

"พัฒน์นรี เฉลิมญาติวงค์ : ขยัน รอบคอบ เพียรพยายาม เพราะเราเป็นเกษตรกรของพระราชา"

ได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับสิ่งที่เรารัก
ได้รู้ว่าอาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่น่าอาย
แต่เป็นอาชีพที่มีคุณค่า แม้จะเหน็ดเหนื่อย
แต่ก็เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจมาก

คุณพัฒน์นรี เฉลิมญาติวงค์(อ้อ) เกษตรกรปริญญาโท กับเกษตรทฤษฎีใหม่
คนเราจะเกิดความภูมิใจกับอะไรได้บ้าง บ้างพ่อแม่ภูมิใจกับลูก ที่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย บ้างครูอาจารย์ภูมิใจในตัวลูกศิษย์ ศึกษาเล่าเรียนทั้งในและนอกห้องเรียนเป็นอย่างดี เจ้านายภูมิใจในตัวลูกน้องที่เป็นคนขยันทำงาน ซื่อสัตย์ สุจริต สุดแล้วแต่จะเกิดเรื่องใดให้ได้ภูมิใจบ้าง ดังเช่น คุณพัฒน์นรี เกษตรกรผู้มีความรู้ทางการเกษตรจากศูนย์ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเกษตรและการดำเนินชีวิต ยึดหลัก ขยัน รอบคอบ เพียรพยายาม จนสามารถสร้างพื้นที่ของครอบครัวให้กลายเป็น "บ้านพอเพียง" พื้นที่เกษตรผสมผสานที่ยั่งยืน
"ภูมิใจในอาชีพเกษตรกร เพราะเราคิดว่าตัวเองเป็นเกษตรกรของพระราชา" เป็นคำกล่าวของคุณพัฒน์นรี ที่บอกด้วยความรู้สึกจากใจอย่างแท้จริง ตั้งแต่เริ่มต้นยึดอาชีพเกษตรกร มีโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ เป็นห้องเรียนการเกษตร การเรียนคู่การลงมือทำจริง ๆ ยึดความขยัน รอบคอบ และเพียรพยายามทำให้คุณพัฒน์นรีประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรอย่างที่ตั้งใจ
"ทุกวันนี้กลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด ได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับสิ่งที่เรารัก ได้รู้ว่าอาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่น่าอาย แต่เป็นอาชีพที่มีคุณค่า ทุกวันนี้เดินเข้าไปในบ้านจากเมื่อก่อนที่ต้องคิดว่าเราจะกินอะไร เราต้องรอร้านค้าเพื่อไปซื้ออาหาร แต่พอมาวันนี้เราเป็นคนปลูกเอง มีตัวเลือกมากมายให้เราคิดว่าเช้านี้เราจะกินอะไรดี คำว่าเหลือกินเหลือใช้ รู้จักได้ก็เพราะการทำอาชีพเกษตรกรรม แม้ตอนแรกจะไม่ภูมิใจ เพราะคิดแค่ว่าเป็นอาชีพที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่เมื่อได้ลองทำจริงๆ แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ก็เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจมาก"
หลักคิดและการใช้ชีวิต
เมื่อชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยน ต้องหันเหการใช้ชีวิตกลับมาอยู่ยังบ้านเกิด แม้จะไม่มีพื้นฐานของการเกษตรแม้แต่น้อย แต่คุณพัฒน์นรี ก็แน่วแน่ในเส้นทางนี้ โดยมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เมื่อเธอท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย ก็จะมองเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำเพื่อพสกนิกรมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้เองเป็นแรงขับเคลื่อนให้คุณพัฒน์นรีทำบ้านพอเพียง ด้วยการเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ใช่เพื่อตัวเธอเอง แต่เพื่อคนอื่น ๆ ในพื้นที่บ้านเกิดของเธอด้วย
คุณพัฒน์นรีเริ่มอาชีพเกษตรกรจากความรู้ที่เป็นศูนย์ แต่เธอเลือกใช้วิธีเดินทีละก้าว ไม่รีบร้อนจนเกินไป และยึดหลักการพึ่งพาตนเองด้วยการศึกษาวิธีการทำ ตั้งรับและเรียนรู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำการเกษตรอย่างมีสติ และทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากลายเป็นประโยชน์ต่อไป ปัจจุบันนี้ คุณพัฒน์นรีบอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็รู้ทางแก้ไขจนหมดแล้ว เพราะเราได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ตรงจุดจริงๆ จากการลงมือทำเองในทุกขั้นตอน ทำให้เป็นคุณพัฒน์นรีบอกอย่างภาคภูมิใจว่า อาชีพเกษตรกรทำให้ได้รู้จักพื้นที่ของตนเองอย่างถ่องแท้
คุณพัฒน์นรีเล่าจากประสบการณ์ของเธอ ถึงการเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจะต้องมี 3 สิ่งนี้ คือความเพียร ความรอบคอบ และความขยัน เพียรศึกษาหาความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งวิธีทำการเกษตรใหม่ ๆ หรือปัญหาต่าง ๆ รอบคอบในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ แม้เราจะมีพื้นดินเป็นทุนทรัพย์ แต่หากไม่รอบคอบทำด้วยความรีบร้อนสุดท้ายพื้นดินก็ไม่อาจให้ประโยชน์กับเราได้อย่างเต็มที่นั่นเอง สุดท้ายต้องมีความขยัน เพราะแน่นอนหากเราขี้เกียจแล้ว สิ่งที่เราคาดหวังก็ไม่อาจบังเกิดผลได้อย่างแน่นอน
แปลงเกษตรผสมผสานและปลอดสารแน่นอน
ประวัติและความเป็นมา
หลังจากเรียนจบปริญญาโทคุณพัฒน์นรีทำงานมีรายได้หลักหลายหมื่นบาทต่อเดือน ภายหลังสมาชิกในครอบครัวป่วยต้องมีคนดูแล ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของการกลับมายังบ้านเกิด คุณพัฒน์นรีสนใจในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง การอยู่พอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเริ่มกลับมาศึกษาอย่างจริงจัง และปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของครอบครัวด้วย
เริ่มจากการนำพื้นที่ 2 ไร่ของครอบครัว มาปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยคุณพัฒน์นรียึดหลักจะปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้ เมื่อมีผลผลิตเก็บไว้กินเองในครอบครัวบางส่วนแล้ว ก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน คุณพัฒน์นรีเล่าว่าพอเอาผักกาดขาวไปฝาก เธอก็ได้ข้าวเหนียวถั่วดำกลับมา เป็นความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันกับคนในชุมชนด้วย พอคนเริ่มรู้ว่าบ้านของเธอเป็นแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษคุณภาพดี บอกกันปากต่อปากก็ทำให้เห็นผล คุณพัฒน์นรีเริ่มขายผลผลิตสู่ตลาด และนำพืชผักต่าง ๆ ไปฝากขายที่ศูนย์บริการวิชาการทางการเกษตร ของมูลนิธิชัยพัฒนาอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รายจ่ายก็น้อยลง
แม้คุณพ่อคุณแม่จะเป็นเกษตรกร แต่คุณพัฒน์นรีไม่เคยศึกษาเรื่องการเกษตรเลย ในการเปลี่ยนอาชีพมาทำการเกษตรในครั้งนี้จึงเริ่มต้นจากศูนย์ ซึ่งคุณพัฒน์นรีก็ได้มูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโรงเรียนสอนอาชีพการเกษตรให้กับตัวเอง
ปัจจุบันพื้นที่ 2 ไร่ที่เธอปรับเป็นพื้นที่เกษตรแบบผสมผสาน มีชื่อว่า "บ้านพอเพียง" ที่นอกจากทำเพื่อครอบครัวของเธอเองแล้ว ยังเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษาหาความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดทางการเกษตรระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่ และจากเกษตรกรรุ่นเก่านำมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องการตอนกิ่ง การบำรุงดิน การผลิตพืชที่ปลอดสารพิษ มีการผลิตพันธุ์พืชเองเพื่อรักษาพันธุ์พืชโบราณในท้องถิ่นให้คงอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของการเป็นเกษตรกรที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
เทคนิคของคุณพัฒน์นรี เริ่มตั้งแต่การปรับสภาพพื้นดิน โดยทำน้ำหมักปลอดสารพิษนำมารดพื้นดินในขั้นตอนการเตรียมแปลง น้ำหมักนี้จะช่วยย่อยสลายดิน และกลายเป็นปุ๋ยทำให้ดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ เมื่อได้ดินที่ดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชที่จะนำมาปลูก คุณพัฒน์นรีเลือกเมล็ดพันธุ์ถั่วฟักยาวที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเอง เริ่มจากการเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์จนได้ออกมาเป็นเมล็ดพันธุ์ถั่วที่สมบูรณ์ที่สุด ที่ทนแล้ง ทนต่อแมลง และทนต่อเชื้อโรคได้ดีกว่าพันธุ์จากที่อื่น
ผืนดินอุดม เมล็ดพันธุ์พร้อมสรรพ การจัดสรรพื้นที่ 2 ไร่อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่คุณพัฒน์นรีใช้ในการสร้างบ้านพอเพียง โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย โซนสำหรับเลี้ยงสัตว์ โซนบ่อน้ำ และพื้นที่ปลูกพืช การจัดพื้นที่ให้สมดุลกับการใช้ประโยชน์ทำให้เพิ่มปริมาณของผลผลิต จนมีรายได้เป็นแบบรายวัน รายเดือน และรายปี ในอนาคตข้างหน้า คุณพัฒน์นรีตั้งใจสร้างให้บ้านพอเพียงเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนในหมู่บ้านเกิดต่อไป โดยเริ่มปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดไปบ้างแล้ว เช่นการปลูกตำลึงเพิ่ม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างกล้วยฉาบ ไปจนถึงการทำข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ และนำองค์ความรู้ต่าง ๆ จากเกษตรรุ่นใหม่ และรุ่นเก่า มาใช้ในพื้นที่ ทำให้เกษตรผสมผสานของที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการทำเกษตรอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการผสมผสานทางความคิดอีกด้วย
เกียรติประวัติ
หลังจากเรียนจบปริญญาโทคุณพัฒน์นรีทำงานมีรายได้หลักหลายหมื่นบาทต่อเดือน ภายหลังสมาชิกในครอบครัวป่วยต้องมีคนดูแล ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ต้องกลับมายังบ้านเกิดเพื่อดูแลคนในครอบครัว เมื่อต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลายเป็นอาชีพใหม่ และเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอดได้ด้วย คุณพัฒน์นรีซึ่งสนใจในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง การอยู่พอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเริ่มทำการศึกษาอย่างจริงจัง นำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของครอบครัว
จนวันนี้ คุณพัฒน์นรีได้รับโอกาสเป็นวิทยากรระดับอำเภอ พูดเรื่องราวในด้านเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในพื้นที่และการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน นอกจากนี้คุณพัฒน์นรียังได้รับรางวัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเพชรปทุม 200 คนดีเมืองปทุม เนื่องในโอกาสจังหวัดปทุมธานีครบรอบ 200 ปี นอกจากนี้ยังได้ประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นสิ่งที่ภูมิใจและเป็นเกียรติแก่ครอบครัว
พืชที่ปลูกหลักๆ จะเป็นผักปลอดสาร ไม้ผล ผักสวนครัว และเลี้ยงปลาด้วย
คุณพัฒน์นรี เฉลิมญาติวงค์ (อ้อ)
บ้านพอเพียง 18 หมู่ 2 ตำบลบึงทองหลาง
อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
12150


