แนวคิดของนักเรียนนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการใช้ถุงพลาสติก และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยการนำของเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างใบตองมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการฝังเมล็ดพืช ที่ทิ้งได้แล้วกลายเป็นปุ๋ยและต้นไม้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ตั้งต้นมันเริ่มมาจากการแปรรูปผลไม้เป็นผลไม้กวน แต่ที่น้อง ๆ ได้รับรางวัลกันมาคือตัวบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกากใบตองแห้งแล้วนำมาอัดด้วยแป้งเปียกโดยไม่ใช้กาว
โดยในขั้นตอนนั้นเริ่มจากที่เด็กๆ ช่วยกันหาวัตถุดิบ คือ ใบตองแห้งมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หลังจากนั้นนำไปปั่นจนกลายเป็นกาก แล้วอัดกับแป้งเปียกเพื่อขึ้นรูปและมีการบรรจุเมล็ดพันธ์ไว้ในตัวบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตัวบรรจุภัณฑ์ของนักเรียนสามารถเกิดเป็นพืชได้! โดยเมื่อโดนความชื้นหรือฝน ตัวบรรจุภัณฑ์จะละลายเป็นปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในบรรจุพันธุ์ก็จะงอกและเติบโตเป็นต้นไม้ช่วยสร้างโลกสีเขียวได้ต่อไป ต้องบอกเลยว่าบรรจุภัณฑ์นี้สามารถช่วยโลกได้ถึง 3 เด้ง เด้งที่ 1 คือลดขยะพลาสติก เด้งที่ 2 คือ เพิ่มโลกสีเขียว และสุดท้ายที่สำคัญคือช่วยเกษตรกรไทยเพิ่มรายได้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งทำให้เราเข้าใกล้คำว่า Zero Waste มากที่สุด
ผลิตภัณฑ์ของนักเรียนเป็นที่น่าชื่นชม มีคนมาดูงานที่โรงเรียน และได้นำไปแสดงผลงาน และได้รับรางวัลชนะเลิศกิจกรรมการประกวดการงานอาชีพ งานมหกรรมความสามารถทางศิลปหัตถกรรมวิชาการ และเทคโนโลยีระดับชาติเมื่อปี 2561 และปัจจุบันน้อง ๆ กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเศษวัสดุต่าง ๆ ล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัวคือบรรจุภัณฑ์จากเปลือกทุเรียน ที่เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดระยองเลยทีเดียว
ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยสะท้อนกระบวนการการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตรกรรมใหม่ที่ใส่ใจโลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เป็นกำลังใจ แรงใจให้น้อง ๆ พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับพี่น้องเกษตรไทยและคนไทยต่อไป