ช่วงนี้ไม่ว่าจะเข้าไปเช็กฟีดในเฟซบุ๊ก รีทวิตในทวิตเตอร์ อัพรูปในอินสตาแกรม ไถคลิปบนติ๊ก-ต๊อก ก็เจอแต่คำว่า "กัญชาเสรี" เต็มไปทั่วโซเชียลมีเดีย เนื่องจากประเทศไทยได้ถอดถอน กัญชา ออกจากสารเสพติดให้โทษในประเภท 5 ทำให้กัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป
ก่อนจะเสรี
"กัญชา" มีสารที่ชื่อว่า Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งสารดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และกัญชาจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเมล็ดกัญชง รวมถึงสารสกัด CBD และกากที่เหลือจากการสกัดซึ่งต้องมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กัญชาและกัญชงได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรายละเอียดสามารถอ่านได้ ที่นี่
3 พันธุ์กัญชายอดนิยม
ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชก็ต้องมีหลากหลายสายพันธุ์ กัญชาเองก็เช่นกันที่ก็มีสายพันธุ์ย่อยออกมา แต่วันนี้เราจะมาแนะนำสายพันธุ์กัญชายอดนิยมที่ทั่วโลกนิยมปลูกให้กับประเทศ "กัญชาเสรี" น้องใหม่อย่างประเทศไทยกัน
1.พันธุ์ซาติวา (Cannabis Sativa)
เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 6 เมตร เลยทีเดียว ใบยาว เรียว สีเขียวอ่อนมีลำต้นที่หนา ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 9-16 อาทิตย์ ชอบแสงแดดและ อากาศร้อน เหมาะกับการปลูกกลางแจ้ง มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ช่วยให้กระปรี้กระเปร่าและร่าเริง
2.พันธุ์อินดิคา (Cannabis Indica)
พันธุ์กัญชาที่มีลำต้นพุ่มเตี้ย เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร มีใบกว้าง และสั้น มีสีเขียวเข้ม กิ่งก้านดกหนา ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 6-8 อาทิตย์ ชอบที่ร่มและอากาศเย็นเหมาะกับการปลูกในที่ร่ม มีสาร CBD (Cannabidiol) ที่ออกฤทธิ์ระงับประสาท ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง
3.พันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis)
กัญชาพันธุ์นี้มีลำต้นเตี้ยกว่าสองสายพันธุ์กัญชาด้านบน มีลักษณะคล้ายวัชพืช ใบกว้างมี 3 แฉก โตเร็ว อยู่ได้ทั้งอากาศร้อนและเย็น มีปริมาณสาร THC น้อยกว่าสองสายพันธุ์แรก แต่มี CBD ที่สูง มักนำไปผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้ได้สรรพคุณทางยา
ข้อดีที่ใครๆ ก็ยอมรับ
แน่นอนว่าการที่กัญชาเสรีได้ ตัวเจ้ากัญชาเองก็ต้องมีประโยชน์ ซึ่งต้องบอกเลยว่าประโยชน์ของกัญชานั้นมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะในวงการแพทย์
อย่างที่กล่าวไปว่ากัญชามีสาร CBD อยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีสารหลักอย่าง Tetrahydrocannabidiol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยฤทธิ์ของ THC มีผลต่อประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และ กระตุ้นให้อยากอาหารมากขึ้น ส่วน CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในผลการรักษามะเร็งในมนุษย์
โดยกระทรวงสาธารณะสุขกล่าวว่ามี 6 โรค/ภาวะอาการ ที่สารในกัญชามีประโยชน์ในการรักษา โดยมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- โรคลมชัก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
- ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักน้อย
- การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยในระยะสุดท้าย
ข้อเสียที่ต้องรู้
แน่นอนว่าการที่กัญชาเคยจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มาก่อนก็มาจากข้อเสียของมัน ในการสูบกัญชาเข้าไปโดยตรงหรือได้รับสารในกัญชาเข้าไปในปริมาณที่สูงเกิน จะทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน ปัญหาเกี่ยวกับความจำ และการเรียนรู้ ปัญหาเกี่ยวกับการคิด และมันสามารถทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นและเกิดภาพหลอนขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับสารในกัญชาเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากเด็กที่เกิดจากแม่ที่รับกัญชาในปริมาณมากในระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางระบบประสาท
แม้จะเสรีในบ้านเราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับกัญชาจนเกิดเป็นเทรนด์ที่ใครๆ ก็ต่างพากันพูดถึง ซึ่งคำว่ากัญชาเสรีแต่ก็ใช่ว่าจะเสรีไปเสียทุกอย่างซึ่งทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ก็ควรศึกษาข้อกฎหมายและสายพันธุ์กัญชาให้ดีเสียก่อนเพราะอย่างที่กล่าวไปว่ากัญชาเองก็มีข้อเสียในตัวมันอยู่ไม่ใช่น้อย และไม่ควรนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อป้องกันอันตรายจากฤทธิ์ต่อตนเองและผู้อื่นอีกด้วย