้วยบง ตำบลโนนเมือง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู หนึ่งในเกษตรกรที่หันมาเอาดีในการนำปลามาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่าย เช่น ส้มปลาตัว ส้มปลาสายเดี่ยว หม่ำปลา ปลาแดดเดียว หม่ำไข่ปลา ส้มปลาตอง โดยเฉพาะ ส้มปลาสายเดี่ยว เมนูถูกปากที่ผู้บริโภคต่างพูดถึงอย่างมากมาย เป็นสินค้ายอดนิยมของร้าน ทำให้มีรายได้หมุนเวียน เฉลี่ยสูงถึงวันละ 1,000-1,500 บาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพเส้นทางรวยที่น่าสนใจ

นางหนูเพียร เล่าว่าเดิมมีอาชีพทำนา เมื่อปี พ.ศ.2546 เจ้าหน้าที่จากเขื่อนอุบลรัตน์ เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยการแปรรูปปลาเป็นสินค้าเพราะในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่จำนวนมาก และส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพหาปลาจับขาย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ตั้งใจศึกษาหาความรู้ จึงตัดสินใจลงทุนรับซื้อปลาตะเพียน,นวลจันทร์ วัตถุดิบหลักที่มีอยู่ในพื้นที่นำมาแปรรูปอีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาจับขาย ทำให้เกิดการหนุมเวียนรายได้เกื้อกูลกันในชุมชน

มีรายได้สร้างความสุขและรอยยิ้ม

ปัจจุบันสินค้าผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัลทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มาแล้วมากมาย ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองให้งบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาการแปรรูปจากปลาอย่างต่อเนื่อง จนมีสินค้าเพิ่มอีกหลายรายการ เช่น ส้มปลาตัว ส้มปลาสายเดี่ยว หม่ำปลา ปลาแดดเดียว หม่ำไข่ปลา ส้มปลาตองจนมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เนื้อปลาที่บดเพื่อรอผลิตไปแปรรูปปลา

ขั้นตอนการทำส้มปลาตัว :

ขอดเกล็ดปลาและควักไส้ออกให้หมด แล้วบั้งปลาข้างละสี่ห้าบั้งหรือตามต้องการถ้าปลาตัวใหญ่ตัดปลาเป็นสองท่อน แล้วล้างให้สะอาด นำกระเทียมเกลือน้ำตาลข้าวสุกนำไปคลุกกับปลา นวดให้เข้ากัน นำปลาที่ได้ใส่ถุงพลาสติกปิดให้แน่น ทิ้งไว้ 3 วัน หรือจนกระทั่งปลามีรสเปรี้ยวจึงนำออกทอดได้ การใส่กระเทียมเยอะ ๆ จะช่วยทำให้กลิ่นปลาหอม และมีความคาวลดลง

ต้นทุนการผลิต

ด้านต้นทุนการผลิต หากซื้อปลาและอุปกรณ์มาทำเอง จะมีค่าใช้จ่ายในการแปรรูปปลา ที่ขาดไม่ได้ คือ เครื่องบดปลาขนาดเล็ก 1 เครื่อง ราคา 25,000 กะละมัง 3 ใบ ราคา 600 บาท มีด 5 ด้าม ราคา 200 บาท ตราชั่ง 1 ตัว ราคา 500 บาท/ตัว ข้าวเหนียว 1 กระสอบ 50 กิโลกรัม 550 บาท กระเทียม 100 กิโลกรัม 3,500 บาท เกลือ 300 กิโลกรัม 2,000 บาท น้ำตาล 300 กิโลกรัม 4,500 บาท ปลาตะเพียนปลา, นวลจันทร์ เดือนละ 100 กิโลกรัม ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อรวมค่าใช้จ่ายเริ่มแรกในการแปรรูปปลาราวๆ 38,350 บาท ซึ่งการลงทุนในเดือนแรกอาจมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อทำการแปรรูปปลาไปได้สัก 4 เดือน ก็จะเริ่มคืนทุนและมองเห็นกำไรได้เลย

แผนการตลาด

ด้านการตลาดนั้น ได้นำปลาที่แปรรูปไปจำหน่ายตามงาน OTOP งานประจำปี และวางขายตามตลาดแถวบ้าน ลูกค้าที่ซื้อไปก็บอกปากต่อปาก จนกระทั่งมีลูกค้าประจำ มีพ่อค้าคนกลางมาสั่งและเข้ามารับสินค้าเองเพื่อนำไปจำหน่าย ในการจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลาง จะขายให้ราคาส่ง ถูกกว่าราคาขายปลีก อยู่หน่วยละ 5 บาท นอกจากนี้มีการจำหน่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เป็นอีกช่องหนึ่งที่มียอดสั่งซื้อจากลูกค้าจำนวน ทำให้มีรายได้เข้าทุกวัน ถ้าคิดคำนวณยอดขายต่อเดือน หักค่าใช่จ่ายคงเหลือเป็นกำไรไม่ต่ำกว่า 35,000 บาท/เดือน

บรรจุในถังที่มีความเย็นเพื่อเพิ่มความสดให้เนื้อปลาที่รอการแปรรูป

บทสรุป/ข้อเสนอแนะ

จากที่เราซื้อปลามานั้นไม่ใช่จะสดได้ตลอดทั้งวัน ต้องหาวิธีการทำให้ปลาสดและเก็บไว้ได้นาน แต่ละคนนั้นจะมีวิธีที่ไม่เหมือนกัน นางหนูเพียร เล่าเคล็ดลับให้ฟังว่า ควรเลือกปลาที่ชาวบ้านนำมาขาย จะต้องเป็นปลาที่สด เหงือกแดง ตาใสไม่ขุ่น ท้องปลาจะต้องไม่พอง จากนั้นต้องทำความสะอาดไม่ให้เหลือสิ่งตกค้างที่ตัวปลา (ขอดเกร็ด,ควักใส้,ตัดหัว,ตัดหาง) ไม่ให้มีเกร็ดตกค้างที่ตัวปลา และไม่มีเครื่องในหลงเหลือในท้องปลา สำหรับวิธีการล้างทำความสะอาดปลา นางหนูเพียร เล่าต่อว่า มีเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆสำหรับการล้างปลา นั่นก็คือ การล้างปลาด้วยสารส้ม ง่ายๆ เพียงนำปลามาล้างน้ำที่แช่สารส้มล้างให้ทั่วตัวปลา 1 ครั้ง เพื่อลดกลิ่นคาวในปลา จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 4 ครั้ง จนน้ำใสแล้วนำบรรจุใส่ถุงพลาสติกที่สะอาดนำไปแช่ในถังน้ำแข็ง น้ำแข็งจะต้องกลบปลาทั้งหมด สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-4 วันเพื่อรอการผลิต ปลาที่แช่น้ำแข็งนั้นเนื้อปลาจะไม่เหลวเน่า เนื้อจะแดงตลอดเวลา ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า ตัวปลาจะแข็งนำไปแปรรูปได้ง่ายและไม่เกิดการบูดเสียของปลาส้มที่สำคัญปลาจะคงสภาพมีสีสดอยู่

ปลาส้มสายเดี่ยวของดีจังหวัดหนองบัวลำภู
เรื่อง/ภาพโดย: ชยาภัสร์ แสงมี จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น