เกษตรกรต้นแบบ

"พิเชษฐ์ สุดธูป : เกษตรกรผู้เลี้ยงบอนสีด้วยใจรัก"

 10 พฤศจิกายน 2560 12,722
จ.นนทบุรี
ผมทำบอนสีด้วยความรัก
รักที่จะทำและทำให้ดีที่สุด
ส่วนที่เหลือเรื่องดีๆ
จะตามมาเอง

พิเชษฐ์ สุดธูป 1 ใน 3 ของเกษตรกรที่เลี้ยงบอนสีมากที่สุดในประเทศไทย

"บ อ น สี . . . "
เสน่ห์ของบอนสีคือใบมีความหลากหลายผู้เลี้ยงสามารถพัฒนาพันธุ์ให้มีสีสัน จุดแต้มลวดลายต่างๆได้ด้วยตัวเองทำให้ผู้เลี้ยงรู้สึกสนุกไปกับการทดลองซึ่งการเลี้ยงบอนสีต้องใช้ทั้งความสามารถและความอดทนเป็นอย่างมากกว่าที่จะได้พันธุ์ใหม่อย่างที่เห็นต้องใชเวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีผ่านการผสมเกสร เพาะเมล็ดเป็นหมื่นเมล็ดเพื่อคัดเลือกให้เหลือต้นบนสีราว 5-600 ต้นและคัดอีกทีให้เหลือต้นที่สวยงามที่สุดบางครั้งอาจได้เพียง 1-3 ต้นเท่านั้นเอง ซึ่งการเลี้ยงบอนสีในเมืองไทยจะมีการจำแนกตามลักษณะใบคือใบยาว,ใบไผ่,ใบกาบซึ่งใบกาบกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ส่วนตลาดต่างประเทศที่นิยมเล่นบอนสีจะเล่นสีขาว,สีเขียวที่มีลวดลายในใบ มีประเทศฟิลิปปินส์,อินโดนีเซีย,อินเดีย,ศรีลังกา,รัสเซียเป็นต้นสำหรับท่านที่สนใจควรเริ่มต้นซื้อบอนสีที่ตัวเองชอบมาลองเลี้ยงดูสัก 1 ต้นแล้วลองหัดขยายพันธุ์ด้วยการผ่าหัวถ้าผสมเกสรได้ยิ่งดีวันใดที่ได้บอนสีพันธุ์ใหม่รับรองว่าคุณจะหลงเสน่ห์ไม้ชนิดนี้เหมือนอย่างที่คุณพิเชษฐ์ สุดธูป อย่างแน่นอน

เลี้ยงบอนสีนอกจากใจรักแล้วยังต้องมีความอดทนทำไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนสักวันรางวัลของความอดทนนี้จะกลับมาหาเราเองระยะเวลาเกือบ 20 ปีของการที่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับบอนสีเฝ้าเพาะขยายพันธุ์ปีแล้วปีเล่าให้กำเนิดบอนสีพันธุ์ใหม่เกือบร้อยชนิดเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วถึงความมุ่งมั่นของคุณพิเชษฐ์ สุดธูป

หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ.2554 เกือบ 3 เดือนเหมือนกับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่คุณพิเชษฐ์ ปรับพื้นที่สร้างตู้อบเพื่อเลี้ยงบอนสีอีกกว่า 30 ตู้เริ่มการเพาะขยายพันธุ์อย่างไม่ย่อท้อ นี่คือข้อดีของการทำอะไรด้วยใจรักสำหรับคนรักต้นไม้ที่มีจิตใจคล้ายกันจะเข้าใจกันเองว่าถึงแม้ต้นไม้จะขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างไรเสียต้นไม้ก็ยังอยู่กับเราให้ได้เชยชม

บอนสี สีสันสดใสที่ได้รับการดูแลอย่างดี

ที่มาของนักผสมพันธุ์บอนสี....
ย้อนไปในวัยเยาว์เห็นคุณพ่อมีความสุขกับการเลี้ยงต้นไม้มาตั้งแต่เด็กจนมำให้รู้สึกสนใจอยากเลี้ยงต้นไม้เหมือนพ่อบ้างคุณพิเชษฐ์ จึงเริ่มทดลองเลี้ยงโป๊ยเซียน,โกศลตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 จนปีพ.ศ.2535 จึงเริ่มมาเลี้ยงบอนสี พอเลี้ยงบอนสีไปเรื่อยๆก็เกิดหลงรักสีสันลวดลายของใบบอนสี “ผมชอบบอนสีเพราะมันสวยงามต้องตาอย่างมากพยายามศึกษาหาความรู้จนสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตนเองโดยการผสมเกสรจนได้บอนสีพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาเกิดความภาคภูมิใจ ความรู้สึกในตอนนั้นภูมิใจในตัวเองมากที่ได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่มีเป็นบอนสีพันธุ์ใหม่ของโลกเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลี้ยงบอนสีมาจนถึงทุกวันนี้ และที่รู้สึกประทับใจมากที่สุดในชีวิตที่จำไม่ลืมเลยเมื่ออายุ 20 ปี ผมส่งบอนสีเข้าประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยคะแนนรวมประจำปีในปีพ.ศ.2545 เป็นรางวัลที่ต้องเก็บคะแนนสะสมตลอดทั้งปีหลายสนามเป็นถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนรางวัลที่ภูมิใจมากที่สุดในชีวิต” จากความรักและความทุ่มเทเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์บอนสีตลอดเวลานับสิบปีที่ผ่านมาทำให้คุณพิเชษฐ์ สุดธูป แห่งสวนพิพัฒน์พงษ์ เป็น 1ใน3 ของผู้เพาะเลี้ยงบอนสีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้

การขยายบอนสีด้วยการผสมเกสร
หนึ่งในเสน่ห์ของการเลี้ยงบอนสีคือการเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้บอนสีต้นใหม่ของโลกเป็นความท้าทายที่นักเลี้ยงบอนสีสามารถทำได้ไม่ยากการเพาะขยายพันธุ์บอนสีนั้นมีหลายวิธีการถ้าต้องการให้เหมือนต้นแม่พันธุ์หรือขยายเพื่อต้องการจำนวนต้นการผ่าหัว แยกหน่อเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ถ้าต้องการบอนสีพันธุ์ใหม่ของโลกเป็นของเราคนเดียวเท่านั้นต้องใช้วิธีผสมเกสร ซึ่งจะได้บอนสีพันธุ์ใหม่การขยายพันธุ์ด้วยการผสมเกสรจึงเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงบอนสีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

บอนสีที่ได้จากการผสมพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

อุปกรณ์ในการผสมเกสรจะต้องมีมีด,พู่กันขนาดเล็กใช้เขี่ยเกสรตัวผู้,กลักฟิล์มเพื่อใช้เก็บเกสรตัวภู่ เริ่มแรกเลือกหาบอนสีที่ออกดอกสวยงามสมบูรณ์ทำการเก็บเกสรตัวผู้ลงในกลักฟิล์ม เกสรตัวผู้ที่เก็บได้จะมีอายุไม่เกิน 15 วัน จากนั้นหาต้นบอนสีที่จะทำการผสมพันธุ์ที่มีดอกดอกที่บานครั้งแรกจะมีกลิ่นหอมการผสมเกสรจะต้องทำในช่วงกลางคืนวิธีผสมเมื่อได้ดอกที่บานพร้อมผสมแล้วให้ใช้มีดคมๆกรีดตรงกระเปาะด้านล่างของดอกให้รอบบริเวณนี้คือที่อยู่ของเกสรตัวเมียจากนั้นเอากระเปาะที่กรีดออกใช้พู่กันเขี่ยเกสรตัวผู้ที่เตรียมไว้ขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟอย่าใช้เยอะเดี๋ยวดอกจะไหม้ นำพู่กันที่มีเกสรตัวภู่เขี่ยลงในเกสรตัวเมียที่เรากรีดกระเปาะออกแล้วแต้มไปรอบๆเกสรตัวเมียเป็นอันเสร็จวิธีการผสมเกสรจากนั้นรอไปอีกราว 2 อาทิตย์เป็นอย่างน้อยจึงจะสามารถเก็บเมล็ดบอนสีพันธุ์ใหม่มาเพาะในกระถางต่อไป

การผสมเกสรนั้นไม่ยากแต่กว่าที่จะได้บอนสีใบสวยๆต้องใช้เวลาราว 2 ปีเลยทีเดียว หลังจากที่ได้เมล็ดมาแล้วทำการเพาะในกระถางดินผสมใบก้ามปูรดน้ำนำไปใส่ในตู้อบตัวกระถางจะต้องคลุมด้วยพลาสติกใสรัดปากกระถางให้แน่นตั้งไว้ในตู้อบที่พื้นด้านล่างหล่อน้ำเอาไว้รอจนกว่าเมล็ดเติบโตเป็นต้นบอนสีเล็กๆจากนั้นทำการแยกปลูกลงในกระถางเลี้ยงในตู้อบจนโตพอเห็นรายละเอียดของใบต้นที่สวยคัดเก็บไว้ส่วนต้นที่ไม่สวยก็ทำการทำลายทิ้ง ส่วนต้นที่สวยเลี้ยงไปราว 7-8 เดือนก็สามารถส่งเข้าประกวดได้ ถ้าต้องการขยายพันธุ์ให้เหมือนต้นแม่ก็ต้องเลี้ยงบอนสีเหล่านี้ให้มีหัวสมบูรณ์จากนั้นจึงนำมาผ่าหัวเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ถึงแม้บอนสีจะเป็นพืชที่ปลูกง่ายแต่ก็ต้องได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณพิเชษฐ์ สุดธูป
57 หมู่6 ตำบลทวีวัฒนา
อำเภอไทรน้อย
จังหวัดนนทบุรี
11150
FB : บอนสีพิพัฒน์พงษ์ Caladium of Thailand

จากผู้เลี้ยงบอนสีด้วยใจรัก กลายมาเป็นผู้เลี้ยงบอนสีมากที่สุดในไทย

เทคนิค!!! วิธีผสมเกสรบอนสี

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด