

"ทำนาอย่างไร ให้มีเงินเข้ากระเป๋าเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท"
คุณวารินทร์ สังข์ปล้อง
เติบโตขึ้นมาก็เห็นท้องทุ่งนากว้างไกล ภาพพ่อ แม่ ปู่ยา ตายาย บรรพบุรุษ มีอาชีพทำนากันอยู่แล้ว เพราะที่นี่คือดินแดนแห่งการทำนาข้าว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีกับ พันธุ์ข้าวหอมไชยา มีคำพูดติดปากที่ว่า เมื่อข้าวออกรวง มีกลิ่นหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุง การทำข้าวหอม ในพื้นที่ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้นเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวเยอะที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใครผ่านไปผ่านมาที่อำเภอไชยา จะเห็นท้องทุ่งนากว้างไกล หนึ่งในนั้นก็มีของผมด้วยเช่นกัน
คุณวารินทร์ สังข์ปล้อง ชาวนาวัย 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 65/1 หมู่ 5 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดรัตนาราม ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมรสกับคุณนิภา สังข์ปล้อง อายุ 55 ปี ไม่มีบุตรด้วยกัน ซึ่งทั้งสองคนเติบโตในครอบครัวชาวนา ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นภาพพ่อ แม่ ปู่ยา ตายาย มีอาชีพทำนากันอยู่แล้ว เพราะที่อำเภอไชยาแห่งนี้มีชื่อเสียงในการทำนามาตั้งแต่โบราณ จัดเป็นพื้นที่ที่มีการทำนาข้าวมากที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงทุกวันนี้ก็ยังทำนาข้าวกันอยู่ ซึ่งข้าวที่นี่มีชื่อเสียงกระฉ่อนเฉพาะตัวว่า "ข้าวหอมไชยา" ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขมาก กับการทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้แก่อาชีพทำนา บนพื้นที่ 20 ไร่ ถึงแม้จะเป็นนาเช่าก็มีความสุข ไม่ได้คิดอะไรมากมาย ร่วมแรงร่วมใจกันทำสองคนภรรยาก็มีกินมีใช้ได้แบบยั่งยืน เพราะไม่มีหนี้สินใดๆ ถึงฤดูการทำนา ก็ทำกันไปตามปกติ แค่นี้ก็มีความสุขที่สุดแล้ว
แม้จะมีความรู้น้อยจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเราตั้งใจ มั่นใจ มุ่งมั่นและเชื่อมั่นว่าต้องสำเร็จ เหมือนที่ผมพิสูจน์มาแล้วจนถึงทุกวันนี้ ความสำเร็จทุกอย่างระหว่างทางก็อาจจะมีปัญหามีอุปสรรคกันบ้าง อย่างอาชีพทำนาของผมก็เช่นกัน เรื่องแมลงศัตรูข้าวไม่ค่อยจะเจอสักเท่าไหร่เพราะพยายามศึกษาหาความรู้มาทำน้ำหมักบ้างปุ๋ยหมักบ้าง เพื่อนำมาใช้ป้องกันแมลงศัตรูข้าวมารบกวน แต่ปัญหาใหญ่ที่เจอก็คือปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาที่หนีไม่พ้นก็ว่าได้
สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จที่คุณวารินทร์ใช้ในการผลิตข้าวแบรนด์ "ลุงริน" จนขายดิบขายดี มีเท่าไหร่ก็หมดนั้น อยู่ที่การลดต้นทุน เน้นใช้สารอินทรีย์ แทนสารเคมี และใช้ปุ๋ยสูตรหอยเชอร์รีบำรุงต้นข้าวให้มีความแข็งแรง ออกรวงดี รวงใหญ่ ได้น้ำหนักดี ดังนี้
สูตรปุ๋ยหอยเชอร์รีบำรุงต้นข้าวให้มีความแข็งแรง ออกรวงดี รวงใหญ่ ได้น้ำหนักดี :
1.หอยเชอรี่สดทุบละเอียด จำนวน 30 กิโลกรัม
2.มูลสัตว์อะไรก็ได้ ตากแห้ง จำนวน 5 กิโลกรัม
3.กากน้ำตาล จำนวน 10 กิโลกรัม
4.พด.1 จำนวน 1 ซอง
5.น้ำเปล่า จำนวน 10 ลิตร
วิธีการทำ : หมักทุกอย่างรวมกันนาน 2 เดือน ก็สามารถนำไปใช้งานได้ ในอัตราน้ำหมัก 1 ลิตร/ต่อน้ำ 50 ลิตร ฉีดพ่นนาข้าว เดือนละ 1 ครั้ง ไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต
ในปี พ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมทั่วประเทศนั้นถือว่าหนักหนาสุดแล้ว ช่วงนั้นแย่มาก เพราะนาข้าวเสียหายหนัก แต่ด้วยแรงใจที่ยังไม่หมด จึงค่อยๆ ฟื้นฟูนาข้าวมาได้ส่วนปัญภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา จะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ จึงไม่หนักหนามาก ซึ่งปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งที่ทำให้ฮึดสู้ และสู้มาจนมีทุกอย่างในวันนี้

อะไรที่ทำเองได้ เราต้องทำ เพื่อลดต้นทุน
**คิดจากการทำนาปีละ 2 ครั้ง
ต้นทุนแรงงาน : จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายตอนไถนาไร่ละ 700 บาท ทั้งหมด 20 ไร่ รวมเป็น 14,000 บาท ค่าแรงเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท ทั้งหมด 20 ไร่ รวมเป็น 12,000 บาท /ต่อครั้ง
ต้นทุนค่าเช่านา : จะมีค่าใช้จ่ายไร่ละ 500 บาท ทั้งหมด 20 ไร่ รวมเป็น 10,000 บาท /ต่อครั้ง
ต้นทุนค่าปุ๋ย-ยา : จะมีค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ยกระสอบละ 600 บาท /ต่อไร่ ทั้งหมด 20 ไร่ รวมเป็น 12,000 บาท/ต่อครั้ง
ต้นทุนด้านพันธุ์ข้าว : จะมีค่าใช้จ่ายพันธุ์ข้าว 1 ไร่/15 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 15 บาท รวมเป็น 4,500 บาท/ต่อครั้ง
รวมเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาตลอดปี(2 ครั้ง)ประมาณ 105,000 บาท
ปัจจุบันมีการจำหน่ายข้าวตราลุงริน ผ่านออกบูธประจำกับกิจกรรมธงฟ้าของจังหวัด และออกบูธตามงานกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัด ออกบูธตามตลาดนัด นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจำหน่ายจากหลายพื้นที่นำไปจำหน่ายตามห้างดังต่างๆ ปัจจุบันมียอดขายอยู่ที่เดือนละ 2 - 4 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท/ต่อเดือน และ 600,000 บาทต่อปี ทำนาปีละ 2 ครั้ง พันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่ปัจจุบันจะเป็นข้าวไรซ์เบอรี่ กับ ข้าวหอมมะลิ 105 ได้ข้าวปีละ 24 ตัน และการจำหน่ายส่วนใหญ่จะบรรจุถุงติดตราเรียบร้อยถุงละ 1 กิโลกรัม/80 บาท พูดได้คำเดียวว่า นี่แหละคือความภาคภูมิใจในอาชีพทำนาของครอบครัวผม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวเพื่อสุขภาพ ที่ผู้บริโภคนิยมหันมารับประทานเพื่อประโยชน์ของสุขภาพ สำหรับผมก็ปลูกและดูแลตามขั้นตอน จึงไม่ยากมากในการปลูก เพราะข้าวเหล่านี้มีความทนโรคและแมลงได้ดี เคล็ดไม่ลับในการดูแลนาข้าวของผมต้องดูแลระบบน้ำตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือหลังจากที่หว่านเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว 10 วัน เมื่อน้ำในนาข้าวแห้งหมดแล้ว ก็ไม่ต้องใส่น้ำเข้านาเพิ่มในเวลานั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ เพื่อแสงแดดจะได้ส่องลึกถึงรากถึงลำต้นของข้าวช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ต้นข้าวได้เป็นอย่างดี จนครบระยะเวลา 10 วัน ก็ปล่อยน้ำเข้านาได้ตามปกติ

