เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

โรงเรือนปลูกพืช ตัวช่วยเกษตรกรยุคใหม่

01 พฤษภาคม 2564
3,653
โรงเรือนปลูกผัก เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เกษตรกรให้ความสนใจอย่างมาก เพราะตอบโจทย์เรื่องการปลูกพืชได้ทุกฤดูกาล โดยรูปแบบโรงเรือนมีหลายแบบให้เลือกขึ้นอยู่กับชนิดพืชและเงินทุนของเกษตรกร
วิรัตน์ โปร่งจิต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักสดและผลไม้แปรรูปบ้านหนองทราย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เห็นความสำคัญของการใช้โรงเรือนปลูกพืช มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่นี้ติดตั้งโรงเรือนปลูกพืช 5 หลัง และเป็นโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพของ สวทช. ประมาณ 4 หลังด้วยกัน สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 30,000-40,000 บาท ต่างจากเมื่อก่อนที่ได้ไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน


"จากเมื่อก่อนไม่มีโรงเรือน เวลาปลูกผักหน้าฝนทีไรก็ไม่ค่อยได้ผลผลิต อย่างผักบุ้งที่เจอโรคราสนิมอยู่หลายหน แต่พอย้ายไปปลูกในโรงเรือนกลับไม่เจอปัญหาใดๆ และยังได้ราคาดีอีกด้วย"
ขอบคุณภาพจาก : สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (https://bit.ly/3gyeJRO)


โรงเรือนปลูกพืชหลังแรกของวิรัตน์เป็นโรงเรือนทรงหลังคาฟันเลื่อย หรือที่เรียกว่าทรงหลังคา ก.ไก่ เป็นโรงเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น และในปี 2561 สวทช. ก็ให้งบประมาณมาสนับสนุน โดยการสร้างโรงเรือนพลาสติกปลูกพืชแบบโครงสร้างหลังคา 2 ชั้น ขนาด 6x24x4.8 เมตร หลังจากการติดตั้งโรงเรือนพบว่าพืชผักที่ปลูกในโรงเรือนได้คุณภาพดี มีความสวยงาม แถมยังลดระยะเวลาการปลูกได้อีก และที่สำคัญปลูกผักได้ไม่น้อยกว่า 8 รอบต่อปี


ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากคุณภาพผลผลิตที่ได้ก็คือลดความเสียหายหรือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ทำให้ วิรัตน์ เขียนโครงการของบประมาณสร้างโรงเรือนเพิ่มอีก 2 หลัง จากหน่วยงานรัฐ และลงทุนเองอีกหนึ่งหลัง โดยโรงเรือนทั้งหมดที่เป็นรูปแบบของ สวทช. ตั้งใจไว้ว่าจะใช้โรงเรือนเหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกพืชในระบบโรงเรือน
ขอบคุณภาพจาก : สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (https://bit.ly/3gyeJRO)


พื้นที่กว่า 3 ไร่แห่งนี้ไม่ได้มีแค่แปลงพืชผักที่เป็นของสมาชิกในครอบครัว แต่ว่ายังมีพืชอื่นๆ อย่างหม่อน มะม่วงหาวมะนาวโห่ รวมอยู่ด้วย และเป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักสดและผลไม้แปรรูปบ้านหนองทราย สิ่งสำคัญคือเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ให้ความรู้การปลูกพืชระบบเกษตรอินทรีย์ การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์ ไปจนถึงการแปรรูปผลผลิตที่ได้รับมาตรฐาน


การติดตั้งโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพของ สวทช. ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้การผลิตพืชผักในระบบโรงเรือน พร้อมกับเรียนรู้ได้ถึงโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์ และการประยุกต์ใช้งานเพื่อสำหรับติดตั้งโรงเรือน


นอกจากนี้การที่มีทักษะและประสบการณ์ทางด้านงานช่าง ทำให้ วิรัตน์ รู้จักการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ค่อนข้างมาก ถึงแม้โรงเรือนปลูกพืชหลังแรกที่ได้มาจะเป็นการสนับสนุนจาก สวทช. แต่พอมาเป็นโรงเรือนหลังถัดไปก็เริ่มประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์เข้ามาเพิ่มด้วย เพราะช่วยลดต้นทุนการสร้างโรงเรือนปลูกพืชได้เป็นอย่างดี


วิรัตน์ ยังได้ประยุกต์รูปแบบการติดตั้งโรงเรือนสองหลังเข้าด้วยกัน กลายเป็นโรงเรือนหนึ่งหลังขนาดใหญ่ที่มีขนาดกว้างขวาง มีมุ้งขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ติดแนบกับเสาข้างโรงเรือน ทำให้มีพื้นที่ว่างด้านข้างไว้สำหรับเดินดูแปลง และยังมีบ่อน้ำตรงกลางโรงเรือนขนาด 1.50x20x0.80 เมตร ความจุ 2 หมื่นลิตร ที่คอยเป็นแหล่งจ่ายน้ำให้กับพืชผักในพื้นที่กว่า 3 ไร่
ขอบคุณภาพจาก : สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (https://bit.ly/3gyeJRO)


นอกจากนี้ยังติดตั้งเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ในโรงเรือน 3 หลัง มีทั้งรูปแบบสั่งการให้น้ำทำงานแบบไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารสั่งรดน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่าย และมีอุปกรณ์ติดตามสภาพแวดล้อม มีการเก็บข้อมูลไว้ในระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อสั่งเปิดและปิดน้ำในระบบ


สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการประยุกต์ หรือการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อลดต้นทุน นั่นก็คือการดูแลรักษาโรงเรือน ซึ่ง วิรัตน์ บอกว่า ต้องล้างฝุ่นที่มุ้งก่อน โดยการเอาน้ำฉีดจากด้านในโรงเรือนอย่างน้อยทุกๆ 10 วัน หรือถ้าล้างได้ทุกอาทิตย์ก็จะยิ่งดี รวมไปถึงพลาสติกคลุมโรงเรือนเช่นกัน ทำความสะอาดฉีดล้างเดือนละครั้งจะช่วยยืดอายุการใข้งานได้นานทีเดียว


โรงเรือนเสมือนเป็นตัวช่วยในการปลูกพืชให้ง่ายขึ้น ถ้าหากเกษตรกรมีความรู้ในการปลูกพืช รู้จักวางแผนการปลูก มีความรู้ปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ยหมักหรือน้ำหมัก ก็จะช่วยเติมเต็มในการทำงานของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้มากยิ่งขึ้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
https://www.nstda.or.th/agritec/case-study-greenhouse-virat/