เกษตรกรต้นแบบ

"ชนิดา อิศริญ นพสันติ : วิถีเกษตรกรในความอบอุ่นของครอบครัว"

 04 มิถุนายน 2561 4,306
จ.นนทบุรี
ทำฟาร์มผัก มักพบกับอุปสรรคมากมาย
วิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้นั้นง่าย
คือ เลี้ยงดูด้วยความรัก เอาใจใส่ทุกวันเช้าเย็น
เสมือนการเลี้ยงลูกคนหนึ่ง ที่เราต้องดูแลเขาอย่างดีนั่นเอง

คุณอิศริญ นพสันติ เกษตรกรรุ่นใหม่กับการสานต่อกิจการครอบครัว

ไม่ว่าจะทำอาชีพใด ล้วนต้องทำด้วยความรัก ความตั้งใจ หากไม่แล้วสิ่งที่วาดหวังไว้ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ ดังเช่นพี่น้องเกษตรกรรายนี้ คุณอิศริญ – คุณชนิดา นพสันติ ที่ตกลงปลงใจสานต่อกิจการครอบครัว และเพิ่มเติมผลผลิตทางการเกษตรให้เข้ากับยุคสมัย นั่นคือ การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ที่คุณอิศริญ เล่าว่าพืชผักก็เหมือนคนต้องดูแลเอาใจใส่ทุกๆ วัน ทุกวันนี้การเป็นเกษตรกรปลูกผัก และได้อยู่ร่วมกันกับครอบครัวพร้อมหน้าอย่างอบอุ่น เป็นสิ่งที่เกษตรกรคู่พี่น้องทั้งสองคนนี้ภูมิใจ

หลักคิดในการใช้ชีวิต
เพราะครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร โดยดำเนินกิจการฟาร์มกล้วยไม้ เมื่อร่ำเรียนจนจบการศึกษา คุณอิศริญ ได้กลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ต่อมาภายหลังคุณอิศริญ คิดต่อยอดธุรกิจครอบครัวและยังคงยืนอยู่บนพื้นของการเป็นเกษตรกร เขาได้ค้นคว้าหาข้อมูลการทำเกษตรแนวอื่นๆ เพิ่มเติม จนพบกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เกิดเป็นความสนใจและทดลองปลูกจนประสบความสำเร็จ

คุณอิศริญ เล่าว่า ครั้งแรกได้ทำการศึกษาทางอินเตอร์เน็ตก่อน ค้นหาฟาร์มใกล้เคียงเพื่อเข้าไปดูการปลูกของจริงที่ฟาร์ม ซึ่งความทุ่มเทและพยายามตั้งแต่แรกเริ่มทำให้คุณอิศริญ เข้าไปศึกษาดูงานฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์กว่า 10 ฟาร์มทีเดียว จากนั้นก็นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับพื้นที่ของตนเอง คุณอิศริญ และคุณชนิดาเล่าต่อว่า ล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกกันนานกว่า 6 เดือนจนเข้าที่เข้าทาง ด้วยความมุมานะอุตสาหะทำให้ในตอนนี้ผักไฮโดรโปนิกส์ของครอบครัวนั้นเจริญเติบโตเป็นอย่างดี และมีลูกค้าประจำอย่างต่อเนื่อง

คุณอิศริญศึกษาให้เข้าใจ ก่อนลงมือทำจริง

ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร
ภาพที่คุณอิศริญ จำได้มาโดยตลอดคือภาพของครอบครัวซึ่งทำกิจการฟาร์มกล้วยไม้ จนกระทั่งเมื่อคุณอิศริญเรียนจบ ได้ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจของทางบ้าน ช่วยกันดูแลกิจการร่วมกับคุณแม่ พี่ชาย และคุณชนิดา ผู้เป็นน้องสาว 2 ปีภายหลังจากการกลับมาดูแลกิจการของทางบ้าน คุณอิศริญมีเป้าหมายที่จะต่อยอดธุรกิจ โดยยังคงไว้ซึ่งการทำเกษตรเช่นเดิม จึงศึกษาและค้นหาข้อมูลการทำเกษตรด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม จนเจอกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เมื่อได้ปรึกษากับคุณชนิดาพร้อมด้วยครอบครัว ก็ลงความเห็นว่าจะทดลองศึกษาและปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กันอย่างจริงจัง

เริ่มแรก คุณอิศริญค้นหาฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ละแวกใกล้เคียงเพื่อขอเข้าไปศึกษาดูงาน โดยคุณอิศริญเล่าว่าการเข้าไปดูของจริง ได้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ ด้วยตัวเองนั้นจะทำให้เข้าใจได้มากกว่าการดูจากอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญหากมีข้อสงสัยก็สามารถถามผู้รู้ได้เลยอีกด้วย คุณอิศริญเข้าดูงานในฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์มากกว่า 10 ฟาร์ม จากนั้นทั้งครอบครัวได้ใช้ความรู้ นำมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ของตน ล้มลุกคลุกคลานอยู่ประมาณ 6 เดือน แปลงผักไฮโดรโปนิกส์ของครอบครัวนพสันติ ก็สำเร็จลุล่วงอย่างดี

ในการทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ แม้จะต้องพบกับอุปสรรคอยู่ทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาเรื่องภูมิอากาศ รากเน่า โคนเน่า แต่คุณอิศริญ คุณชนิดา พร้อมด้วยครอบครัวก็ไม่ย่อท้อ คุณชนิดาเล่าว่า วิธีแก้ไขปัญหาที่พบเหล่านี้ง่ายมาก นั่นคือ ต้องเลี้ยงดูด้วยความรัก ต้องหมั่นลงแปลงมาดูแลผัก เอาใจใส่ทุกวันเช้าเย็น คุณชนิดาพูดอย่างอารมณ์ดีว่า การปลูกผักของเธอก็เปรียบเสมือนการเลี้ยงลูกคนหนึ่ง ที่เราต้องดูแลเขาอย่างดีนั่นเอง

เทคนิคภูมิปัญญาอันโดดเด่น
จากการค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง และเข้าไปศึกษาดูงานในฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มากกว่า 10 ฟาร์ม คุณอิศริญและครอบครัว ได้นำความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เกิดเป็นแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่เต็มไปด้วยความรักและความเอาใจใส่ บนพื้นที่เกือบ 1 ไร่

ดูแลผักเหมือนลูก ปลูกด้วยความใส่ใจ

คุณอิศริญเล่าถึงวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เริ่มจากการปลูกที่เขาและครอบครัวจะช่วยกันหยอดเมล็ดอยู่ในบ้านก่อน 2 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอก จะนำออกมาตากแดดอีกประมาณ 5 - 7 วัน จากนั้นนำต้นอ่อนที่ได้ลงแปลงโต๊ะอนุบาล 1 ซึ่งจะทำการอนุบาลต้นอ่อนที่โต๊ะแรกนี้ประมาณ 15 วัน เมื่อครบกำหนดทำการย้ายต้นกล้าไปยังแปลงโต๊ะอนุบาล 2 เพาะเลี้ยงที่โต๊ะนี้อีกประมาณ 15 วัน ก่อนนำลงแปลงโต๊ะปลูกจริงอีกประมาณ 15 วันจึงเก็บขายได้ รวมระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บผักส่งขายได้ ประมาณ 2 เดือนนั่นเอง

การดูแลแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่คุณอิศริญ คุณชนิดา และครอบครัวช่วยกันทำทุกวัน คือการวัดค่า Ph ของน้ำให้ได้ระดับคงที่อยู่เสมอ คุณชนิดายังเล่าเสริมอีกว่า นอกจากค่า Ph ของน้ำ เรายังต้องวัดค่าปุ๋ยที่ละลายในน้ำของแปลงผักทุกวันด้วย หากค่าปุ๋ยลดลงก็ต้องใส่เพิ่มเข้าไป หรือค่าปุ๋ยมีมากเกินระดับที่ต้องการ เธอและครอบครัวก็จะช่วยกันเติมน้ำเปล่าเพิ่มเติมให้ค่าปุ๋ยลดลงคงระดับเอาไว้ เรียกว่าต้องตรวจสอบระดับความเข้มข้นของน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงแปลงผักไฮโดรโปนิกส์นี้ทุกวันมิได้ขาดเลยจริง ๆ สำหรับการเก็บเกี่ยว คุณอิศริญมีเคล็ดลับเพิ่มความสด อร่อย และปลอดภัย นั่นคือ ก่อนการเก็บเกี่ยวผักประมาณ 3 วัน คุณอิศริญจะให้น้ำเปล่าแก่แปลงผัก เพื่อให้พืชดึงปุ๋ยซึ่งสะสมอยู่ในลำต้น ใบ มาสังเคราะห์แสงไปจนหมด ไม่มีตกค้างอยู่ในลำต้นของผักนั่นเอง

เมื่อเก็บผักไปขายหมดแปลงปลูกแล้ว จะต้องมีการทำความสะอาดโต๊ะซึ่งเป็นแปลงปลูก คุณอิศริญเล่าว่าหลาย ๆ ฟาร์ม เขาใช้เครื่องล้างอัดฉีด หรือเครื่องอัดฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งแต่ก่อนคุณอิศริญก็ได้เครื่องล้างอัดฉีดแต่พบว่าเสียเวลามาก ที่สำคัญก็ไม่ค่อยสะอาดหมดจดเท่าไหร่ วิธีการลดระยะเวลาทำความสะอาดที่คุณอิศริญและครอบครัวใช้ คือการประดิษฐ์เครื่องล้างโต๊ะปลูก เป็นการทุ่นเวลา และประหยัดเงินทุนด้วยเพราะเครื่องล้างโต๊ะนี้สามารถใช้ได้ตลอด

การตลาดของคุณอิศริญและครอบครัว คือเริ่มหาจากกลุ่มคนรักสุขภาพรอบข้างก่อน เริ่มจากญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ คุณชนิดาเล่าว่าก็มีชักชวนให้เขาเริ่มรักสุขภาพ ลองเล่นกีฬา ลองปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร และลองหันมากินผักไฮโดรโปนิกส์อย่างนี้ ก็ต่อยอดมาเรื่อย ๆ เมื่อเพื่อนเริ่มเห็นผลสุขภาพดีขึ้น เขาก็มีการบอกต่อเพื่อน ปากต่อปากไปเรื่อย ๆ อีกด้านคุณอิศริญกล่าวเสริมว่า ได้มีการออกไปพบเจอกับแม่ค้าในตลาด ติดต่อส่งขาย จากนั้นแม่ค้าในตลาดก็รวมกลุ่มกันสั่ง ทุกวันนี้จึงส่งขายให้กับตลาดอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าขาจร ที่เขาเห็นจากในเฟซบุ๊คก็จะโทรนัดเข้ามารับผักไปถึงที่แปลงกันเลย

เมื่อถามความรู้สึกที่ได้ทำแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ คุณอิศริญและคุณชนิดากล่าวด้วยความภูมิใจและสุขใจ พวกเขาเล่าว่าทุกวันนี้มีความสุขดีมาก ได้ทำงานอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัว ได้อยู่กับลูก และได้ดูแลแม่ แค่นี้ก็สุขเกินพอแล้ว คุณอิศริญยังพูดต่ออีกว่า สำหรับผู้ที่ทำงานออฟฟิศ และมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด หากเบื่อไม่อยากทำงานออฟฟิศแล้ว ลองกลับมาดูพื้นที่ที่บ้าน ทำฟาร์มเล็ก ๆ หรือทำกิจการอะไรก็ได้ที่คุณถนัด หรือมีความชอบ คิด ลงมือทำให้ได้ หากทำแปลงผักเรายังสามารถแจกญาติสนิทมิตรสหายได้ ทำกินเองที่บ้านก็ได้ เพียงเท่านี้ก็จะได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ของครอบครัวนพสันติ มีรายได้อยู่ที่วันละประมาณ 1,500 - 5,000 บาท คุณอิศริญเล่าว่า ขณะนี้ที่ปลูกคือผักกรีนโอ๊ค และเรดโอ๊ค สำหรับอนาคตข้างหน้าตอนนี้ก็ได้วางแผนการตลาดเพิ่มเรื่อย ๆ หากลูกค้าต้องการตัวไหน ก็จะปลูกตามที่ลูกค้าต้องการ

ได้ทำงานอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัว ได้อยู่กับลูก แค่นี้ก็สุขเกินพอ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณอิศริญ - คุณชนิดา นพสันติ
เลขที่ 8/3 หมู่ 8 ถ.เลียบคลองวัดขุนศรี
ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี 11150

เกษตรกรยุคใหม่ เลี้ยงลูก ปลูกผักไฮโดรฯขาย ชีวิตดี รายได้ดี

ทำที่ล้างท่อปลูกผักไฮโดรฯ ใช้เพียงท่อกับสก๊อตไบร์ทก็ได้แล้ว

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด