เกษตรกรต้นแบบ

"พลิกผืนนา มาผลิต “เมล็ดพันธุ์” แบบประณีต คุณภาพดี มีผลผลิตสูง"


คุณประยูร แตงทรัพย์
 12 มีนาคม 2561 2,427
จ.นครสวรรค์
สิ่งที่ทำให้ชาวนามีความสุขก็คือ ได้เห็นผลผลิต ได้เห็นต้นข้าวเขียว ๆ ขึ้นเต็มทุ่งนา แล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นรวงและเมล็ดข้าว

“การทำนา” นับเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทยมาตั้งอดีต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่ละปีทำนาได้ 2-3 ครั้ง จึงเป็นเหมือนความหวังที่จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทว่าในความเป็นจริงชาวนากลับต้องเผชิญปัญหาอยู่รอบด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนปัจจัยการผลิต ราคาข้าว ตลอดจนโรคแมลงระบาด รวมถึงภัยธรรมชาติที่รุนแรง ส่งผลให้ชาวนาต้องแบกรับภาระขาดทุนอยู่เนือง ๆ

คุณประยูร แตงทรัพย์ อายุ 53 ปี ตำบลแปลงขาว อำเภอคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้ยึดการทำนาเป็นอาชีพมานานปี พร้อมควบคู่กับการทำพืชไร่อย่างมันสำปะหลัง ซึ่งก็ทำสลับสับเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามถึงแม้ยึดการทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ความรู้ความเข้าใจการทำนา รวมถึงธรรมชาติของข้าวและปัจจัยความต้องการต่าง ๆ กลับมีไม่มากเท่าที่ควร วิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ ก็เป็นวิธีที่ทำตาม ๆ กัน ใครบอกว่าอย่างไหนดีก็ทำเรื่อยมา

“เขาบอกว่าทำนาหว่านดี เพราะง่ายและต้นทุนต่ำ เราก็ทำนาหว่านตามเขา เขาบอกว่าไร่หนึ่งใช้ข้าวเปลือก 3 ถัง (30 กิโลกรัม) เราก็ใช้ 3 ถังเหมือนเขา โดยไม่ได้พิจารณาเลยว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือดีที่สุดแล้วหรือยัง ซึ่งก็ได้แต่ทำตาม ๆ กัน แต่ค่อนข้างโชคดีที่ในช่วงแรก ๆ ที่พื้นดินยังคงมีคุณภาพดี ผลผลิตข้าวก็ได้จำนวนมากพอสมควร แต่หลังจากนั้น เจอปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง ทำให้ผลผลิตลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ต้นทุนทุกอย่างกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน”

คุณประยูรบอกว่า ขณะนั้นราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 7,500 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ทว่าผลผลิตที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร ขณะที่ต้นทุนการทำนาทั้งค่าปุ๋ย ยา รวมถึงแรงงานมีราคาสูงมาก ต้นทุนเฉลี่ยไร่หนึ่งไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท หักลบกลบกันแล้วเหลือกำไรอยู่ไม่กี่บาทเท่านั้น ซึ่งต้องเก็บสำรองไว้ใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นเงินลงทุนทำนาในครั้งต่อไปด้วย

“เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ข้าวไร่หนึ่ง 3-4 ถัง ซึ่งหว่านในปริมาณที่แน่นไว้ก่อน เพราะเข้าใจว่าหวานมากก็ต้องได้ข้าวมาก และก็หวานเผื่อไว้เพื่อป้องกันพันธุ์ข้าวเสียหายจากการเก็บกินของนก หนู แมลงด้วย แต่เมื่อหว่านหนาแน่น ก็จำเป็นต้องให้ปุ๋ยในปริมาณที่หนาแน่นด้วย ไร่หนึ่งใช้ปุ๋ยไม่ต่ำกว่ากระสอบ รวมทั้งต้องใช้ย่าการควบคุมวัชพืชและแมลงมากตามด้วย พอใช้สารเคมีจำนวนมากสภาพดินก็เสื่อมโทรม ปริมาณข้าวที่ได้ก็ลดลง แต่ต้นทุนการผลิตทุกอย่างเพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นแล้วว่าหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปต้องขาดทุนอย่างแน่นอน”

แต่สิ่งที่คิดไว้ก็ได้เกิดขึ้นไวกว่ากำหนด เพราะประมาณปี 2537 ขณะที่ชาวนาต้องแบกรับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอยู่แล้ว ประกอบกับเจอปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้งและเพลี้ยงกระโดดสีน้ำตาลระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ข้าวทั้งแปลงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จึงต้องตัดสินใจเลิกทำนา เก็บข้าวของเพื่อมาทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นทางออกเดียวที่จะพอปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่ในขณะนั้นได้

ใช้เวลาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 3 ปี ค่อย ๆ พัฒนาฝีมือจากเป็นแรงงานมาเป็นช่าง จนในที่สุดก็สามารถรับเหมางานเองได้ แต่สุดท้ายแล้วชาวนาก็คือชาวนา ย่อมโหยหาความอิสระในท้องทุ่งมากกว่าการรับคำสั่งอยู่ในเมืองใหญ่ ประจวบเหมาะกับงานที่ทำอยู่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องรายได้และผู้จ้าง จึงคิดที่จะหวนกลับมาเป็นชาวนาอีกครั้ง

“แต่การกลับมาทำงานอีกครั้ง ก็ได้พินิจพิเคราะห์ถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้น พร้อมกับหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะหากยังทำแบบเดิม ๆ สุดท้ายต้องวนเวียนกับปัญหาเดิมและก็เป็นหนี้สิน ซึ่งก็ทำให้คิดถึงวัยเด็กที่เคยเห็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำนากันมา เวลานั้นก็ไม่ได้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีมากนัก ซึ่งเป็นการทำนาที่แอบอิงธรรมชาติ จำได้ว่าเห็นใช้ควายมาไถนาด้วยซ้ำ แต่นาที่ทำส่วนใหญ่เป็นนาดำ ต้นข้าวไม่ขึ้นเบียดกันมาก ทำให้แสงและอากาศลอดผ่านได้ ทำให้ไม่มีโรคและแมลงระบาดรุนแรง จึงไม่ต้องฉีดยาหรือสารเคมีอะไรเลย”

ส่วนปุ๋ยก็ไม่ได้ใช้มากเหมือนปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่นา 10 กว่าไร่ ใช้ปุ๋ยเพียงไม่กี่กิโลกรัมเท่านั้น ไม่ต้องซื้อครั้งละหลาย ๆ กระสอบ ต้นทุนการปลูกข้าวด้วยวิธีการดังกล่าวจึงค่อนข้างต่ำ ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากนัก จึงได้ยึดแนวทางดังกล่าวในการที่กลับมาทำนาครั้งใหม่นี้ และประกอบกับในช่วงเวลานั้นทางภาครัฐมีนโยบายจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน พร้อมกับจัดหาชาวนาเครือข่ายในแต่ละตำบล หมู่บ้าน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีกระจายให้แก่ชาวนาในพื้นที่นั้น ๆ คุณประยูรจึงเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางเกษตรอำเภอได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้นำมาปลูกเพื่อขยายเป็นเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายสู่พี่น้องเกษตรกรต่อไป

“การมีศูนย์ข้าวชุมชนถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการเพาะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่ดี ต้องเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการจะหาเมล็ดข้าวพันธุ์ดีต้องไปหาซื้อไกลถึงจังหวัดชัยนาท ซึ่งบางครั้งร้านจำหน่ายหรือโรงสีก็ไม่ยอมจำหน่ายให้ เพราะต้องเก็บไว้จำหน่ายให้เกษตรกรในพื้นที่เขาก่อน ทำให้มักได้พันธุ์ข้าวคุณภาพไม่ดีมาปลูกอยู่เสมอ หรือบางปีก็เก็บข้าวที่ปลูกไว้ทำพันธุ์เอง ซึ่งก็ได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ส่งผลให้การทำนาได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อมีศูนย์ข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์เอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ชาวนาได้ผลผลิตที่ดีขึ้น”

คุณประยูรบอกว่า แต่ในการดำเนินการจริงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อพอสมควร เพราะหลังจากได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวมาเพื่อขยายพันธุ์แจกจ่ายให้เกษตรกร ตนก็ตั้งใจผลิตอย่างดี โดยมุ้งเน้นการผลิตแบบนาดำ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพที่สุด ขณะที่เกษตรกรรายอื่น ๆ ยังใช้วิธีทำนาหว่าน แต่การรับซื้อเข้าโครงการกลับไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ ทำให้การรับซื้อข้าวที่นำไปพันธุ์เต็มโควตาอย่างรวดเร็ว ผลผลิตของเกษตรกรที่เหลือรวมถึงของตนเอง ก็ต้องไปจำหน่ายให้โรงสีเหมือนเดิม แต่ด้วยความตั้งใจว่าจะผลิตข้าวสายพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายเป็นสายพันธุ์ จึงเริ่มคิดที่จำหน่ายผลผลิตเองโดยไม่ผ่านโรงสี

“ระหว่างหาตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่นั้น ได้มีโอกาสรู้จักเกษตรกรคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าวรายใหญ่อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ตนเองก็เสนอขายเมล็ดพันธุ์ให้โดยระบุว่าเป็นเมล็ดข้าวพันธุ์ดีได้จากวิธีการปักดำ ไม่ใช่นาหว่าน เกษตรกรรายดังกล่าวมาดูถึงที่แปลงจนมั่นใจว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจริง ๆ จึงตัดสินใจรับซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด โดยซื้อต่อเนื่อง 3 ปี ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องตลาดและการจำหน่ายเลย”

การเปลี่ยนจากนาหว่านมาทำนาดำ ต้นทุนไม่แตกต่างกันมากนัก ค่าแรงงานที่ปักดำก็ชดเชยด้วยค่าปุ๋ย ยาที่ลดลงไป แต่ที่ได้กลับมาอย่างเห็นได้ชัดคือ คุณภาพและผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่หนึ่งได้ 1-1.2 ตัน และที่สำคัญสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น จากปกติจำหน่ายให้โรงสีได้ราคาตันละ 7,500 บาท แต่จำหน่ายเป็นพันธุ์ได้ราคาตันละ 9,000 บาท ประกับผลผลิตต่อไรที่มากขึ้น ส่งผมให้มีรายได้จากการทำนาสูงขึ้น และด้วยมีผู้มารับซื้ออย่างต่อเนื่อง จึงไม่กังวลเรื่องตลาด ไม่กลัวว่าผลิตออกมาแล้วจะขายไม่ได้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ชักชวนพี่น้องเกษตรกรมารวมกลุ่มเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย

“แรก ๆ เกษตรกรก็ไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไร ยังกล้า ๆ กลัว ๆ แต่หลังจากทำลองทำเพียงแค่ครั้งแรก เปลี่ยนจากนาหว่านมาเป็นนาดำ การจัดการเรื่องวัชพืช โรคและแมลงทำได้ง่าย ใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยยาลดน้อยลง แต่กลับได้ผลผลิตและมีคุณภาพดีขึ้น และหลังจากจำหน่ายผลผลิตครั้งแรก จากเดิมทำนาในแต่ละมีกำไรเต็มที่ 100,000 บาท ได้เพิ่มขึ้นเป็น 160,000-170,000 บาท ทำให้เกษตรกรมั่นใจและรวมกลุ่มกันผลิตเมล็ดพันธุ์จนถึงวันนี้”

ปัจจุบันคุณประยูรทำนาอยู่ 43 ไร่ ซึ่งทั้งหมดจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ ทำให้ไม่ได้จำหน่ายข้าวให้กับโรงสีมากว่า 15 ปีแล้ว โยสิ่งที่ทำให้เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ได้เชื่อมั่น คือ การเชิญชวนมาดูผลผลิตและวิธีการปลูกถึงแปลงนา ทำให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจซื้อในที่สุด

สำหรับกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของคุณประยูร เริ่มจากการปรึกษาหารือกับกลุ่มสมาชิกว่า ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์อะไร กล่าวคือต้องมองถึงความต้องการของตลาด เกษตรกรต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวอะไรก็จะผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น ซึ่งเกษตรกรและศูนย์รับซื้อเมล็ดพันธุ์ มีความต้องการทั้งพันธุ์ข้าวหอมประทุม พันธุ์กข49 กข61 กข57 ส่วนใหญ่ก็จะได้รับออร์เดอร์เข้ามาก่อนแล้วผลิตตามออร์เดอร์นั้น ๆ

“ผู้รับซื้อแต่ละรายก็กำหนดความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์มาให้ บางรายใช้ 100 ไร่ บางรายก็ 200 ไร่ หรือมากสุดก็ 300 ไร่ ซึ่งก็ออร์เดอร์เมล็ดพันธุ์เข้ามา ทางกลุ่มที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 40 ราย รวมพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 500 ไร่ ก็มาแจกจ่ายกันว่าเกษตรกรรายไหนจะผลิตเมล็ดพันธุ์อะไรเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้ารายไหน ก็วางแผนการผลิตกันเพื่อให้ได้ผลผลิตตามปริมาณและช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการ”

ส่วนขั้นตอลการผลิต เนื่องด้วยเกษตรกรในกลุ่มทั้งหมดใช้วิธีการทำนาแบบปักดำทั้งหมด ซึ่งก็เริมต้นจากการเพาะกล้าข้าว โดยจำนวนต้นกล้าที่เพาะประเมินจากศักยภาพการปักดำเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีศักยภาพในการดำนาวันละประมาณ 50 ไร่ ดังนั้นก็เตรียมต้นกล้าเพื่อการดำนาเพียงวันละ 50 ไร่เท่านั้น ก็ทำให้รู้ว่าเกษตรกรแต่ละรายต้องใช้เวลาในการดำนามากน้อยแค่ไหน สมาชิกในกลุ่มเน้นการจัดการประหนึ่งว่าเป็นครอบครัวเดียวกันและช่วยกันดูแล

“หลังจากปักดำในเดือนแรก ระยะนี้ต้นข้าวมีความสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร ก็ใช้วิธีปล่อยน้ำเข้านาให้สูงกว่าต้นหญ้าที่กำลังขึ้นใหม่ เป็นการควบคุมวัชพืช แต่หลังจากข้าวมีอายุเกิน 1 เดือนแล้ว ให้ปล่อยน้ำออกจกแปลงนาให้หมดจนหนาดินแห้งแตก แต่ด้านล้างต้องมีความชื้นพอสมควร ซึ่งวิธีนี้เป็นการแกล้งข้าว ทำให้ต้นข้าวยังรากลึกขึ้น ต้นแข็งแรงและแตกกอค่อนข้างดี”

พอเข้าเดือนที่ 2 ซึ่งน้ำในแลงยังแห้งอยู่ ก็สูบน้ำเข้า ซึ่งเป็นการทำนาแบเปียกสลับแห้ง วิธีนี้นอกจากทำให้ต้นข้าวแข็งแรงและแตกกอได้ดีแล้ว ยังเป็นการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้เป็นอย่างดี เพราะขณะที่แปลงนาแห้งจากการปล่อยน้ำออก มดดำ มดแดงจะมาอยู่ในแลงนาบริเวณกอข้าวจำนวนมาก แต่พอสูบน้ำนามดก็ไต่ขึ้นกอข้าว ก็เจอเพลี้ย หนอน ไข่ ซึ่งก็ถูกหมดจับกินหมด โดยเฉพาะข้าวหอมประทุมมักมีเพลี้ยระบาดรุนแรง แต่ของแปลงที่ปลูกด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ไม่พบการระบาดของเพลี้ยเลย

คุณประยูรบอกว่า โดยปกติการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะมีท่อปักไว้ตามจุดต่าง ๆ ในแปลงนา เพื่อดูระดับน้ำใต้ดินไม่ให้แห้งเกินไป แต่ของทางกลุ่มไม่ใช้ หากแต่จะสังเกตที่ต้นข้าวเป็นหลัก ถ้าใบเหี่ยวเมื่อไรก็สูบน้ำเข้านาทันที แต่ถ้าเป็นนาหล่มไม่ต้องห่วงเพราะใต้ดินมีความชื้นอยู่แล้ว พื้นนาแห้งเป็นเดือน ข้าวก็ไม่เหี่ยว
ส่วนการให้ปุ๋ย ก็ใส่ตามปกติเหมือนกับการปลูกข้าววิธีอื่น ๆ เมื่อปักดำได้ประมาณ 10-15 วัน ก็เริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรก เพื่อเร่งการเจริญเติบโต แต่ช่วงอายุสัก 1 เดือน ที่ปล่อยน้ำออกนอกแปลง หากต้นข้าวยังเขียวอยู่ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มก็ได้ แต่ถ้าต้นข้าวมีลักษณะเหี่ยวเหลืองซึ่งเป็นอากรขาดปุ๋ย ก็ต้องเพิ่มปุ๋ยให้ข้าวในระยะนี้ แต่ถ้าเหี่ยวแล้วยังมีความเขียวอยู่แสดงว่าขาดน้ำ ไม่ได้ขาดปุ๋ย ไม่ต้องเพิ่มก็ได้

“เมื่อก่อนเห็นเขาทำนาหวานเราก็หวาน เห็นเขาใส่ปุ๋ยเราก็ใส่ เห็นเขาฉีดยาเราก็ฉีด คือทำตาม ๆ กัน ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง แต่ทุกวันนี้ยาไม่ได้ฉีด ปุ๋ยก็ให้ตามความเหมาะสม น้ำที่สูบเข้านาก็ไม่ได้แย่งกับเกษตรกรรายอื่น ใครอยากใช้ก็ให้เขาไปก่อน เราขอทีหลังและไม่ต้องใช้มากแค่ราดให้ดินเปียกพอแล้ว ต้นข้าวไม่เหี่ยวเป็นใช้ได้ ซึ่งเป็นการทำนารูปแบบใหม่ที่ผ่านการพัฒนาตามความเหมาะสมของต้นข้าว”

นอกจากการปรับเปลี่ยนวิธีให้เหมาะสมแล้ว สิ่งที่ทำให้ชาวนาอยู่ได้อย่างยั่งยืนคือ การรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรอง รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเก่าที่เล่ากันมานาน บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับตัวเองแล้ว การลดต้นทุนก็คือกรทำให้ได้ผลผิตที่มากขึ้น เมื่อได้ผลผลิตมากขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง จากเดิมที่เคยมีต้นทุนการผลิตข้าว 1 ตันอยู่ที่ 5,000 กว่าบาท แต่ปัจจุบันต้นทุนข้าว 1 ตัน แค่เพียง 3,200 บาทเท่านั้น


ช่องทางการติดต่อ : ประยูร แตงทรัพย์ โทร. 08-5736-4027
112/6 หมู่7 ต.ยางขาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ 60130

พลิกผืนนาผลิตเล็ดพันธุ์คุณภาพดี มีผลผลิตสูง
เรื่อง/ภาพโดย : ทีมงานรักบ้านเกิด.คอม