เกษตรกรต้นแบบ

"ยศรายุทธ คูณสุข : ชีวิตผกผัน หันปลูกสมุนไพรขาย สร้างรายได้แบบยั่งยืน"

 27 มีนาคม 2562 9,150
จ.ปราจีนบุรี
ทำทุกวันให้ดีที่สุด
ทำทุกอย่างที่ทำให้คุณพ่อพอใจ
ตั้งใจทำงานเพื่อสร้างหลักที่มั่นคง
ให้ลูกและครอบครัว

คุณศรายุทธ และสวนสมุนไพรรอบบ้าน ปลูกและดูแลทุกต้นอย่างไกล้ชิด

ชีวิตคน ๆ หนึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย กว่าจะได้บทสรุป หรือกว่าจะเห็นเส้นทางที่ชัดเจนที่เขาเลือกเดิน ชีวิตวัย 24 ของคนอื่นๆ อาจกำลังเพิ่งเริ่มต้น เพิ่งเริ่มลองผิดลองถูก แต่สำหรับคุณศรายุทธเขามีทางชัดเจนที่เลือกเดิน ได้ทำงานที่บ้าน ได้ดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และมีความสุข เท่านี้ก็พอเพียงแล้วสำหรับคน ๆ หนึ่ง

นอกจากนั้น ครอบครัวของเขารู้สึกมีความสุขที่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการช่วยดูแลสุขภาพให้คนอื่นด้วย คนที่ซื้อสมุนไพรจากบ้านดงบังไปก็ได้กินของดี ถือว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของกุศลของพวกเขา ที่คนที่ซื้อไปกินแล้วหาย สิ่งที่เขาภาคภูมิใจมากคือได้เป็นส่วนหนึ่งยาของอภัยภูเบศร คือพวกเราเป็นผู้ปลูก อีกส่วนหนึ่งลูกหลานเราได้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ นี่เป็นความภูมิใจของครอบครัว

คิดอย่างไรกับการทำสมุนไพร...
การใช้ชีวิตของคุณศรายุทธ คูณสุขในช่วงวัยรุ่นนั้น ถือว่าใช้ชีวิตคุ้มมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ขณะที่เพื่อนๆ เรียนหนังสือในห้องเรียน คุณศรายุทธเที่ยว เล่น ดื่ม อยู่กับเพื่อน ๆ จนเรียกว่าเมื่อถึงวันนี้เขาไม่ไปไหนแล้ว หากจะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ก็ทำเพียงนั่งดื่มเบาๆ อยู่ที่บ้าน

การใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงในช่วงวัยรุ่น ทำให้วัย 24 ปีของคุณศรายุทธในวันนี้ตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง เพราะถือว่าใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานมาเต็มที่แล้ว กอปรกับมีลูกน้อยอีก 2 คนที่เขาต้องเลี้ยงดู เขาจึงต้องทำงานเป็นหลักให้ครอบครัวให้ได้

นอกจากการตั้งใจช่วยงานคุณพ่อปลูกพืชสมุนไพรอย่างเต็มที่ คุณศรายุทธยังทำอาชีพเสริม ด้วยการปลูกพืชสมุนไพรที่นอกเหนือจากใบสั่งของโรงพยาบาลอภัยภูเบศรมาไว้ขาย เพราะที่สวนสมุนไพรกลุ่มบ้านดงบังจะมีทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เข้ามาศึกษาดูงานอยู่เป็นประจำ รายได้ตรงนี้ถือเป็นรายได้เสริมของเขาเอง นอกเหนือจากการช่วยคุณพ่อดูแลงานสวนสมุนไพรที่ทำให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศร

นอกจากนั้น เขายังเตรียมไว้ว่า วันข้างหน้าเขาจะทำโฮมสเตย์ที่นี่ เนื่องจากที่นี่มีคนมาศึกษาดูงานมาก แต่ยังไม่มีการจัดสถานที่ให้พักค้างคืนได้ เขาจึงเตรียมการไว้ และคงได้สร้างในไม่กี่ปีข้างหน้า

และที่สำคัญ หลักคิดที่ได้จากการทำงานให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศร คือ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้ครอบครัวเขาเน้นว่าทุกอย่างที่ปลูกแล้วต้องกินใช้เอง เมื่อเหลือกินเหลือก็นำไปขาย แล้วค่อยเก็บซึ่งมันตรงกันข้ามกับเกษตรสมัยใหม่ซึ่งไม่ได้ยึดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เขาบอกว่าทำขาย ขายได้แล้วซื้อกิน ตรงนี้มันจะเป็นหนี้สินอมตะถึงลูกถึงหลาน

สำหรับใครก็ตามที่อยากกลับมาทำงานที่บ้าน ก็อยากให้หันกลับมาแล้วก็ยึดตามหลักแนวเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่หนึ่งไร่สองไร่นี้สามารถสร้างรายได้ให้คุณได้ต่อเดือนละ 10,000 บาทต่ำกว่า 10,000 บาทถ้ารู้จักคิดรู้จักทำอันดับแรกคือคิดว่าทำเพื่อกิน เหลือจึงนำไปขาย อย่าอายเงินน้อย ผัก สมุนไพร ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด สร้างรายได้ให้คุณเดือนละ 10,000 20,000 บาทได้ในพื้นที่แค่สองสามไร่ ปลูกตะไคร้ด้านล่าง ปลูกมะนาวด้านบน ปลูกยางนาไว้ด้านสูงเสียดฟ้า สร้างตรงนี้ 10 ปี 20 ปีข้างหน้ามันจะมีรากฐานชีวิตที่มั่นคงอยากฝากไว้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ คือ ไม้บำนาญ พวก ประดู่ พยุง ยางนา เลี้ยงไปลูกไว้สัก 40 - 50 ปีวันนี้คุณ 20 คุณเรียนจบคุณกลับมาบ้านคุณเริ่มปลูกได้เลยอีก 40 ปีข้างหน้า ราคาจะต้นละห้า 60,000 ถึง 100,000 บาท ถ้าปลูกสามไร่คุณมี 60 ต้นคุณเอาเงิน 100,000 คูณเข้าไปคุณก็จะมีเงิน 1,000,000 คุณก็จะมีบำนาญ ไม้กลางให้ปลูกพวกทุเรียน มังคุดมะนาว ปีสองปีให้ผลผลิต ล่างติดดินพ่อสอนไว้ให้ปลูกพืชผักสวนครัวสมุนไพรพวกนี้เดือนสองเดือนสามเดือนให้ผลผลิต ล่างให้ปลูกไม้หัว ใต้ดินก็มีแล้วคุณจะมีรากฐานชีวิตที่มั่นคง มีไม้บำนาญ มีไม้รายปี มีไม้รายเดือน มีไม้รายสัปดาห์ มีไม้รายวัน ครบวงจรคุณจะอยู่ได้ในพื้นที่สามไร่ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ถึง 30,000 บาทต่อเดือน ขอแค่มีใจ เกษตรกรมีแค่ใจอย่างเดียว ขยัน อดทนนิดหนึ่ง เพราะอย่างทำสมุนไพรก็ต้องอดทน งานมันจุกจิกนิดหนึ่ง งานไม่หนักแต่มันละเอียดจุกจิก มันต้องใช้ความอดทน

สิ่งที่คุณศรายุทธบอกตัวเองทุกวัน คือ “ทำทุกวันให้ดีที่สุด” ทำทุกอย่างที่ทำให้คุณพ่อพอใจ เพราะชีวิตที่ผ่านมา เขาเกเร และทำให้พ่อแม่เสียใจมาเยอะ เมื่อถึงวันที่มีลูกเป็นของตัวเอง เขาจึงตั้งใจทำงานเพื่อสร้างหลักที่มั่นคงให้ลูกและครอบครัว

สมุนไพรหลายชนิดถูกตากแห้งพร้อมจำหน่าย

กว่าจะมาเป็นสวนสมุนไพร...
คุณศรายุทธ คูณสุข จบการศึกษาเพียงแค่ ม. ๓ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ สมัยวัยรุ่นเขาเกเร ไม่ค่อยเข้าเรียน และติดเพื่อน จึงเรียนแทบจะไม่จบมัธยมต้น เมื่อจบ ม.ต้น จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อชั้น ม.ปลาย เพราะยังติดพันกับการเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ อยู่ จนอายุถึงเกณฑ์บวช เขาจึงตัดสินใจบวชเพื่อทดแทนให้คุณปู่ วันที่บวชเขาเห็นพ่อแม่ปลื้มใจ ก็เริ่มรู้สึกดีใจกับการที่ตนเองทำแล้วพ่อแม่ภาคภูมิใจ มีความคิดที่อยากจะตั้งหลักชีวิตใหม่หลังจากเกเรมานานซะที เมื่อบวชเสร็จก็สมัครเป็นทหารเกณฑ์ เริ่มพอใจที่ตัวเองมีเงินเดือน มีระบบ ระเบียบมากขึ้น และเริ่มอยากทำงานอะไรจริงจัง เมื่อออกจากทหารเกณฑ์จึงตัดสินใจมาช่วยพ่อทำงาน เพราะอยากอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ด้วย และที่บ้านก็ทำการเกษตรอยู่แล้ว จึงตัดสินใจไม่ไปที่ไหน

ก่อนหน้า คุณพ่อของเขา คุณลุงสมัย คูณสุข ทำนา แต่เห็นคนทำไผ่ตงแล้วรายได้ดี จึงไถแปลงนาออก และปลูกไผ่ตงทั้งหมด แต่โชคร้าย ทำไปสักพักจนกระทั่งกอไผ่ออกดอก พอมันออกดอกมันก็จะตาย รถคันแรกที่ได้ก็จากไผ่ตง เกือบจะรวยแล้วแต่ไผ่ตงมาตายเสียก่อน ปกติแล้วต้นไผ่ตงเมื่อออกดอกมันก็ตาย ตอนนั้นพ่อทำไผ่ตงนอกฤดู ปรกติจะออกตอนหน้าฝนก็ตัดที่นี่ก็ 2 ตันถึง 3 ตัน แล้วรู้สึกว่าน่าจะสร้างรายได้ที่ดีกว่าให้ครอบครัวได้ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนอาชีพใหม่ มาขายต้นไม้ประดับ เป็นพวกไม้ประดับ ไม้กอ พวกต้นเบิร์ด ต้นดาหลา พ่อจะไปขายแถวมีนบุรี แถวจตุจักร พอไม้ประดับ รายได้ก็ยังไม่ได้ดีเท่าไรนัก ยังมีหนี้สินกับ ธกส. จนกระทั่ง ธกส. เข้ามาช่วยจัดการ และให้ไปฟังข้อมูลจากโรงพยาบาลอภัยภูเบศร เพื่อผลิตพืชสมุนไพรให้โรงพยาบาล

เมื่อไปฟังข้อมูล สิ่งที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศรเสนอคือ ให้ปลูกพืชสมุนไพรส่งโรงพยาบาล แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ห้ามใช้ปุ๋ยอินทรีย์เด็ดขาด จากเกษตรกรผู้เข้าฟังข้อมูลในวันนั้น 300 กว่าราย เหลือลงมือทำจริงเพียง 12 ราย เท่านั้น เพราะคนอื่นๆ ไม่เชื่อว่าการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีจะได้ผล เกษตรกร 12 รายที่เหลือ จึงรวมตัวกันในชื่อว่า กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง โดยคุณสมัยและคุณศรายุทธ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยมีคุณสมัยเป็นแกนนำกลุ่ม รับใบออเดอร์จากโรงพยาบาล ว่าเดือนไหนต้องการพืชสมุนไพรชนิดใด จำนวนเท่าไหร่ โดยทุกครัวเรือนจะได้รับออเดอร์จำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งทำให้กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังมีรายรับหมุนเวียนตลอดทั้งปีจากโรงพยาบาลฯ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

เมื่อเริ่มเข้าไปรับฟังความต้องการของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ทางโรงพยาบาลสอนว่าให้ปลูกสมุนไพร ไม่ใช่ให้ปลูกฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว ให้เราปลูกเสริมปลูกแซมของที่เรามีอยู่ แซมเข้าไปเพื่อสร้างรายได้เสริมแทนที่ เราจะได้ไม่ต้องขายไม้ประดับอย่างเดียว ปลูกสมุนไพรเป็นรายได้เสริมเท่านั้น คุณศรายุทธและพ่อจึงมาคิดว่า ถ้ามาปลูกสมุนไพร ก็ได้เลิกซื้อยาปฏิชีวนะกิน ก็มีเหลือเงินเก็บจากตรงนั้น ทำให้คิดว่างั้นมาปลูกเกษตรอินทรีย์ มาปลูกผักกินเอง รู้จักสมุนไพรที่รักษาโรคเรา ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มหาศาล

นักเรียน นักศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานไม่ขาด

ช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการปลูก ไม่เข้าใจว่าจะเก็บช่วงไหนอย่างไร โรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเภสัชกรรมมาให้ความรู้ แล้วก็ปลูกส่งตัวอย่างไปให้ทางโรงพยาบาลว่าช่วงหนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน แล้วก็ส่งมาให้เดือนละตัวอย่างเพื่อไปตรวจสอบสารสำคัญออกฤทธิ์สำหรับตัวยาช่วงไหนดีที่สุด แล้วเขาจะกลับมาบอกเรา

สำหรับทีนี้การปลูกของทางกลุ่ม ก็เปลี่ยนแปลงอย่างที่บอกคือ 12 ครัวเรือน และแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่ปลูกในโรงเรือน ปลูกในร่ม อีกกลุ่มปลูกแดดรำไร และอีกกลุ่มหนึ่งปลูกกลางแจ้ง พอถึงหนึ่งเดือนสองเดือน ก็มาสรุปกันว่าตรงไหนงาม ตรงไหนให้ผลผลิตดีกว่า ตอนเริ่มต้นถามว่ายากไหมก็ยาก ถามว่าง่ายไหมมันก็ไม่ง่าย แต่ก็สู้ทุกรูปแบบ จากวันนั้นถึงวันนี้เขาคิดว่า ถ้าไม่ทำตั้งแต่วันนั้น ถือว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างมหาศาล ซึ่งจากครั้งแรกที่เป็นรายได้เสริมของบ้านดงบัง วันนี้สมุนไพรกลายเป็นรายได้หลักของทางกลุ่ม แล้วสิ่งที่เขาได้มากมายมหาศาล คือได้ครอบครัว ได้อยู่ด้วยกันทุกเช้า ได้เจอกัน ไม่เหมือนกับครอบครัวอื่นที่ตื่นเช้า คนนี้ไปทาง คนนั้นไปทาง

ได้รับมาตรฐาน IFOAM

ก่อนที่จะนำมาใช้ต้องผ่านการคัด การล้าง ตาก อบ ให้สะอาดปลอดภัยที่สุด

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

นายศรายุทธ คูณสุข
เลขที่ 34 หมู่ 6 บ.ดงบัง
ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมืองปราจีนบุรี
จ.ปราจีนบุรี 25000

สรายุทธ คูณสุข ชีวิตผกผัน หันปลูกสมุนไพรขาย สร้างรายได้แบบยั่งยืน

วิธีการแปรรูปสมุนไพร หั่น ตาก อบ ก่อนส่งขาย

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด