จากวิศวกรอนาคตไกล สู่เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์
จากวิศวกรหนุ่มอนาคตไกล ทิ้งโอกาสที่จะได้ไปร่วมงานยังต่างประเทศ ด้วยความที่เป็นห่วงพ่อแม่ที่ต้องอยู่เพียงลำพัง และทั้งสองก็อายุมากแล้วจึงตัดสินใจหันหลังให้อาชีพวิศวกร กลับบ้านเกิดมาเพื่อทำการเกษตร ประกอบกับความตั้งใจอยากทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งผักให้พี่สาวที่ป่วยเป็นมะเร็งให้ได้ทานผักที่ปลอดสารพิษ นำมาสู่การทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ "แสนบุญฟาร์ม"
แสนบุญฟาร์ม ฟาร์มความสุขสำหรับการเรียนรู้
พี่เอฟเล่าให้ฟังว่า "แสนบุญฟาร์ม" มีที่มาจากชื่อของคุณพ่อและคุณแม่ คำว่า "แสน" มาจาก แสนยากร ชื่อของคุณพ่อ และคำว่า "บุญ" มาจาก บุญเรือง ชื่อของคุณแม่ จึงรวมกันเป็นแสนบุญฟาร์ม ฟาร์มเกษตรวิถีอินทรีย์ที่พี่เอฟภาคภูมิใจ เพราะเริ่มต้นตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยวและจัดจำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกสู่ตลาด โดยจัดสรรพื้นที่ในฟาร์มได้อย่างลงตัว แบ่งเป็น ปลูกพืชผักอินทรีย์ ผสมไม้ผล อาทิ มะม่วง มะนาว ละมุด และอื่นๆ รวมถึงทำประมงเลี้ยงสัตว์อย่าง กุ้งก้ามกราม เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ อีกทั้งยังมีการปลูกข้าวอินทรีย์ และโรงงานแปรรูปน้ำพริกกุ้ง และน้ำสลัด เรียกได้ว่าครบวงจรและเหมาะกับการเรียนรู้ในฟาร์มความสุขแห่งนี้จริงๆ
เกษตรอินทรีย์วิถีวิทยาศาสตร์
เมื่อได้มาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ก็ได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนในหมู่บ้าน พี่เอฟเองได้เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลง โดยนำเอาหลักคิดและความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาเข้าช่วย จากเกษตรเชิงเดี่ยวที่เป็นระบบเกษตรกรรมการปลูกพืชชนิดเดียว สู่เกษตรทางเลือกที่เป็นการทำเกษตรกรรมแบบไม่ใช้สารเคมีแต่อย่างใด เป็นเกษตรแบบผสมผสาน ที่พี่เอฟเริ่มนำเข้ามาในชุมชน
ซึ่งพี่เอฟเองเรียนจบปริญญาตรี ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเรียนจบมาได้ทำงานในสายเทเลคอม โดยออกแบบโครงสร้างเสาโทรศัพท์ ต่อมาตัดสินใจมาทำฟาร์มเกษตร "แสนบุญฟาร์ม" ก็เข้าศึกษาต่อในปริญญาโท คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อต่อยอดและพัฒนาฟาร์มเกษตรของตัวเอง ความตั้งใจของพี่เอฟ คือการนำเอาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ในฟาร์มเกษตร พี่เอฟเลือกใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาวิเคราะห์และประมวลผล เป็นตัวด้วยในการปลูกผักอินทรีย์ให้เจริญงอกงาม และได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ พร้อมสร้างรายได้ที่ช่วยยกระดับชีวิตครอบครัวและชุมชน
เครื่องมือที่พี่เอฟเลือกนำมาใช้ในฟาร์ม มีทั้งการจัดการแบบสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) โดยการตั้งเวลาเปิดปิดจากมือถือ ทั้งยังนำความรู้นี้ไปเผยแพร่และช่วยเหลือคนในชุมชน หากบ้านที่มีผู้สูงอายุทำการเกษตร ก็จะเลือกให้เหมาะกับผู้ใช้งาน โดยแนะนำและสอนการใช้ระบบรีโมตตั้งเวลาแทนสมาร์ทโฟน เพราะเกษตรกรผู้สูงอายุจะถนัดและใช้งานได้เหมาะมือมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมืออื่นๆ อีก อาทิ เครื่องมือการวัดค่าอินทรีย์ เพื่อวิเคราะห์น้ำหมักว่าควรเอาไปใช้อย่างไร การปลูกสลัดต้องใช้ค่าอินทรีย์เท่าไหร่ หรือค่าปุ๋ยที่พืชต้องการ เพื่อให้ได้ผักสลัดที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงเครื่องวัดปุ๋ยเพื่อวัดค่าน้ำหมักปุ๋ยอีกด้วย
สู้ทุกอุปสรรค สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
"อุปสรรคที่มันเจอมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าไม่มีอุปสรรคเลยมันก็จะไม่มีการพัฒนา"
พี่เอฟกล่าวพร้อมเล่าให้ฟังถึงอุปสรรคที่ตนได้เจอมา อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าเดิมตนเป็นวิศวกรมาก่อน จึงไม่มีความรู้การทำเกษตร พ่อแม่ก็เป็นครู ไม่ใช่เกษตรกร จึงต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ จนเจอหัวใจสำคัญนั้นก็คืออาหารของพืช ที่อาศัยเครื่องมือมาทำลายกำแพงอุปสรรค ทำให้ได้ผลผลิตที่โตและได้มาตรฐาน พร้อมมีคุณภาพ ช่วยให้กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน
พี่เอฟทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้กำลังใจกับคนรุ่นใหม่ที่คิดอยากจะกลับมาฟื้นฟูบ้านเกิดของตน เหมือนที่ตัวเองกลับมาพัฒนาชุมชนและได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ตนเชื่อว่าทุกคนที่อยู่เมืองไทยมีที่ทางและพื้นที่ทำกิน แต่ไม่คิดจะทำเกษตรในเชิงธุรกิจ จึงอยากฝากถึงทุกคนให้อย่าย่อท้อ ลองทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่า พร้อมหรือยังที่จะทำเกษตรด้วยใจจริง ถ้าตัดสินใจแล้ว ก็อยากให้ฮึดสู้ เริ่มแรกอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่อย่าได้ละทิ้งฝัน จงมุ่งมั่นและกลับมาเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรไปสู่อนาคต ส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราว่า เขาจะทำเกษตรได้โดยมีที่ทางที่เราได้ปูมาแล้วเพื่อให้พวกเขาต่อยอดความสำเร็จที่จะเกิดสืบไป
รักบ้านเกิดต้องขอขอบคุณเรื่องราวบันดาลใจจากพี่เอฟ แห่งแสนบุญฟาร์มมากๆ ที่ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และรวบรวมความรู้ความสามารถที่มีมาประยุกต์และปรับใช้ เพื่อพิชิตทุกอุปสรรค และสร้างความสำเร็จไปร่วมกันครับ