แล้วเกษตรอินทรีย์ดียังไง ?
จุดสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การทำเกษตรที่ปลอดสารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ รวมถึงการไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรม โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
ซึ่งข้อดีหลักๆ ของการทำเกษตรอินทรีย์ คือ
1.ด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความสมดุลและความหลากหลายให้ระบบนิเวศเกษตร ไม่ก่อให้เกิดสารปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ
2.ด้านสุขภาพ กระบวนการของเกษตรอินทรีย์ปลอดภัยต่อเกษตรกร และก่อให้เกิดความปลอดภัยทางด้านอาหารต่อผู้บริโภค ผลผลิตไม่มีสารตกค้างและมีคุณค่าทางโภชนาการ
3.ด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปีจากการปลูกพืชหมุนเวียน รวมถึงผลผลิตอินทรีย์จะจำหน่ายได้ราคาสูงเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ใช้สารเคมี ที่สำคัญในปัจจุบัน ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 20 ต่อปี
นอกจากนี้การทำเกษตรอินทรีย์ไม่จำเป็นต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก อย่างปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช แต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นแทน ซึ่งช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนการผลิตและได้กำไรมากขึ้น
4.ด้านสังคม เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชนและสังคม ในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันทั้งดินและน้ำ รวมถึงการรวมกลุ่มของเกษตรกรแลกเปลี่ยนความรู้การทำเกษตร หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างกันเอง เกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดจิตสำนึกรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น
ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ?
เกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญกับผืนดิน เมื่อดินดีพืชที่ปลูกก็ย่อมดี ดังนั้นการใช้ทรัพยากรดินโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบของปุ๋ยเคมี ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุและกายภาพของดิน รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินอาจตายได้ และเมื่อดินเพาะปลูกเป็นเช่นนี้ส่งผลให้ผลผลิตมีแร่ธาตุและวิตามินต่ำ เนื่องจากความสามารถในการดูดซับแร่ธาตุของดินลดลง พืชผลอ่อนแอขาดภูมิต้านทานโรค ทำให้เกิดการคุกคามของแมลง ศัตรูพืชและเชื้อโรคได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืชในที่สุด
นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดินและผลผลิตแล้ว การทำเกษตรที่ใช้สารเคมียังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างไม่ว่าจะดิน น้ำ และอากาศ รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงทางด้านสุขภาพให้กับเกษตรกรอีกด้วย ซึ่งทางออกของปัญหาข้างต้นก็คือการทำเกษตรอินทรีย์นั่นเอง
จะเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร ?
ก่อนอื่นเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ ควรต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ก่อนปลูก การเตรียมดิน การจัดการพื้นที่ สภาพดินแบบนี้ควรปลูกอะไร ปลูกอย่างไร การดูแลพืชผลตลอดไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งในทุกๆ กระบวนการของการทำเกษตรอินทรีย์ต้องสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางปฏิบัติของเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ดังนี้
1.การหมุนเวียนธาตุอาหาร ด้วยการใช้ธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปของอินทรีย์วัตถุที่สามารถย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ เช่น การใช้ปุ๋ยหมัก, การคลุมดินด้วยอินทรีย์วัตถุ, การปลูกพืชเป็นปุ๋ยพืชสด และการปลูกพืชหมุนเวียน
2.ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดิน ด้วยการใช้อินทรีย์วัตถุมาคลุมหน้าดินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นฟาง ใบไม้ หรือปลูกพืชคลุมดิน รวมถึงการไม่ใช้สารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ในดิน
3.ความหลากหลายที่สัมพันธ์กันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ อย่างการปลูกพืชหลายชนิดในเวลาเดียวกันหรือเหลื่อมกัน การปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช และถือเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูนิเวศการเกษตร ด้วยการไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดในการเพาะปลูก และฟื้นฟูนิเวศเกษตรด้วยการปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
5.การพึ่งพากลไกธรรมชาติในการทำเกษตร โดยการให้ความสำคัญกับวงจรการหมุนเวียนธาตุอาหาร วงจรการหมุนเวียนของน้ำ ให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ รวมทั้งการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิตอย่างสมดุลในระบบนิเวศ
6.การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต โดยการให้เกษตรกรพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ และปัจจัยการผลิตที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นเพื่อสอดคล้องกับนิเวศของท้องถิ่น