เกษตรกรต้นแบบ

"ฟาร์มหมูหลุม...ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน ต้นทุนไม่สูง กลิ่นเหม็นไม่มี เลี้ยงปีเดียว คืนทุน"


คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี
 13 มีนาคม 2561 43,214
จ.ราชบุรี
เดินตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง

ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวัน ไม่มีน้ำเน่าเสีย แม้จะเลี้ยงหมูเป็นร้อยๆตัว ต้นทุนต่ำ กำไรดี เลี้ยงง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย หมูหลุม ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรยุคนี้ สุพจน์ สิงห์โตศรี กล่าวต่ออีกว่า การเลี้ยงหมูหลุมนี่แหละคือความยั่งยืน มั่นคงของเกษตรกรโดยแท้ นอกจากนี้หมูหลุม ยังเป็นทางเลือกที่ดีของผู้บริโภคที่จะได้บริโภคเนื้อหมูสะอาดปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดงร้อยเปอร์เซนต์ ที่สำคัญระบบนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะการเลี้ยงหมูหลุม เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ เน้นการใช้วัสดุจากท้องถิ่นตามธรรมชาติ ที่หาง่าย การเลี้ยงหมูหลุม นอกเหนือจากขายเนื้อแล้ว ยังสามารถผลิตปุ๋ยคอกจากมูลหมูขายได้อีกด้วย

สุพจน์ สิงห์โตศรี อยู่บ้านเลขที่ 95/1 หมู่ 9 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จบการศึกษาสูงสุดประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาเกษตรกรรม ปวส. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดราชบุรี เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า กว่าจะมาเป็นเจ้าของฟาร์มหมูหลุมได้นั้น เริ่มต้นมาจากความไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหมูหลุมคืออะไร รู้เพียงแต่ว่า การเลี้ยงหมูวิธีนี้ ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวันชุกชุม ไม่มีน้ำเน่าเสียเลย ซึ่งแตกต่างกับการเลี้ยงหมูระบบฟาร์มที่เคยเลี้ยง เพราะก่อนหน้านี้ คุณสุพจน์ เคยเป็นนักสัตวบาลประจำฟาร์ม ทำงานในฟาร์มหมูมากว่า 2 ปี ทุกๆเช้าจะต้องเข้าฟาร์มไปตรวจเช็คหมู หากพบหมูตัวไหนป่วยก็จะต้องทำการรักษา ฉีดยา ตลอดระยะเวลา2ปีที่ทำงาน สิ่งที่ต้องพบเจอทุกวัน มีอยู่ 2-3 เรื่อง หลักๆเลยก็เรื่องสุขภาพของหมู ที่ต้องคอย ให้วัคซีน คอยฉีดยา ส่วนอีกอีกเรื่อง ก็จะเป็นเรื่องของกลิ่น แมลงวัน น้ำเน่าเสีย ที่ต้องคอยหาวิธีจัดการแก้ไขกันอยู่ตลอด กระทั่งปี 2549 สุพจน์ สิงห์โตศรี ได้รู้จักกับคำว่าหมูหลุม ก็แปลกใจว่าหมูหลุม คืออะไร เลี้ยงยังไง เลี้ยงยากไหม แต่ด้วยความสนใจอยากเป็นเกษตรกรและชอบเลี้ยงหมูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าจะเลี้ยงหมูหลุม ทั้งๆที่ยังไม่มีความรู้นี่แหละ เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงหมูหลุม คุณสุพจน์จึงไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์โชคชัย สารากิจ ที่ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนายั่งยืน จ.เชียงราย

อาจารย์โชคชัย เป็นผู้ริเริ่มนำหลักการเลี้ยงหมูหลุมเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเป็นคนแรกๆเลย คุณสุพจน์ ให้ข้อมูลต่อว่า การเลี้ยงหมูหลุม มีหลักการและขั้นตอนการเลี้ยงที่ง่ายกว่าการเลี้ยงหมูในระบบฟาร์มมาก เพราะหมูหลุม เป็นการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ เน้นใช้วัสดุต่างๆตามธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่างๆ มาทำเป็นอาหารหมักเลี้ยงหมูหลุมได้ ทำให้หมูที่เลี้ยงได้ไม่มีไขมัน เนื้อแดงเยอะ และไม่มีสารเคมีตกค้าง เพราะการเลี้ยงหมูหลุมนี้ แทบไม่ต้องใช้ยาฉีดเลย ประหยัดต้นทุนได้มาก นอกจากนี้ การเลี้ยงหมูหลุม ยังทำให้ได้ปุ๋ยหมักชั้นดีจากขี้หมูที่อยู่ในหลุม ซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้จากขี้หมูในหลุมสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยใส่พืช ผัก ต่างๆได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากกลับมาจากเชียงราย คุณสุพจน์ ก็ลงมือเลี้ยงหมูหลุม โดยทดลองเลี้ยงหมูหลุม 100 ตัวก่อน

กว่า 7 ปีที่คุณสุพจน์ ผันตัวเองมาเลี้ยงหมูหลุมอย่างจริงจัง คุณสุพจน์ บอกถึงข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุม จากที่ได้สัมผัสมาเองเลยว่า การเลี้ยงหมูหลุม ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของขี้หมู แมลงวันไม่มี น้ำเสียไม่มี แล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และที่ดีไปกว่านั้นอีก คือ การเลี้ยงหมูหลุมไม่ต้องใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะไม่มีการตัดเขี้ยว ไม่ตัดหาง เนื้อหมูที่ได้จึงปลอดภัยจากสารพิษ ไม่มีกลิ่นเหม็นคาว สามารถอยู่ในอุณหภูมิปกติได้นานเกิน12ชั่วโมง โดยเนื้อไม่เขียว ช้ำ เพราะเนื้อหมูไม่ได้สัมผัสสารเคมีเลย

ส่วนพันธุ์หมูที่เลี้ยง คุณสุพจน์จะใช้อยู่ประมาณ 3 พันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับที่ใช้เลี้ยงในระบบฟาร์ม คือ

1. พันธุ์ดูร็อกเจอร์ซี่ เจริญเติบโตดี เนื้อมาก แข็งแรง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี แต่เลี้ยงลูกไม่เก่ง เหมาะสำหรับใช้เป็นพ่อพันธุ์

2. พันธุ์แลนด์เรซ หูปรก ลำตัวยาว ให้ลูกดก และเลี้ยงลูกเก่ง

3.พันธุ์ลาร์จไวท์ หูตั้ง ลำตัวยาว ขาแข็งแรง ให้ลูกดกและเลี้ยงลูกเก่ง เหมาะสำหรับใช้เป็นแม่พันธุ์

อาหารที่ใช้เลี้ยงจะมี 2 ส่วนด้วยกันคือ อาหารข้นและอาหารหมัก ผสมในอัตราส่วน อาหารข้น 50% และอาหารหมัก 50% เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร นอกจากนี้ยังมีการเสริมหญ้าสดให้กินทุกวันด้วย โดยให้กินประมาณครึ่งกิโลกรัม ต่อตัว สำหรับอาหารหมัก จะใช้พืชจากธรรมชาติมาหมัก คือ หยวกกล้วย 100 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง 4 กิโลกรัม เกลือ 1 กิโลกรัม หมักทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน

โรงเรือนที่เลี้ยงก็จะทำง่ายๆ ไม่มีการเทพื้น แต่จะขุดหลุมลึกประมาณ 60-70 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยแกลบ ขี้เลื่อย หรือขุยมะพร้าว หรือก้อนเชื้อเห็ด หรือหญ้าแห้ง อะไรก็ได้ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่โดยส่วนตัวแล้วคุณสุพจน์จะรองก้นหลุมด้วยแกลบ โดยจะแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่ดินแดง ผงถ่าน เกลือทะเล ไอเอ็มโอ 3 และจุลินทรีย์ แล้วราดให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นปล่อยลูกหมูลงคอก โดยคอกที่ใช้เลี้ยงจะมีขนาด 4x4 เมตร เลี้ยงหมู 8-10 ตัว ส่วนแม่หมูจะใช้คอกเล็กกว่าหมูขุน จะใช้คอกขนาด 2x3 เมตร และต้องคอยหมั่น รดน้ำจุลินทรีย์ในคอกสัปดาห์ละครั้ง และทำความสะอาดคอก 1-2 สัปดาห์ ต่อครั้ง เพื่อป้องกันโรค และยังทำให้หมูสุขภาพร่างกายแข็งแรงอีกด้วย ส่วนการให้น้ำ จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์มาช่วยผลิตน้ำ โดยหมูหลุมขุน 1 ตัว จะใช้น้ำ 5ลิตรต่อตัวต่อวัน สำหรับแม่หมูใช้น้ำ 10 ลิตร ต่อตัวต่อวัน

นอกจากนี้คุณสุพจน์ ยังเล่าต่ออีกว่า หากหมูมีอาการเจ็บป่วย จะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเลย แต่จะใช้สมุนไพรที่หาได้ง่ายๆในท้องถิ่นมารักษา เช่น ถ้าหมูมีอาการท้องเสีย ซึ่งอาจเกิดจาการให้อาหารมากเกินไป ก็ควรลดอาหารลง แต่หากตัวไหนมีอาการหนักก็ให้กล้วยดิบกิน หรือหยวกกล้วยที่หมักก็ช่วย ลดอาการท้องเสียได้ แต่ถ้าเป็นหมูตัวใหญ่จะให้กินหญ้าแห้วหมูหรือใบฝรั่ง ภายใน 1 วัน อาการท้องเสียจะหายไป แต่ทั้งหมดที่แนะนำมานี้ คุณสุพจน์ บอกว่าแทบไม่ใช้เลย ยิ่งถ้ามีการจัดการฟาร์มที่ดีด้วยแล้ว เปอร์เซ็นต์ที่หมูจะป่วยและตายจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งการจัดการที่ว่านี้ ก็คือ การไม่ทำให้กีบของหมูแตก เพราะเมื่อใดที่กีบแตก เชื้อโรคก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย อาจทำให้หมูมีอาการป่วย แต่ถ้าเลี้ยงหลุมปัญหากีบแตกจะไม่มีเลย เพราะหมูทุกตัวจะไม่ได้สัมผัสกับพื้นปูนเลย แต่จะได้สัมผัสกับพื้นแกลบ เมื่อกีบเขาไม่แตก หมูก็จะไม่ป่วย กินอาหารได้สมบูรณ์ แข็งแรง

คุณสุพจน์ เล่าให้ฟังต่ออีกว่าการเลี้ยงหมูหลุมนอกเหนือจากการขายเนื้อหมู ขายลูกหมูและขายพันธุ์หมูแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างที่ได้จากการเลี้ยงหมูหลุม คือได้ปุ๋ยคอกคุณภาพดีมาก ซึ่ง ปีๆหนึ่งที่ฟาร์มคุณสุพจน์สามารถผลิตปุ๋ยได้เกือบพันตัน จากการวางแผนตั้งแต่แรกเริ่มเลยว่า โรงเรือนหนึ่งต้องผลิตปุ๋ยคอกได้ 300 กว่าตัน เพราะหมู 8-10 ตัว จะให้ขี้หมูได้ 6,000 กิโลกรัมใน 4 เดือน ส่วนแม่หมูใช้เวลาแค่ 3 เดือน ก็ได้ปุ๋ยคอกประมาณ 1,500 กิโลกรัม ใน1ปีแม่หมู1ตัวจะผลิตปุ๋ยได้ 6,000 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 2 บาท ได้เงิน 12,000 บาท ซึ่งจะทดแทนค่าอาหารได้ 1 ปีพอดี ปัจจุบันที่ฟาร์มคุณสุพจน์ มีหมูกว่า 300 ตัว เลี้ยงในระบบหมูหลุมทั้งหมด

ช่องทางการตลาด : ด้านการตลาด คุณสุพจน์ เล่าว่า มีช่องการตลาดอยู่ 3 ช่องทางด้วยกัน คือ ช่องทางแรก คือ กินกันเอง เราเลี้ยงหมู พอชำแหละ ก็ให้คนในชุมชนได้กินกัน ส่วนช่องที่2 ขยายเข้าในตัวเมืองราชบุรี คือไปตั้งร้านก๋วยเตี๋ยวหมูหลุมในตัวเมืองราชบุรี ให้คนเมืองได้กิน และขายเนื้อหมูสดควบคาไปด้วย สุดท้าย ช่องที่ 3 คือขยายตลาดและส่งไปขายที่กรุงเทพโดยส่งตรงให้ผู้บริโภค โดย ทำเป็นแพ็คเกจ แพ็คละครึ่งกิโลกรัม

นอกจากการจำหน่ายเนื้อหมูแล้ว คุณสุพจน์ยังผลิตลูกหมูปีละ 400 ตัว แบ่งขายเป็นลูกหมูหย่านมและอนุบาล ปีละประมาณ 200 ตัว เลี้ยงเป็นหมูขุนเองอีกปีละ 200 ตัว และขายเป็นหมูพันธุ์ให้แก่ผู้สนใจอีก ปีละประมาณ 50 ตัว ซึ่งมีรายได้จากการจำหน่ายหลังหักต้นทุนแล้ว เฉลี่ยเดือนละประมาณ 45,000 บาท หรือปีละ 540,000 บาท มีรายได้ในแต่ละเดือน คือขายลูกหมู 8,000 บาท ขายหมูขุน 25,000 บาท ขายมูลหมูหลุม 12,000 บาท ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่า หมูหลุมที่เลี้ยงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดเลย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูหรือลูกหมู

ข้อเสนอแนะจากเกษตรกร : สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ การเลี้ยงหมูหลุม ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเลี้ยงหมู ถ้าใครคิดจะเลี้ยงหมู แล้วไปตั้งฟาร์มที่ไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คุณจะได้รับ คือ ชุมชนจะปฏิเสธคุณ เพราะว่าคุณนำสิ่งของที่มีความเหม็น ทำให้น้ำเน่าเสีย มีแมลงวัน พาหนะนำโรค เข้าไปในชุมชน แต่ถ้าเกษตรกร เลี้ยงหมูหลุม ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นก็จะไม่มี น้ำเสียก็ไม่มี แมลงวันก็ไม่มี หมูหลุม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถทำให้ผู้เลี้ยงและผู้บริโภคอยู่ได้อย่างยั่งยืน บริโภคกินเนื้อหมู อย่างปลอดภัย และในระบบการเลี้ยงหมูแบบนี้ยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สำหรับใครที่สนใจ อยากมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง ลงทุนไม่เยอะ ลองเลี้ยงหมูหลุมกันดู หรือจะติดต่อขอความรู้สามารถติดต่อคุณสุพจน์ สิงห์โตศรี ได้ที่ โทร : 081-875-3593

ที่อยู่และช่องทางการติดต่อ :
คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี
บ้านเลขที่ 95/1 หมู่ 9 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
โทร : 081-875-3593, 086-805-8749
Facebook : สุพจน์ สิงห์โตศรี

ฟาร์มหมูหลุม ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน ต้นทุนไม่สูง
เรื่อง/ภาพโดย : ทีมงานรักบ้านเกิด.คอม