เกษตรกรต้นแบบ

"สายพิน ชูเชื้อ : หอมความสุขบนนาของพ่อ หอมความสุขบนแผ่นดินเกิด"

 21 กุมภาพันธ์ 2561 5,307
จ.สิงห์บุรี
อยากให้ทุกคนรักสุขภาพ ด้วยการกินอาหารที่ดีมีคุณภาพ
ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และยากต่อการเจ็บป่วย
โดยเริ่มต้นที่ข้าว ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานของคนไทย
ควรเลือกทานข้าวที่มีประโยชน์ สะอาดและปลอดภัย
ดังคำพูดที่ว่า ทานข้าวเป็นยา อย่าทานยาแทนข้าว

คุณสายพิน อดีตพยาบาลผู้สานต่ออาชีพทำนาจากคุณพ่อ

อาหารหลายอย่างอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ป่วยไข้ ต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งหากต้องใช้เวลาในการรักษานาน ยาที่ใช้รักษาอาจทำร้ายร่างกายได้ จึงอยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพด้วยการกินอาหารที่ดีมีคุณภาพ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และยากต่อการเจ็บป่วย โดยเริ่มต้นที่ข้าว ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานของคนไทยเรา ก็ควรเลือกทานข้าวที่มีประโยชน์ สะอาดและปลอดภัย ดังคำพูดที่ว่า "ทานข้าวให้เป็นยา อย่าทานยาแทนข้าว"


เรามีเป้าหมายที่จะทำนาเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เน้นเรื่องข้าวปลอดสาร เน้นความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน จึงมีการทำทุกกระบวนการอย่างมีคุณภาพ จนได้รับมาตรฐานของกรมการข้าวและอย. โดยนำความรู้ด้านโภชนาการจากที่ตัวเองเคยเป็นพยาบาลมาปรับใช้ นอกจากนี้ เนื่องจากสามีเป็นวิศวกร ก็ได้นำความรู้ด้านเครื่องจักรเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง กลายเป็นการยกระดับการทำนารูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้น สะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

หลักคิดและการใช้ชีวิต
อุปสรรคสำคัญสำหรับการปลูกข้าวปลอดสารขายคือ ตลาดข้าวคุณภาพยังไม่เปิดกว้างมากนัก เนื่องจากข้าวประเภทนี้ต้นทุนสูง และแต่ละไร่อาจให้ผลผลิตน้อย ราคาก็เลยแพง ส่วนเงินทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงแรกก็ลงทุนเอง ค่อยๆ ทำตามกำลังที่มี จะไม่ทำอะไรเกินตัว เราไม่เพียงคิดแค่การทำนา แต่ยังได้ต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเปิดโฮมสเตย์ รองรับลูกค้าที่เดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เพื่อซื้อข้าวพร้อมกับจัดกิจกรรมสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้การทำนาด้วย

กว่าจะมาเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ทุวันนี้...
คุณสายพิณมีชีวิตไม่แตกต่างจากใครหลายๆ คน นั่นคือ เกิดและเติบโตกับท้องนา แต่เมื่อโตขึ้น อาชีพทำนามักไม่ใช่อาชีพที่สนใจหรือใฝ่ฝัน อาจเพราะเห็นความลำบากของพ่อแม่ อาจเพราะเห็นราคาข้าวที่บางปีก็ต่ำเตี้ยจนน่าใจหาย อาจเพราะพ่อแม่เองก็ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตน จึงกัดฟันส่งลูกให้เรียนสูงๆ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพอื่น ซึ่งคุณสายพิณก็เลือกอาชีพพยาบาล ขณะที่พี่เป็นทหารและน้องเลือกเป็นอาจารย์

อยู่กับอาชีพที่ชอบกับสิ่งแวดล้อมที่ใช่

คุณสายพิณเป็นพยาบาลประจำห้องผ่าตัดอยู่ 25 ปีก็รู้สึกถึงจุดอิ่มตัว บวกกับพ่อไม่สบาย จึงออกมาดูแลท่าน เมื่อพ่อเสียชีวิตและแม่ต้องทำนาคนเดียว คุณสายพินจึงตัดสินใจที่จะสานต่ออาชีพทำนาของพ่ออย่างจริงจัง โดยเลือกที่จะปลูกข้าวไรซ์เบอรี่แบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และเน้นคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ ต่างจากที่พ่อกับแม่เคยทำซึ่งเน้นปริมาณมากกว่า คุณสายพินจึงลาออกจากอาชีพพยาบาล

การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวประเภทนี้จึงมีมากมายโดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ต พอเข้าไปค้น คุณสายพินก็ไม่ได้ได้แค่ข้อมูลเรื่องข้าวเท่านั้น แต่ยังได้รู้จักคนปลูกข้าวไรซ์เบอรี่คนอื่นๆในจังหวัดสิงห์บุรีอีกด้วย จึงได้เข้าไปขอความรู้เพิ่มเติมจากพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งพวกเขาก็ให้การต้อนรับและคำแนะนำด้วยดี และได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายข้าวปลอดภัยของจังหวัดสิงห์บุรีซึ่งมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เป็นตัวกลางอีกด้วย ได้ความรู้กลับมามากมาย เรียกได้ว่านี้เป็นขุมความรู้ของคุณสายพินเลยทีเดียว เพราะเห็นความตั้งมั่น กระตือรือร้นของคุณสายพิน เจ้าหน้าที่ ธกส. ที่ทำงานวิจัยด้วยคนหนึ่ง ได้มอบงานวิจัยของเขาให้คุณสายพิน เป็นเรื่องราวการเพิ่มมูลราคาข้าวที่ ธกส. ได้ทำกับชาวบ้านหลายหมู่บ้านนั่นเอง ซึ่งคุณสายพินก็นึกขอบคุณเจ้าหน้าที่คนนั้นรวมถึงกลุ่มผลิตข้าวปลอดสารที่คุณสายพินเคยเข้าไปขอความรู้เหล่านั้นอยู่เสมอ เพราะนับเป็นองค์ความรู้แรกๆ สำหรับคุณสายพิณเลย

ต่อมาคุณสายพินได้มีโอกาสรู้จักกับคุณเอกศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านบ้านดอนโตนด ซึ่งกลายมาเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการปลูกข้าวของคุณสายพิน ให้คำแนะนำตั้งแต่เรื่องการเลือกเมล็ดข้าว การเอาข้าวมาแช่น้ำ การเลือกวิธีทำนา จะเป็นนาดำหรือแบบอื่น แต่แน่นอนว่าต้องปลอดสาร ไม่ใช้เคมี และคุณสายพินก็เลือกการใช้รถปักดำ เนื่องจากต้องการให้นาข้าวออกมาสวย ข้าวเรียงแถวเป็นระเบียบ มีระยะห่างเท่ากัน เรียกได้ว่าอยากให้นาข้าวของตัวเองเป็นนาข้าวที่สวยและประณีต ซึ่งก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่แพง คุณสายพินเคยลองทำแบบนาหว่านน้ำตม ซึ่งก็ดี ค่าใช้จ่ายลดลง แต่ความสวยงามก็ลดลงไปด้วย คุณสายพิณเล่าว่าครั้งแรกที่เห็นข้าวออกรวงสีดำ ตื่นเต้นมากและภูมิใจมากด้วยที่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม การทำข้าวปลอดสาร แม้ค่าใช้จ่ายในเรื่องปุ๋ยและสารเคมีจะต่ำ เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช แต่ก็มีต้นทุนแรงงานเข้ามาแทน โดยหากใช้สารเคมีจะลงทุนไม่เกิน 3,000 บาท ส่วนการใช้แรงงานกำจัดวัชพืชจะต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานสูงถึง 30,000 บาท ขณะที่ผลผลิตเมื่อเทียบกับข้าวเคมีจะได้ผลผลิตไร่ละ 1,000 กิโลกรัม แต่ข้าวปลอดสารจะได้ผลผลิตไร่ละ 500 กิโลกรัม จึงทำให้ราคาข้าวปลอดสารแพงกว่าข้าวเคมีทั่วไป

ข้าวไรซ์เบอร์รี่คุณภาพ ปลอดสารเคมี 100%

คุณสายพินยอมรับว่าตอนแรกก็มีท้อบ้างเหมือนกัน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม การเริ่มต้นมักยากเสมอ และความผิดพลาดก็มักเกิดขึ้นได้เช่นกัน ในการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ครั้งแรกนั้น จากนาจำนวน 3 ไร่ คุณสายพินปลูกได้แค่ไม่กี่ตัน ซ้ำเมล็ดข้าวยังลีบแบน ในขณะที่ของเพื่อนๆ ในเครือข่ายทำกันได้เยอะ คุณสายพินก็บอกไปตามตรงว่า ไม่ได้ใส่อะไรเลยสักอย่าง เป็นไปตามธรรมชาติหมด เพื่อนเกษตรกรจึงแนะนำว่า การไม่ใช้สารเคมีนั้นถูกต้องแล้ว แต่เราสามารถใช้สิ่งที่มันทดแทนกันได้ ซึ่งก็คืออินทรียวัตถุ คุณสายพินจึงได้ความรู้ใหม่ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการลงทะเบียนถูกต้อง ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าผลิตจากวัสดุธรรมชาติจริงๆ ผลผลิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ข้าวเยอะขึ้น เม็ดสวยขึ้น หอมอร่อย และปลอดภัยอีกต่างหาก โดยมีการขอมาตรฐานจีเอพีแปลงนาจากกรมการข้าวด้วย เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับข้าวอีกทางหนึ่ง

จากที่ลองทำเพื่อทานกันเอง แจกจ่ายเพื่อนฝูง คุณสายพินก็เริ่มขาย ตอนหลังคุณสายพินกับสามี ซึ่งเป็นวิศวกร คุยกันว่าควรจะทำข้าวให้มีมาตรฐานไปเลยในทุกกระบวนการ ตั้งแต่แปลงนา ขั้นตอนการปลูก ตลอดจนการสี การแปรรูป จึงตัดสินใจทำห้องแปรรูป ทำห้องบรรจุข้าว ซึ่งก็ต้องมีมาตรฐานเช่นกัน ทำแล้วก็ไปขอมาตรฐานจากงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุข เรื่อง primary gmp ซึ่งก็ได้เลข อย. มา และตอนหลังคุณสายพินก็ต้องซื้อเครื่องสีข้าวอีกเพราะต้องการให้เป็นข้าวที่ปลอดภัยปลอดสารจริงๆ แต่ก็ซื้อเครื่องเล็กๆ สีเฉพาะข้าวตัวเองเท่านั้น จากนั้นจึงเป็นการคิดแพ็คเก็จจิ้งของข้าว ซึ่งก็เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เรียกได้ว่าคุณสายพินจริงจังที่จะทำให้ข้าวไรซ์เบอรี่แบรนด์ข้าวหอม เป็นที่นิยมของลูกค้าและให้ลูกค้าได้รับประทานข้าวที่หอม อร่อย สะอาดและปลอดภัยจริงๆ ตอนหลัง แบรนด์ข้าวหอมก็ได้จดทะเบียนเป็นสินค้าโอท็อปอีกหนึ่งอย่างของจังหวัดสิงห์บุรี ก็ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งลูกค้าของคุณสายพิน จะมีทั้งลูกค้าตลาดบน ตลาดกลางและตลาดล่าง และทุกครั้งที่ไปออกบูธก็จะได้ลูกค้าใหม่เพิ่มมาเรื่อยๆ และ แบรนด์ข้าวหอมก็ได้ออกบูธช่วยงานราชการถึงทุกวันนี้ ในอนาคต คุณสายพินอยากผลิตข้าวแบบออร์แกนิค ซึ่งเธอก็เชื่อมั่นว่าตัวเองจะทำได้

เนื่องจากตลาดข้าวปลอดสารไรซ์เบอรี่ยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควรจะเป็น อาจเพราะต้นทุนการผลิตที่สูง เลยทำให้ราคาแพงกว่าข้าวทั่วไป สิ่งที่เกษตรกรทำข้าวปลอดสารควรต้องทำคือ การประหยัดต้นทุน และมีกระบวนการผลิตที่จำเป็นต้องได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า เป็นข้าวที่อร่อย ปลอดภัยไม่มีสารเคมีเจือปน ดีต่อสุขภาพ คุ้มค่าแก่การเสียเงินซื้อจริงๆ ดังนั้นเอง ข้าวไรซ์เบอรี่แบรนด์ข้าวหอม จึงต้องมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อความมั่นใจ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญก็คือ การเตรียมดินโดยการเลือกใช้ปุ๋ยมูลสัตว์การใช้จุลินทรีย์บำรุงดิน ตลอดจนวิธีการแกล้งดินที่น่าสนใจ

เกียรติประวัติ : ได้ใบการันตีมาตรฐานGAPแปลงนาจากกรมการข้าว /โรงเรือนแปรรูปรวมถึงผลิตภัณฑ์บรรจุข้าวได้มาตรฐาน อย.

การปลูกที่ปลอดสารเคมี กับการผลิตที่ได้มาตรฐาน สู่สินค้าข้าวคุณภาพ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณสายพิน ชูเชื้อ
บ้านเลขที่ 159/1 หมู่ที่ 9 ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี 16000

สายพิน ชูเชื้อ พยาบาลผู้สืบทอดอาชีพทำนาหันมาปรับเปลี่ยนสู่วิถีข้าวอินทรีย์

เทคนิคเตรียมดินปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด