

"วณิชกรณ์ ศรีหรั่งไพโรจน์ : สุข เมื่อรู้จักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง"

ทำเพราะอยากทำ หรือทำเพราะตามกระแส
ถ้าทำตามกระแสก็ไปไม่รอด
ถ้าทำเพราะอยากทำและกล้าเผชิญปัญหา
ถ้าผ่านสิ่งนี้ได้ก็จะพบความสุข

คุณวณิชกรณ์ ศรีหรั่งไพโรจน์ ทำเกษตรโดยใช้หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
การจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องหาจุดลงตัวให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การพักผ่อน ซึ่งในพื้นที่ทำกินได้ผสมผสานหลายๆ สิ่งเข้าด้วยกันคือ หนึ่งเป็นที่ทำงาน สองเป็นที่พักผ่อน เมื่อสองสิ่งนี้รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้มีกำลังใจและมีความสุขในการทำงานตลอดเวลา
หลักคิดในการใช้ชีวิตของคุณฟอง
ปัจจุบัน เรามักใช้ชีวิตอยู่ในโลกอุตสาหกรรม เพราะเชื่อกันว่า ความสะดวกสบายทางวัตถุที่เราทุกคนต่างใฝ่หาจะได้มาอย่างง่ายดาย เพราะผลตอบแทนจากภาคอุตสาหกรรมนั้นดียิ่ง แต่สิ่งที่ได้มาคู่กันอย่างที่แต่ละคนไม่ได้เรียกร้อง คือความกดดัน แรงบีบคั้น ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด และก่อให้เกิดความทุกข์อย่างไม่รู้ตัว คุณฟองจึงหันมาหาภาคเกษตรกรรม และพบว่า การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียง ถึงผลตอบแทนจะน้อยแต่ผลตอบแทนด้านจิตใจสูงกว่า คือความสงบ ความสันโดษและทำให้ค้นพบตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น และบอกกับตัวเองว่านี่คือความแตกต่าง ต้องเลือกและชั่งใจเอา จึงตัดสินใจทำการเกษตรโดยใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ เรื่องของความพอใจพอเพียงในการใช้ปัจจัยต่าง ๆ อย่างมีสติ รอบคอบ และมีภูมิคุ้มกัน เป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ตรัสไว้นานแล้ว
คุณฟองมองตัวเองว่า "โง่ดักดานมากที่มองภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ การบริโภคต้องทำหลาย ๆ อย่าง สุดท้ายแล้วเราได้เงินมาก็มาซื้อข้าวกิน มันเป็นการเดินอ้อม แต่การที่เราทำการเกษตรโดยยึดถือเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่ได้เดินอ้อม เรามีข้าว เราหุงข้าว เราลงไปสวน มีผักมีปลา มีข้าวกิน อันนี้ครบแล้วถ้ามองในเรื่องของการดำรงชีวิต ปัจจัยในการดำรงชีวิต ก็คือยึดถือในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำการเกษตร เราจะมีความสุขและอยู่ได้"
ทำเกษตรไม่ยาก หากเข้าใจเรื่องดิน
ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร
ในอดีตคุณวิชกรณ์เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรมมาก่อน หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ ในปี พ.ศ. 2539 ได้ทำงานเป็นวิศวกร ด้านควบคุมคุณภาพ ทั้งในบริษัทของคนไทยและต่างชาติ ตำแหน่งล่าสุดคือผู้จัดการโรงงาน มีเงินเดือนระดับสูงพอสมควรในสมัยนั้น แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตคือ ความเบื่อหน่าย รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวตนของเรา และขณะเดียวกันนั้นเอง ปี พ.ศ. 2554 เกิดปัญหาน้ำท่วม จึงย้ายมาพักอยู่กับน้องสาวที่จังหวัดนครปฐม และอยากจะมีชีวิตทำการเกษตรบั้นปลายแบบสบาย ๆ จึงลาออกจากงานมาช่วยคุณพ่อดูแลที่นา ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 24 ไร่ เดิมทำนาทั้งหมด หลังจากผ่านไปได้ 2 ปี จึงรู้ว่า การทำนาข้าวอย่างเดียว ไปไม่รอด จึงต้องปรับหารายได้เพิ่มขึ้น โดยรายได้รายวัน คือ พืช รายเดือน คือ พืชผักสวนผสม รายปีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไร่อ้อย เเละบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับ ตลาด น้ำ ดิน และ แรงงาน สรุปลงตัวตรงที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไร่อ้อย จำนวน 14 ไร่ นาข้าว 5 ไร่ มีบ่อน้ำสำรองไว้ในช่วงหน้าแล้ง และพืชผักสวนผสมไว้กินเองและขายด้วย โดยใช้แนวทาง การลด ละ เลิก ใช้สารเคมี เปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่ได้ขอการรับรอง เพราะต้นทุนสูง ส่วนเรื่องของแรงงานนั้น งานเล็กงานน้อยทำเองทุกอย่างเพื่อลดต้นทุน ในเรื่องของรายได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับการเกษตร ในภาคอุตสาหกรรมมีรายได้ที่สูงก็จริง แต่ไม่มีความสุข แต่การมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียง ถึงผลตอบแทนจะน้อยแต่ผลตอบแทนด้านจิตใจสูงกว่า คือ มีความสงบ สันโดษ ค้นพบตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น
เพราะการใช้สารเคมี สุดท้ายแล้วตัวเกษตรกรเองที่รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ สุขภาพของเกษตรกรเองจากการใช้ยา ส่วนปัญหาของคุณฟองเองคือ การทำการเกษตรเป็นองค์ความรู้ที่ไม่จบสิ้น จึงต้องศึกษาค้นคว้าปรับปรุงอยู่เสมอ คุณฟองจึงใช้หลักการที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกด้วยกล้องวีดีโอและภาพถ่าย เพื่อสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผน ปรับปรุง พัฒนาต่อไปให้เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด
การวางแผนในอนาคต คุณฟองกล่าวว่าไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตาม เราไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ จะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งคุณฟองมองว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีอายุมากขึ้น การใช้แรงกายคงทำไม่ไหว จึงต้องมองหาในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น ในโรงเรือนจากเดิมที่รดน้ำโดยใช้สปริงเกอร์ อาจจะต้องนำเรื่องของระบบเซ็นเซอร์ ระบบออโตเมชั่นที่คุณฟองมีพื้นฐานอยู่แล้วมาปรับใช้ มีการปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ให้เหมาะสมกับเรื่องของวัย อายุ รวมทั้งการวางผังของแปลง การย้ายบ่อ การเพิ่มพื้นที่ ในเรื่องของการขนส่งก็มีการวางแผน คือการออกแบบรถพ่วงเป็นรถเข็นเข้าพื้นที่ สามารถโหลดของได้ และรถต่อพ่วงจักยานไว้สำหรับส่งของ 1 เป้าหมายได้ 4 อย่าง คือ 1.ได้ทำหน้าที่ส่งผัก หารายได้ 2.ลดรายจ่าย 3.ออกกำลังกาย 4.ช่วยโลก
เกียรติประวัติและผลงาน
จากคนทำงานภาคอุตสาหกรรม หันมาเรียนรู้และดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ คุณฟองได้รับผลตอบแทนเป็น รางวัล ระดับ 3 เกษตรกรประกวดนา ในปี พ.ศ. 2556 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ. 2557 ได้รับรางวัลที่ 3 ในเรื่องของสวนผสม ปี พ.ศ. 2558 และ 2559 ได้รับรางวัลที่ 1 ในเรื่องของ ไร่นาสวนผสม และเป็นตัวแทนของจังหวัดนครปฐมประกวดระดับเขต ได้รับรางวัลที่ 3 นอกจากนั้น ยังได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำนักศึกษามาดูงาน รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่และนอกพื้นที่ และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องชีวภาพ เช่น ปุ๋ยหมักระยะสั้น การเขี่ยเชื้อ การขยายเชื้อของไตรโคเดอร์ม่าซึ่งเป็นเชื้อราที่กำจัดโรคพืชต่างๆ ได้
คุณฟองทำเกษตรด้วยความสุขใจ และใส่ใจ ใช้เฉพาะสารชีวภัณฑ์ดูแลรักษาพืช
นายวิชกรณ์ ศรีหรั่งไพโรจน์ บ้านเลขที่ 102 หมู่ 3 บ้านหนองยายนุ่น ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม


