เกษตรกรต้นแบบ

"ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง : ผู้ใช้ความรู้สึกด้านลบ ผลักตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้า"

 11 กรกฏาคม 2561 4,534
จ.อ่างทอง
การขยายพื้นที่ เราไม่ต้องทำเยอะ
ทำพื้นที่ของเราให้เป็นต้นแบบ
ให้คนอื่นมาเรียนรู้ทำตาม
ไปสร้างสมาชิกให้ทํานาอินทรีย์
เราทำตลาดให้
เราจะได้เพิ่มทั้งพื้นที่การทำนาอินทรีย์
และเพิ่มชาวนาอินทรีย์ด้วย

ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง จากหนุ่มไอที สู่วิถีเกษตรกรเต็มตัว

การกลับมาทำอาชีพเกษตรกร พอกลับมาอยู่บ้านก็เหมือนกับเราได้สำนึกรักบ้านเกิด นำความรู้ที่เรามีกลับมาพัฒนาอาชีพพ่อแม่เรา พัฒนาอาชีพให้ชุมชน และบ้านเกิดเรา ไม่เพียงพัฒนา สร้างสรรค์วิธีการปลูก แต่นำความรู้ด้านการตลาดมาช่วยจัดการเรื่องการขาย นำความรู้ด้านสื่อออนไลน์มาช่วยในการกระจายสินค้า เพิ่มฐานลูกค้า ซึ่งหมายถึงยอดขายและรายได้สู่ตนเองและชุมชนจะมากขึ้นด้วย เมื่อสามารถสร้างอาชีพให้ตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืนแล้ว สิ่งที่ได้สิ่งแรกคือความสุขที่ได้มากกว่าเงินเดือน เมื่อมีความสุขมีกำลังแรงใจสร้างงาน เงินก็ตามมา ตรงนี้คือหลักสำคัญของการกลับมารักบ้านเกิด

หลักคิดของคุณปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง
คนที่เป็นเกษตรกรอยู่แล้วอยากเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือคนที่อยากทำการเกษตรโดยปลูกพืชตัวอื่น หลักสำคัญเลยคือเรื่องของแนวคิดในสิ่งที่เรากำลังทำ กำลังปลูก ในเชิงธุรกิจ เราต้องรู้ว่ากลุ่มลูกค้าคือใคร เราต้องหาตลาดมาก่อน ว่าสิ่งที่เราจะทำนั้น เราจะไปขายใคร ในกรณีของคุณปรีดาธพันธุ์ ก่อนที่จะมาทำอาชีพเกษตรกร เขาใช้หลักการของ business model canvas ( เป็นเครื่องมือสำเร็จรูปเครื่องมือใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังคิดจะ “ลงทุน” เริ่มต้นธุรกิจ หรือปรับปรุงธุรกิจเดิมให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ) ว่ากลุ่มลูกค้าคือใคร ทำจากหลังมาหน้าคือใช้ business model canvas แล้วก็ใช้ lean canvas (Lean Canvas คือเครื่องมือสำหรับเขียนแผนธุรกิจฉบับย่อ ที่เหมาะสำหรับกลุ่มธุรกิจ Startup เพราะทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นของการออกแบบธุรกิจออกบ้าง เพื่อให้กลุ่มธุรกิจ Startup สามารถทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกมาทดลองตลาดได้อย่างตรงกับความต้องการ และเหมาะสมกับช่วงเวลาและสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ) ที่ไปเรียนมา เราไปทำการตลาดก่อนแล้วมาปรับปรุงการผลิตสื่อ แล้วก็มาปรับปรุงเรื่องการสมาชิก

ในการทำเกษตรที่ไม่เหมือนคนอื่น ปัญหาสำคัญคือเสียงรอบข้างของชาวบ้าน อันนี้เป็นจุดสำคัญ ต้องหนักแน่น ต้องรู้ตัวว่าทำมาทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเราจะทำอะไร ทำเพื่อไปเส้นไหน ไปให้ถึงได้อย่างไร การมาทำอาชีพเกษตรอาจจะต้องมีล้มเหลว และการที่เราทำเกษตรที่ไม่เหมือนกับชาวบ้านเขา แตกต่างจากชุมชน ถ้าเราล้มเหลวก็จะเจอแรงเสียดทานทำให้เราหมดกำลังใจ กลุ่มที่เราอยู่จะเพิ่มกำลังใจให้กันได้ ต้องหากลุ่ม เครือข่ายในคนที่ทำเหมือนกับเรา จะได้แนวคิด ได้พูดคุย ปรึกษา ปัญหาที่คล้าย ๆ กัน และร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมฝ่าฟันกันไป จะได้มีกำลังใจในการที่จะก้าวต่อไป

" การขยายพื้นที่ในมุมมองของผมคือตัวเราเองไม่ต้องทำเยอะ เราทำพื้นที่ของเราให้เป็นต้นแบบ ให้คนอื่นมาเรียนรู้ทำตาม และสร้างแบรนด์ของเราให้ขายได้ แล้วเราไปสร้างสมาชิกให้ทํานาอินทรีย์ส่งให้เรา เราทำตลาดให้ เราจะได้เพิ่มทั้งพื้นที่การทำนาอินทรีย์ และเพิ่มชาวนาอินทรีย์ด้วย "

ข้าวอินทรีย์เมล็ดสมบูรณ์ ปลอดสาร100%

ก่อนจะมาเป็นนาอินทรีย์..ทุกวันนี้
การโดนดูถูก สำหรับบางคนอาจทำให้ทดท้อในโชคชะตา แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ชายคนนี้ เพราะคำพูดที่ทำให้น้อยเนื้อต่ำใจ ผลักดันชีวิตเค้าให้เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จากช่างเทคนิคของบริษัทที่จบวุฒิการศึกษา ปวส.ช่างอิเลกทรอนิกส์ การเห็นความต่างของเงินเดือนระหว่างคนจบปวส.กับวุฒิปริญญาตรี ทำให้คุณปรีดาธพันธุ์พยายามที่จะเรียนจบปริญญาตรีให้ได้ และได้เรียนต่อเสาร์ อาทิตย์ จนจบจากสถาบันราชภัฏ คณะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิต จากนั้น ก็ไปสมัครเป็นวิศวกรพัฒนากระบวนการในโรงงาน แต่ก็มีเหตุผลักดันชีวิตอีกครั้งจากหัวหน้างานที่เป็นวิศวกรว่า “ผมไม่สามารถคุยงานกับคุณรู้เรื่องหรอกนะเพราะคุณไม่ได้จบวิศวะโดยตรง คุณจบราชภัฏ” ประโยคนี้เป็นแรงผลักให้คุณปรีดาธพันธุ์ต้องการจบปริญญาโท ในมหาวิทยาลัยที่ดูดีกว่าหัวหน้าจบมา จึงไปเรียนต่อเสาร์อาทิตย์ และได้เรียนต่อการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม ปัจจุบันเป็นหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขณะเรียน เค้ามีโอกาสดูงานโครงการต่าง ๆ ของในหลวง การเข้าไปดูงานครั้งนั้นทำให้เค้ารู้สึกว่า ถ้านำความรู้ตรงนี้มาเผยแพร่ให้ชุมชน ให้ครอบครัวรู้ ก็น่าจะมีประโยชน์ แต่ตอนนั้นยังคงเรียนด้วยทำงานไปด้วย ยังไม่ได้คิดกลับมาทำงานที่บ้าน

การเรียนปริญญาโทของเค้า เน้นให้เป็นนักวิจัย นวัตกร ผู้บริหาร ผู้จัดการและท้ายสุด เป็นผู้ประกอบการ เขาก็เติบโตตามเส้นทางนั้น ขณะที่เป็นผู้จัดการโรงงานเค้าได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการโดยตรง ได้อ่านความคิด รู้ระบบรู้อะไรกับเขาทั้งหมด จึงอยากเป็นผู้ประกอบการบ้าง เค้าเริ่มทำการศึกษาตลาด พบว่าคนสนใจสุขภาพ และไปศึกษาว่าข้าวชนิดไหนมีคุณสมบัติเป็นยา พบว่ามี 3 ชนิด คือ ข้าวสินเหล็ก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวหอมมะลิ เค้าเลือกปลูกแบบเกษตรอินทรีย์แบบให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม จากนั้นจึงสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมา คือ แบรน์ออริจิไรซ์ และมีชื่อเสียงโด่งดัง

การจัดการแปลงเกษตรแบบปรีดาธพันธุ์...ความโดดเด่นของคุณปรีดาธพันธุ์นั้น คือ ความอึด ความสู้ไม่ถอย ความไม่ยอมแพ้ และชัดเจนในเป้าหมาย เมื่อเริ่มทำสิ่งใดด้วยใจที่มุ่งมั่น แน่วแน่แล้ว ความสำเร็จย่อมมีมากกว่าครึ่ง นอกจากนั้น คุณปรีดาธพันธุ์ยังนำความรู้ที่ได้ศึกษา มาปรับใช้กับการทำการเกษตร และหมั่นแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง การทำงานจึงพัฒนารูปแบบไปตลอดเวลา ที่สำคัญ เมื่อหันมาทำอาชีพเกษตรกรเต็มตัว เขาศึกษาถึงสิ่งที่เขาทำอย่างจริงจัง ทั้งลักษณะของข้าวต่าง ๆ ขั้นตอนในการปลูกการดูแล

ประหยัดเงินด้วยสารป้องกันเมลงทำเอง

อีกเรื่องที่สำคัญ คือเรื่องของใจ เมื่อทำงานที่แตกต่าง ทั้งแตกต่างจากวิถีเดิมของตน และแตกต่างจากชุมชนที่เขาอยู่ คุณปรีดาธพันธุ์ต้องใช้หลักใจในการฝ่าฟันปัญหา ทั้งจากการทำงานของตน เสียงจากคนรอบข้างและคนใกล้ชิด จนสามารถสร้างเครือข่ายของตนเองในกลุ่มคนทำนาอินทรีย์ด้วยกัน ช่วยกันหาหนทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จไปด้วยกันสร้างพลังใจให้เดินไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น เขายังมีระบบการจัดการ การตลาดที่ดี ที่ทำให้แบรนด์ออริจิไรซ์ของเขา ดีทั้งคุณภาพ และสามารถขายได้ในปริมาณมาก ต่อเนื่อง ยาวนาน ด้วยรูปแบบการจัดจำหน่ายแบบผูกปิ่นโต และการดึงบริษัท ห้างร้านมาทำ CSR นั้น ทำให้แบรนด์ออริจิไรซ์ประสบความสำเร็จทั้งรายได้ และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเขาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป คุณผู้อ่านคงสงสัยว่า โครงการผูกปิ่นโตข้าว คืออะไร คำตอบคือการจัดระบบการขาย ที่ลูกค้าต้องโอนเงินล่วงหน้ามา 1 ปี ทางกลุ่มจะสีข้าวสดส่งให้เขาทุก ๆ เดือน ทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ทุก ๆ เดือน ในระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน ส่วนการทำ CSR ของบริษัทต่างๆ นั้นคือ การเสนอเงื่อนไขให้บริษัทซื้อข้าวแบบผูกปิ่นโตเป็นระยะเวลาหลาย ๆ ปี เพื่อสามารถส่งเสริมเกษตรกรได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริง

เกียรติประวัติ :
-รางวัลสมาร์ทฟาร์มเมอร์ไทยแลนด์ ปี 2558

เกษตรประยุกต์ ใช้เป็ดกำจัดหญ้าในนา วัชพืชหมดไป แถมได้ไข่เป็ดอีก

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

นายปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง
บริษัท ออริจิไรซ์ จำกัด
เลขที่ 166 หมู่ 7
ต.ท่าช้าง อ.เมือง
จ.ชัยนาท 17000

เกษตรกรปริญญาโท เปลี่ยนจากนาเคมีเป็นอินทรีย์ ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่เพื่อชุมชน

กำจัดหนอนในแปลงนาข้าวอินทรีย์ ด้วยปูนแดงผสมเหล้าขาว

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด