เกษตรกรต้นแบบ

"ณรงค์ สำลีรัตน์ : ปราชญ์ไทยผู้ดังไกลถึงต่างแดน"

 14 ธันวาคม 2560 7,366
จ.สมุทรปราการ
เพียงพอและพอเพียง
หลักการดำเนินชีวิต
ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ของในหลวงรัชกาลที่9
ที่ผมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตลอด

คุณณรงค์ สำลีรัตน์ ผู้สะสมหมากผู้ หมากเมีย กว่า 200 สายพันธุ์

"หมากผู้ หมากเเมีย" เสน่ห์ของต้นหมากผู้หมากเมียคือสีสันและรูปทรงของใบที่มีความแตกต่างไม่เหมือนกันซึ่งมีทั้งใบกลม ใบกาง ใบยาว ใบร่อง ใบราง สีเขียว สีแดง สีส้ม สีแสด สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสันที่แปลกโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวต้นหมากผู้หมากเมียจะมีสีสันสดใสสวยมันวาวจนทุกคนตะลึงซึ่งแตกต่างจากช่วงฤดูฝนที่ส่วนใหญ่จะมีสีเขียวไม่สดใส คนไทยบางส่วนมีความเข้าใจผิดว่าต้นหมากผู้คือต้นที่มีใบเล็ก ส่วนต้นหมากเมียมีใบใหญ่ซึ่งมันไม่ใช่ ดังนั้นคนไทยต้องศึกษาข้อมูลให้ดี การที่เรียกหมากผู้หมากเมียมันเป็นต้นไม้ที่ใบเปลี่ยนสีได้ตามฤดูกาลเหมือนกับมี 2 เพศในต้นเดียวกันอย่างช่วงฤดูร้อน - ฤดูฝนใบจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวเพื่อสะสมอาหารสร้างการเจริญเติบโต เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวใบจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง เหลือง ส้มฯลฯสดใสแวววาวงดงามมากนี่จึงเป็นที่มาของชื่อหมากผู้หมากเมียสายพันธุ์ดั้งเดิมของหมากผู้หมากเมียบางกะเจ้ามีอยู่ราว 40-60ชนิด ได้มีการเพาะพันธุ์ใหม่ๆจนปัจจุบันมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ นอกจากความสวยงามของใบที่ทำให้คนรักหลงใหลแล้ว หมากผู้หมากเมียพันธุ์พื้นถิ่นที่มีใบสีเขียวยังเป็นที่ต้องการของตลาดการจัดดอกไม้ตามงานต่างๆเกษตรกรจะปลูกไว้ตามท้องร่องสวนเพื่อตัดใบขายส่งตลาดปากคลองตลาดครั้งหนึ่งเป็นแสนใบโดยขายได้ 100 ใบ 10 บาทเกษตรกรบางคงส่งลูกเรียนหนังสือจนจบด้วยใบหมากผู้หมากเมียเลยทีเดียว

"ผมปฏิญาณไว้แล้วว่าจะทำงานถวายในหลวงจนกว่าชีวิตจะหาไม่ตามแนวทางของพ่อท่านที่วางไว้ให้ประชาชนไทยในยึดถือปฏิบัติจนอยู่ดีมีสุขจนเพียงพอและก็พอเพียงด้วย"

"คุณตา นักสะสม"
ชีวิตในวัย 73 ปีของคุณลุงณรงค์ สำลีรัตน์ ได้สร้างคุณูปการให้กับบ้านบางกะเจ้าและประเทศไทยไว้มากมายจากความชอบศึกษา ทดลองสะสมต้นไม้จากงานอดิเรกในวัยเด็กสู่การเป็นนักสะสมและเพาะพันธุ์ต้นหมากผู้หมากเมียที่มีการวบรวมสายพันธุ์พื้นถิ่นและพันธุ์ใหม่กว่า 200 ชนิดจนเรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์หมากผู้หมากเมียที่มีชีวิต นักพฤกษศาสตร์จากทั่วโลกที่สนในพืชชนิดนี้จะต้องเดินทางมาหาคุณลุงณรงค์ เพื่อวิจัย ศึกษา เรียนรู้กันที่บ้านในบางกะเจ้าเพราะที่นี่คือสถานที่รวบรวมพันธุ์หมากผู้หมากเมียที่มากที่สุดในประเทศไทย จากการเป็นนักการศึกษาที่ไม่หยุดค้นหาความรู้ทำให้คุณลุงณรงค์ สำลีรัตน์ ค้นคว้า ขุดลึกถึงความสำคัญ เชื่อมโยงความสัมพันธ์คนไทยกับต้นหมากผู้หมากเมียรวบรวม สะสมจนเป็นองค์ความรู้ขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ทำให้เรารู้ว่า คนไทยในสมัยโบราณเชื่อกันว่าการปลูกหมากผู้หมากเมียไว้ประจำบ้านเป็นสิริมงคลจะอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับชาวบ้านบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นแหล่งถิ่นกำเนิดต้นหมากผู้หมากเมียกว่า 80% ของหมากผู้หมากเมียในประเทศไทย

นอกจากปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วชาวบ้านบางกะเจ้ายังนิยมปลูกหมากผู้หมากเมียไว้ตามท้องร่องสวนประโยชน์ที่คนโบราณเขาใช้หมากผู้หมากเมียคือเอาไว้ใช้ทำยาแก้ไข้โดยจะใช้ต้นที่มีใบเขียวอย่างชื่อเขียวพันปี นอกจากแก้ไข้สามารถเอาไปต้มน้ำอาบแก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง แก้ผดผื่นคันเพราะมีคุณสมบัติฝาดสมาน เพื่อตัดใบส่งขายเป็นรายได้เสริมสัปดาห์หนึ่งตัดใบส่งขายได้เป็นแสนใบเลยทีเดียว

เป็นสมุนไพรปลูกและเพื่อความเป็นศิริมงคล

"การปลูกและขยายพันธุ์ หมากผู้ หมากเมีย"
พูดถึงหมากผู้หมากเมียคนทั่วไปอาจจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพืชชนิดนี้เท่าไหร่ แต่เรากำลังจะพูดถึงคนคนหนึ่งที่หลงรักหมากผู้มากเมีย จนสะสมเอาไว้มากถึงกว่า 200 สายพันธุ์ จากเด็กที่เกิดและเติบโตในบางกะเจ้าได้เห็นและสัมผัสต้นหมากผู้หมากเมียมาตั้งแต่เกิดเป็นไม้ถิ่นที่เห็นได้ตามท้องร่องสวนในแถบนี้ จนมาอายุได้ 12 ปีก็เริ่มเก็บสะสมพันธุ์หมากผู้หมากเมียเห็นที่ไหนก็ขอกิ่งมาปักชำจนเต็มสวนของบ้านตัวเองซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตนักสะสมพันธุ์หมากผู้หมากเมียนับแต่นั้นมาจนปัจจุบันมีมากว่า 200 สายพันธุ์เลยทีเดียว ซึ่งถือได้ว่าคุณลุงณรงค์ สำลีรัตน์เป็นบุคคลที่สะสมพันธุ์หมากผู้หมากเมียมากที่สุดในประเทศไทย จนนักพฤกศาสตร์จากทั่วโลกที่ต้องการศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดนี้ล้วนจะต้องมาที่บ้านของคุณลุงณรงค์กันทั้งนั้นแถมยังให้เกียรติด้วยการใช้ชื่อของคุณลุงตั้งเป็นชื่อของสายพันธุ์หนึ่งว่า ณรงค์ดายม่อน ปัจจุบันคุณลุงณรงค์ อายุ 73 ปีแต่ก็ยังคงแข็งแรงดูแลขยายพันธุ์ต้นหมากผู้หมากเมียอยู่มิได้ขาดเพียงหวังว่าต้นไม้ชนิดนี้จะยังคงอยู่คู่กับบ้านบางกะเจ้าและประเทศไทยไปอีกนานเท่านาน

การขยายพันธุ์หมากผู้หมากเมียแบบดั้งเดิมจะใช้วิธีชำยอด โดยจะทำการลองท้องร่องเอาเลนขึ้นมาตอนหมาดๆนำยอดมาปักชำเป็นวิธีการใช้ส่วนลำต้นที่ตัดจากต้นแม่ที่มีกิ่งหรือเหง้ามาก แล้วนำมาปักชำขยายไปจนเต็มพื้นที่เปอร์เซ็นต์การรอดมีมากถึง 80-90% แต่มาระยะหลังสภาพภูมิอากาศแย่มากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีชำยอดมีโอกาสรอดน้อยลงจนแทบจะไม่ถึง 50 % เพราะมีน้ำเค็มรุกเข้ามามากโดยเฉพาะตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 เป็นต้นมา

หมากผู้ หมากเมีย ขยายพันธุ์ได้หลายแบบ

จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการขยายพันธุ์โดยใช้เหง้าที่อยู่ใต้ดินโดยตัดเฉือนบริเวณที่มีตาสัก 1 เซนติเมตรเอามาชำก็เกิดเป็นต้นใหม่ได้ ส่วนลำต้นจะมีลักษณะเป็นปล้องข้อถี่ๆตัดออกสัก 2-3 ปล้องเอามาชำก็เกิดเป็นต้นใหม่ได้เช่นกัน ถ้ามีหน่อแทงขึ้นมาก็สามารถนำหน่อไปขยายพันธุ์ได้อีกจึงทำให้เราสามารถขยายพันธุ์ต้นหมากผู้หมากเมียได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกันซึ่งดีกว่าการปักชำยอดมาก อีกวิธีหนึ่งคือการเพาะด้วยเมล็ดเมื่อได้เมล็ดของต้นหมากผู้หมากเมียนำมาล้างให้สะอาดแล้วโรยลงในดินเพาะเมื่องอกจึงค่อยแยกลงในกระถางเลี้ยงไว้จนถึง 3 ปีจึงจะเป็นต้นสมบูรณ์แสดงสีสันของความเป็นหมากผู้หมากเมีย

เกียรติประวัติและผลงาน
ปัจจุบันคุณลุงณรงค์ สำลีรัตน์เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ,เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมการขยายพันธุ์ไม้ประดับ,ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

การขยายพันธุ์ทำได้หลายแบบ ทั้งวิธีชำยอด โดยใช้เหง้า และเพาะด้วยเมล็ด

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณณรงค์ สำลีรัตน์
บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ณรงค์ สำลีรัตน์ ปราชญ์ไทยผู้ดังไกลถึงต่างแดน

การเพาะพันธุ์หมากผู้หมากเมีย

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด