

"เลี้ยงกระต่าย ไม่ถึงเดือนขายได้แล้ว เลี้ยงง่าย โตไว ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้กำไรดี"
คุณสมศิริ คังคายะ
ปัจจุบัน การเลี้ยงกระต่าย กลายมาเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทำเงินได้ดี ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่นานก็ขายได้แล้ว จะเลี้ยงขายแบบสวยงาม เลี้ยงแบบขายเนื้อ หรือจะเพาะพันธุ์ขายก็ได้ทั้งนั้น นอกจากนี้กระต่ายยังเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย กินหญ้า ผักผลไม้ได้หลายชนิด สามารถเลี้ยงควบคู่กับการขุนอาหารได้ ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงไม่สูงมาก เลี้ยงไม่ถึงเดือนก็ขายได้แล้ว ที่สำคัญตลาดยังมีความต้องการสูง แต่คนเลี้ยงกระต่ายยังมีน้อย และที่ดีไปกว่านั้น อาชีพนี้สามารถทำที่บ้านได้ เพราะกระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆที่ไม่ส่งเสียงดังสร้างความรำคาญ มีแต่ความน่ารัก ขนปุกปุย สร้างความสุขให้ผู้เลี้ยงได้ด้วย ซึ่งการเลี้ยงกระต่ายนี้จะทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม ก็ให้ผลตอบแทนดีทีเดียว
สมศิริ คังคายะ อยู่บ้านเลขที่ 141/12 หมู่ 4 ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ที่ผันชีวิตจากคนเคยเลี้ยงไก่เนื้อนับหมื่นตัวมาเลี้ยงกระต่าย เพราะเจอพิษไข้หวัดนกระบาด บวกกับมีการแบ่งเขตการเลี้ยงไก่ที่จากเดิมเลี้ยงอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี แต่เมื่อมีการแบ่งเขตใหม่ต้องย้ายไปเลี้ยงที่จังหวัดชลบุรี ทำให้ต้องมีการเคลื่อนย้ายไก่ออกจากพื้นที่ และอีกอย่างก็ไม่มีความคุ้นชินกับพื้นที่ใหม่ด้วย และต้องเลี้ยงเป็นแบบฟาร์มปิด ต้องสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ใหม่ ต้องลงทุนใหม่ ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นจากเดิมเยอะมาก เลยคิดว่าจะเลิกเลี้ยงไก่แล้วมองหาอาชีพใหม่ดีกว่า
คุณสมศิริเล่าต่อว่า ระหว่างที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เลี้ยงไก่ ช่วงที่ว่างก็หาข้อมูลว่าจะทำอาชีพใหม่อะไรดี จนวันหนึ่งได้อ่านหนังสือแล้วไปเจอข้อมูลขอโครงการหลวงที่เขียนเล่าเรื่องราวพร้อมคำแนะนำการเลี้ยงกระต่าย เมื่อลองอ่านแล้ว ก็เกิดความสนใจ คิดว่า น่าจะเลี้ยงเพื่อทำเงินและสร้างอาชีพใหม่ได้ คุณสมศิริเลยลองโทรไปสอบถามข้อมูลการเลี้ยงกระต่ายกับทางโครงการหลวง เมื่อฟังข้อมูลแล้วยิ่งเกิดความสนใจอยากจะเลี้ยงเป็นอาชีพแทนการเลี้ยงไก่เนื้อ อีกอย่างพื้นฐานเป็นคนรักสัตว์ด้วย เลยคิดว่าการเลี้ยงกระต่าย ตนเองน่าจะทำได้ดี แต่ปัญหาคือแถวบ้านที่อยู่ไม่มีใครเลี้ยงเลย ก็เลยหาข้อมูลต่อไปอีก จนพบว่า มหาวิทยาลัยเกษตรสาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน มีแม่พันธุ์กระต่ายขาย
เมื่อรู้แล้วว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสนมีแม่พันธุ์กระต่ายขาย เลยตัดสินใจซื้อกระต่ายพ่อพันธุ์มาเลี้ยง 3 ตัวและแม่พันธุ์อีก 11 ตัวมาทดลองเลี้ยงก่อน จากนั้นก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมไปดูวิธีการเลี้ยงกระต่ายตาม ฟาร์มต่างๆ ไปดูตามงานสัตว์เลี้ยงต่างๆ หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นฟาร์มใหญ่ที่เลี้ยงกระต่าย หลังจากไปศึกษาดูงานมาจากหลายๆที่แล้ว กลับมาก็ลงมือเลี้ยง ลองผิดลองถูก เลี้ยงได้บ้างเสียบ้าง ก็ไม่ท้อ พยายามหาวิธีการ ปรับเปลี่ยน ทดลองเลี้ยงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ทำได้ และเมื่อเลี้ยงไปได้สักระยะรู้สึกว่าการเลี้ยงกระต่ายก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าเลี้ยงสัตว์อื่นด้วย ไม่ลำบากไม่เหนื่อยไม่เป็นภาระอะไรมาก เคยเลี้ยงสัตว์มาหลายชนิดแล้ว ทั้งไก่ ทั้งวัวทั้งสุนัขเลี้ยงมาหมดแล้ว กระต่ายนี่เลี้ยงง่ายกว่าเยอะ ใช้เวลาเลี้ยงก็ไม่นาน เริ่มแรกก็เลี้ยงขายแบบสวยงาม จากเลี้ยง10ตัวก็ขยายเป็น200ตัว จนกระทั่งตอนนี้มี 1,000 กว่าตัวแล้ว เริ่มเลี้ยงครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2553 และเลี้ยงมาจนถึงปัจจุบันนี้ บอกเลยว่า ยังผลิตกระต่ายไม่พอต่อความต้องการของตลาดเลย ขนาดส่งแม่ค้าแค่เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ซึ่งแม่ค้าจะซื้ออาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 200 ตัว ที่สำคัญอาชีพนี้คนเลี้ยงน้อย แต่ความต้องการของตลาดสูง หลายคนที่ทำอาชีพนี้ จึงมีรายได้เข้ากระเป๋าหลักหมื่นหลักแสนต่อเดือนกันเลยทีเดียว คุณสมศิริ กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนวิธีการเลี้ยงกระต่ายนั้น คุณสมศิริได้ให้ข้อมูลว่า การเลี้ยงกระต่ายในเชิงการค้า ส่วนใหญ่แล้วจะเลี้ยงกันอยู่ 3 ประเภท คือ1. เลี้ยงเพื่อจำหน่ายกระต่ายเนื้อ 2.ลี้ยงเพื่อจำหน่ายกระต่ายสวยงาม และ3.เลี้ยงเพื่อการจำหน่ายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ซึ่งการเลี้ยงแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับที่ฟาร์มจะเน้นเลี้ยงขายเพื่อความสวยงามเป็นหลัก ซึ่งทุกวันนี้ก็ผลิตลูกกระต่ายขายไม่ทันแล้ว ส่วนกระต่ายเนื้อ และกระต่ายพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์นั้นก็เลี้ยงแต่จะไม่เน้นมากเท่ากับกระต่ายสวยงาม สำหรับพันธุ์กระต่าย จะเลี้ยงอยู่ด้วยกัน 8 สายพันธุ์ คือ 1.นิวซีแลนด์ ไวท์ แรบบิท .เนเธอร์แลนด์ดรอฟ 3.โปลิสแคระ 4. ดัชต์ 5.เท็ดดี้แบร์ 6.กำมะหยี่ 7.ไจแอนท์ 8.ลอป ฮอลแลนด์
โรงเรือนที่ใช้เลี้ยงกระต่าย คุณสมศิริดัดแปลงมาจากโรงเรือนเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อเดิม โดยปรับโรงเรือนให้สูงโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มีลมผ่านได้ เพราะโดยธรรมชาติของกระต่ายจะไม่ชอบอากาศร้อน นอกนั้นโรงเรือนควรตั้งอยู่ในพื้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง กรงกระต่ายควรทำด้วยลวดตาข่ายและอยู่สูงกว่าพื้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันกลิ่นปัสสาวะของกระต่าย ส่วนวิธีการเลี้ยง คุณสมศิริให้เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงก็ไม่ยาก ถ้าจะเลี้ยงเป็นธุรกิจ ควรจะต้องแยกเลี้ยงตัวต่อตัว และต้องให้อาหารเม็ด แล้วก็หญ้าขนควบคู่กัน แต่หญ้าไม่ควรให้กินเยอะ ควรให้หญ้าขนสดดีกว่าให้กินหญ้าแห้ง เพราะการเลี้ยงเสริมด้วยหญ้านั้น นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังทำให้กระต่ายไม่อ้วนด้วย เพราะข้อเสียของการเลี้ยงกระต่ายให้ตัวอ้วน น้ำหนักตัวมาก เวลานำกระมาผสมพันธุ์จะติดลูกยากหรือบางทีก็ไม่ติดเลย ส่วนอาหาร ทางฟาร์มเน้นใช้อาหารเม็ดของกระต่ายโดยตรงเลย ซึ่งจะใช้อาหารกระต่ายกับอาหารหมูใหญ่ นำมาผสมกันโดยใช้อาหารหมูสองส่วนอาหารกระต่ายหนึ่งส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำมาเลี้ยงกระต่าย ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้กระต่ายจะต้องกินหญ้าขนด้วย หากไม่มีหญ้าขนให้กระต่ายกิน ต้องให้กินอาหารกระต่ายล้วน เพราะในอาหารมีส่วนผสมของหญ้าอยู่ด้วยแล้ว และห้ามนำอาหารหมูมาผสมในอาหารให้กระต่ายกินเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระต่ายตัวอ้วน และต้องมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
ต้นทุนในการเลี้ยง คิดในส่วนของค่าอาหารจะอยู่ที่วันละหนึ่งบาทกว่าๆต่อตัว ในหนึ่งวันจะให้อาหารแค่เพียง 1 มื้อ คือ มื้อเย็น ให้ในปริมาณเพียงแค่หนึ่งกำมือเท่านั้น ไม่ควรให้กระต่ายกินเยอะ เพราะจะทำให้อ้วน
หลังจากเลี้ยงกระต่ายมาได้สักระยะ คุณสมศิริก็เริ่มสังเกตได้ว่า กระต่ายมีระยะเวลาการตั้งท้องประมาณ 30 - 33 วัน ให้ลูกครอกละประมาณ 5 - 8 ตัว ในระยะเวลา 1 ปีแม่พันธุ์กระต่ายจะให้ลูกประมาณ 4 - 5 ครอก โดยธรรมชาติของกระต่ายจะมีรอบ
การเป็นสัดประมาณ 15 วัน สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เมื่อกระต่ายเป็นสัด โดยใช้มือลูบหลังกระต่ายแม่พันธุ์ หากกระต่ายกระดกก้นขึ้นก็จะนำกระต่ายแม่พันธุ์ไปให้กระต่ายพ่อพันธุ์ผสม เมื่อกระต่ายเริ่มผสมพันธุ์ได้ จะต้องแยกเลี้ยงตัวต่อตัว จากนั้น ต้องนำกระต่ายตัวเมียมาหากระต่ายตัวผู้ ห้ามนำกระต่ายตัวผู้ไปหาตัวเมียเด็ดขาด เพราะกระต่ายตัวเมียจะกัดกระต่ายตัวผู้เพราะคิดว่าตัวผู้มาล่วงล้ำในพิ้นที่ของตน ตัวผู้ก็จะโดดกัด การผสมพันธุ์จะทำการผสม 2 ครั้งห่างกันครั้งละประมาณ 10 นาที เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ก็จะแยกตัวเมียออกมา จากนั้นก็นับไปอีกประมาณ 27 วัน แต่ไม่เกิน 33 วัน กระต่ายจะคลอดลูก ซึ่งสามารถ สังเกตได้จากกระต่ายจะเริ่มกัดขน อย่างวันนี้กัดขนพรุ่งนี้ อาจคลอดเลย ในช่วงระยะเวลาตั้งท้อง แทบไม่ต้องดูแลอะไรเลย เพียงแค่ให้อาหารให้น้ำปกติ ส่วนลุกกระต่ายที่คลอดออกมาก็เลี้ยงดูปก การฉีดยา ฉีดวัคซีนแทบไม่มีเลย มีเพียงต้องคอยระวังคือท้องเสีย ส่วนใหญ่มาจาก บางครั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดแล้วมาเย็นอย่างนี้กระต่ายจะปรับตัวไม่ทัน จะทำให้ท้องเสียได้เหมือนกัน หรือบางครั้งให้กินผักที่มีน้ำเยอะ เช่นผักบุ้ง ผักกาด เป็นผักที่มีน้ำเยอะ ควรต้อง เลี่ยงเลย เพราะถ้าท้องเสีย ส่วนมากรักษาไม่ทัน สุดท้ายก็ตาย
คุณสมศิริ เล่าเสริมอีกว่า ถ้าเห็นกระต่ายป่วย ท้องเสียจะรักษาด้วยยอดใบตองอ่อนที่ม้วนเขียวเขียว จะนำมาฉีกให้กระต่ายกิน ถ้าได้กินแล้ว ถ่ายออกมาเป็นอึแข็งๆ ก็รอดแล้ว แต่ถ้าหากกระต่ายท้องเสีย ถ่ายเหลว ใบตองอ่อนไม่สามารถรักษาได้
สำหรับระยะเวลาในการเลี้ยงกระต่ายเพื่อความสวยงามจำหน่าย จะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง ประมาณ 18 วัน ก็สามารถจับขายได้เลย เป็นระยะเวลา และขนาดตัวที่แม่ค้าต้องการมาก
ช่องทางการตลาด : ส่วนการจำหน่ายกระต่าย คุณสมศิริจะจำหน่ายใน 3 ลักษณะ คือ 1. การจำหน่ายกระต่ายเนื้อ โดยการชั่งน้ำหนักกระต่ายทั้งตัวให้พ่อค้าชำแหละ น้ำหนักตั้งแต่ 1.8 - 3.0 กิโลกรัมๆ ละ 55 บาท โดยคัดจากตัวผู้ที่ไม่ใช้ทำพ่อพันธุ์ พ่อพันธุ์ที่มีอายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป และแม่พันธุ์ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ / 2. การจำหน่ายกระต่ายสวยงาม จะจำหน่ายเมื่อลูกกระต่ายมีอายุ 2 สัปดาห์ ในราคาตัวละ 60 บาท และ 3. การจำหน่ายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กระต่าย โดยคัดพ่อพันธุ์อายุประมาณ 5 เดือน แม่พันธุ์อายุประมาณ 3 เดือน จำหน่ายในราคาตัวละ 650 บาท
สำหรับรายได้ต่อเดือน อย่างที่ฟาร์มเลี้ยงอยู่ประมาณ 400 กว่าตัว8สายพันธุ์ ราคาส่งก็จะไม่เหมือนกันบางตัวก็จะแพง อย่าง ลอป ฮอลแลนด์ จะแพงจะส่งอยู่ที่ตัวละ 350 แล้วก็ถ้าเป็นพวกพันธุ์กำมะหยี่จะส่งอยู่ที่ 200 บาท ราคาจะไม่เหมือนกัน รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นต่อเดือน แต่ถ้าขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ที่ฟาร์มยังรับซื้อกระต่ายจากเกษตรกรที่เลี้ยงรายอื่นๆด้วย ในกรณีที่เลี้ยงอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มของเรา ซึ่งรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท ถ้ามาส่งขายที่ฟาร์ม แต่ถ้าให้ทางฟาร์มไปรับซื้อถึงที่ จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 60 บาท
อาชีพเลี้ยงกระต่ายแม้จะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับเกษตรกร แต่เพราะความสวยงาม น่ารัก มีเสน่ห์ชวนมองของกระต่ายแต่ละสายพันธุ์นี่แหละที่ดึงดูดให้ ปัจจุบันกระต่ายกลายเป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่มีคนนิยมเลี้ยงมากขึ้นๆทุกวัน การเลี้ยงกระต่ายจำหน่าย จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
ข้อเสนอแนะจากเกษตรกร : เกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากจะเลี้ยงกระต่ายต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การเลี้ยงกระต่ายนั้น ต้องมีการลงทุน ที่อาจจะยังไม่ได้ทุนคืนเลยในช่วงแรกๆ อย่างลงทุนไปเป็น 100,000 บาท อาจจะยังไม่ได้เงินจำนวน 100,000 กลับ แต่ในระยะยาว จะได้กลับมาแน่นอน แต่อยากให้มองว่าการทำอาชีพอะไรก็แล้ว แต่นอกเหนือจากผลกำไรแล้ว สิ่งที่เราจะได้รับมากกว่า คือ การมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอนเสมอ อาชีพการเกษตร เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้ใครหลายๆคน ตัดสินใจมาทำ บางคนละทิ้งเงินเดือนเป็นหมื่น มาเป็นเกษตรกร เพราะผลตอบแทนที่ได้มากกว่า เงิน คือ ความสุข ความเป็นอิสระ เกษตรกรรุ่นใหม่ถ้าอยากประสบความสำเร็จสิ่งแรกเลยต้องใช้ความอดทน มีความตั้งใจ และต้องเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เชื่อว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ มีอาชีพที่ยังยืนได้แน่นอน
ที่อยู่และช่องทางการติดต่อ : สมศิริ คังคายะ บ้านเลขที่141/12 หมู่ 4 ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทร. 0815231365

