นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะต้องมีองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการตลาด เทคโนโลยีการผลิต ความรู้ด้านบัญชี ต้นทุน ตลอดจนช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และต้องมีกลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยพัฒนาเกษตรกรอัจฉริยะ ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการทำเกษตรสมัยใหม่ ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยพัฒนายกระดับการเกษตรให้มีคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำลง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกด้าน โดย รักบ้านเกิด ขอพาไปรู้จัก 2 เกษตรกรไทย จากโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ที่ได้นำแนวคิดผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้จนก่อเกิดรายได้และความสุขอย่างยั่งยืน
คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล หรือพี่ออน จากอะโรแมติก ฟาร์ม จังหวัดราชบุรี เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2560 พี่ออนเล่าให้เราฟังว่า รู้ว่าตนเองอยากเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่อายุ 19 ปี และมีความตั้งใจที่จะเป็นนักธุรกิจและเจ้าของธุรกิจ
พี่ออนค้นหาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อพบว่าตนเองชอบทานมะพร้าวน้ำหอม พี่ออนในวัย 40 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทมาเป็น "ผู้ประกอบการเกษตร" โดยเลือกที่จะปลูกมะพร้าวน้ำหอมและดำเนินกิจการเป็นของเอง
ปี 2560 พี่ออนได้เป็น young smart farmer ภายในปีเดียวกันก็ได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในเวทีคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2560 โดยได้รับรางวัลแรกในชีวิตนั่นก็คือ "รางวัลเกษตรดีเด่น" จากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เวทีนี้ทำพี่ออนได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง สร้างความมั่นใจและทักษะที่ช่วยให้พี่ออนขายผลิตภัณฑ์ของตนเองได้
ต่อมาในปีถัดๆ มา พี่ออนก็พาตัวเองเข้าไปสู่เวทีต่างๆ ไม่เพียงแค่ได้รับรางวัลระดับจังหวัด แต่ขยายไปสู่ระดับประเทศ ความพยายามและความมุ่งมั่นของพี่ออนได้พาเขาสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 พี่ออนได้รับรางวัลระดับโลก นั่นก็คือ BEST INNOVATIVE COCONUT FARMER 2022 จาก International Coconut Community
พี่ออนบอกเราว่าพี่ออนไม่ได้เป็นคนล่ารางวัล แต่พี่ออนเอาตัวเองไปอยู่ในเวทีแต่ละเวทีเพื่อส่งเสริมอาชีพของตนให้เติบโต และเป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรท่านอื่นๆ
โดยในปัจจุบัน Aromatic Farm ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. Aromatic Farm Academy (AFA) : ธุรกิจที่เน้นการสอนและการฝึกอบรม เพื่อสร้างบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นคนดี การลงทุนในการพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับความยั่งยืนของธุรกิจ
2. Aromatic Farm BCG (AFB) : ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำขยะมาสร้างมูลค่า สร้างเงิน สร้างรายได้
3. Aromatic Farm Coconut (AFC) : ธุรกิจที่ขายมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว ซึ่งธุรกิจนี้ช่วยสร้างกำไร และการอยู่รอดทางธุรกิจ
พี่ออนบอกกับเราว่า "ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ภูมิใจที่เราทำการเกษตรได้ ภูมิใจที่มุ่งมั่นและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิใจมากยิ่งขึ้นที่เห็นชุมชนดีขึ้นเรื่อยๆ" และนี่คือความภูมิใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ นวลลออ เทอดเกียรติกุล
คุณอดุลย์ วิเชียรชัย หรือพี่อดุลย์ เกษตรกรรุ่นใหม่จาก "อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด" ศูนย์การเรียนรู้เกษตรเต็มรูปแบบ จังหวัดปทุมธานี เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2561 พี่อดุลย์เล่าว่าเดิมทีประกอบอาชีพเป็นวิศวกร ทำงานอยู่ที่กรุงเทพ 9 ปี ตัดสินใจลาออกจากการเป็นวิศวกรมาทำเกษตรร่วมกับครอบครัว ในช่วงแรกพ่อและแม่ของพี่อดุลย์ทำเกษตรเชิงเดี่ยวปรากฏว่าเจอปัญหาการขาดทุนจากการทำนา และการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม เลยตัดสินใจที่จะกลับมาพัฒนาพื้นที่ของครอบครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
โดยพี่อดุลย์ได้กลับมาทำฟาร์มเห็ด และบริหารจัดการฟาร์มเห็ดให้ประสบความสำเร็จ โดยการนำเอาความรู้ทางบัญชีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทุกขั้นตอน พี่อดุลย์ไม่เพียงแค่มองฟาร์มเห็ดเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการดำเนินธุรกิจอย่างมีระบบและมีแผนการ พี่อดุลย์เชื่อว่าการบริหารจัดการฟาร์มเห็ดเหมือนการบริหารจัดการบริษัท ที่ต้องแบ่งหน้าที่และการทำงานให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูง
ในปี 2561 พี่อดุลย์ได้รับ"รางวัลเกษตรดีเด่น" จากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และในปี 2565 ได้รับ "รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ" สาขาบัญชีฟาร์ม ซึ่งทั้ง 2 รางวัล เป็นการการันตีความสำเร็จในการปรับใช้ความรู้ในการบริหารจัดการทางการเกษตร
ปัจจุบันอดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ให้คนได้เข้ามาฝึกอบรมด้านการเกษตร อีกทั้งยังมีการจัดการท่องเที่ยวชุมชนควบคู่กันไปด้วย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างยังยืน
"เกษตรไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เกษตรคือชีวิตของเรา ชีวิตที่ไม่สามารถลาออกจากสิ่งที่เราทำได้ เพราะฉะนั้นเราจะอยู่กับชีวิตของเราอย่างไรให้มีค่าและเหมาะสม เราไม่จำเป็นต้องยืนอยู่ในจุดที่ดีที่สุดแค่เรามีความสุขในจุดที่เรายืนแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว" พี่อดุลย์กล่าว
ทั้งพี่ออนและพี่อดุลย์เป็นแบบอย่างของผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการพัฒนาการเกษตร อีกทั้งยังเน้นในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคมอีกด้วย