เกษตรกรต้นแบบ

"พรชัย บัวประดิษฐ์ : ปลานิลไร้กลิ่นโคลน"

 01 พฤศจิกายน 2560 8,035
จ.ชลบุรี
ปลา กุ้ง กล้วย สามสิ่งนี้
คือสิ่งเกื้อหนุนให้เราทุกสัปดาห์
เป็นค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าไฟตลอดทั้งปี

คุณพรชัย บัวประดิษฐ์ เจ้าของบ่อปลา และทำเกษตรแบบผสมผสานควบคู่กันไป

การเลี้ยงปลานิลนั้นไม่ยากแต่จะเลี้ยงอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอดเลี้ยงครอบครัวให้กินอิ่มได้คือเรื่องสำคัญมากกว่า การเลี้ยงปลานิลไร้กลิ่นโคลนในแบบฉบับของคุณพรชัย บัวประดิษฐ์ นั้นจะต้องรู้ศักยภาพของพื้นที่ว่ามีกี่ไร่ 1 ไร่จะเลี้ยงเท่าไหร่ ได้ผลตอบแทนอย่างไรคุ้มค่าไหมกับแรง เงินและเวลาที่เสียไปซึ่งคุณพรชัยมีหลักการคิดคำนวณมาให้แล้ว การเลี้ยงปลานิลเพียงอย่างเดียวเพียงพอแค่ให้มีชีวิตรอดแต่จะลืมตาอ้าปากได้ต้องเลี้ยงกุ้งขาวควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลานิล เพราะกุ้งขาวลงทุนแค่ลูกกุ้งเท่านั้น อาหารคือเหลือจากการเลี้ยงปลาผลผลิตกุ้งขาวคือกำไรหรือโบนัสในการเลี้ยงแบบผสมผสาน

หัวใจในการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จสำหรับการเลี้ยงปลาเราต้องรู้ให้ได้ว่าศักยภาพของพื้นที่ 1 ไร่สามารถทำอะไรได้บ้างและทำได้เท่าไหร่ สำหรับการเลี้ยงปลานิลในแบบของผม 1 ไร่จะปล่อยปลานิลลงไปราว 1,000 – 1,200 ตัวเท่านั้นซึ่งเป็นอัตราการปล่อยที่ต่ำ การปล่อยจำนวนนี้จะทำอย่างไรให้มีอัตราการรอดสูงนี่สำคัญกว่ามาก เพราะถ้าเกษตรกรเลี้ยงไปแล้วปลาไม่มีให้จับก็เท่าเสียเวลาและโอกาสในช่วง 6-8 เดือนเรียกว่าไม่คุ้ม ลำดับต่อมาคือเรื่องของลูกพันธุ์ปลาจะต้องแข็งแรง โตไว กินเก่ง ต้านทานโรค ต้นทุนหลักในการเลี้ยงปลาคืออาหาร ถ้าเราไม่สามารถเช็คอัตรารอดของปลาในบ่อได้จะทำให้วางแผนการให้อาหารผิดระยะเวลา 6-8 เดือนต้นทุนอาหารจะเพิ่มขึ้นทันที

เครื่องมือการให้อาหารเพื่อควบคุมการสูญเสียอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราลดต้นทุนอาหารได้เป็นอย่างดี จังหวะและเวลาในการขายจะต้องวางแผนในการเลี้ยงให้ดีช่วงที่ราคาปลานิลราคาดีไม่ตกจะอยู่ในช่วงตั้งแต่เดือนกรกาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนมกราคมไปแล้วอยู่ในช่วงฤดูแล้งปลานิลจะมีราคาถูกเพราะมีการจับปลากันมากในช่วงนี้ดังนั้นเราต้องวางแผนการเลี

การให้อาหารในสวิง ช่วยลดต้นทุนอาหารปลา

ด้วยฐานะครอบครัวยากจนมาก คุณพรชัย จึงจบการศึกษาเพียงแค่ประถมศึกษาชั้นปีที่6 ที่บ้านมีที่เพียง 6 งานเพื่อใช้อยู่อาศัยสำหรับครอบครัว เริ่มต้นทำงานตั้งแต่เด็กมีความสนใจการเลี้ยงปลาโดยเริ่มเลี้ยงปลาดุกเป็นอย่างแรกประมาณปีพ.ศ.2529 จากปลาดุกแล้วมาเลี้ยงปลานิลจนมาถึงกุ้งในปีพ.ศ.2532 สำหรับปลานิลในพื้นที่แถบนี้(อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี)มีการเลี้ยงมานานแล้วแต่เป็นการเลี้ยงแบบผสมกับปลาอื่นๆทำให้ราคาถูก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 ที่เริ่มเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็มีปัญหามากมายเรื่องราคา กุ้งเป็นโรคระบาดทำให้การเลี้ยงยากขึ้นเราเลยทำการเลี้ยงผสมผสานกับกุ้งก้ามกราม ในปีพ.ศ.2544 มีกุ้งขาวเข้ามาเลยทดลองเลี้ยงแทนกุ้งกุลาดำช่วงแรกรายได้ดีแต่มาระยะหลังก็ประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดเหมือนกุ้งกุลาดำ ตอนนี้เริ่มตั้งชมรมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางหัก ในปีพ.ศ.2546 ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ปัญหาต่างๆจะทำอย่างไรให้พวกเราอยู่รอดได้ ซึ่งได้ข้อคิดมากมายหนึ่งในนั้นคือเรามองเห็นเหตุเกษตรกรส่วนใหญ่ในทุกสาขามักจะตามกันเห็นใครเลี้ยงอะไรดีก็แห่ตามกันไปโดยไม่มีเหตุผล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเขาเลี้ยงแบบนี้ขอแค่ตามๆกันไปตอนนั้นได้รับงบจากการศึกษานอกโรงเรียนของอำเภอพานทองไปดูงานตามห้องเย็นต่างๆได้เห็นมุมมองและแนวคิดของนักธุรกิจว่าเขามองและคิดอย่างไร สิ่งหนึ่งคือเราทราบว่าตลาดส่งออกฝรั่งนิยมบริโภคปลาเนื้อขาว เนื้อขาวในความคิดของเราก็คือปลานิลนั่นเอง เราจึงกลับมาปรับกระบวนการผลิตจริงจังกับการเลี้ยงปลานิลมากขึ้น

วิธีเลี้ยงปลานิลไร้กลิ่นโคลน
เริ่มจากการเตรียมบ่อจะต้องตากแดด 7-10 วันทำการใส่ปูนขาว,ปูนมาลเพื่อปรับสภาพดินจะทำการสูบน้ำเข้าบ่อแล้วประมาณ 3 วันจะใส่น้ำอามิ 30 ลิตรต่อ1ไร่(น้ำอามิคือของเหลวที่เหลือจากกระบวนการผลิตผงชูรส) เมื่อใส่น้ำอามิลงไปจะทำให้เกิดไรแดง,แพลงตอนน้ำจะเขียวนวลประมาณ 7 วันก็ซื้อลูกกุ้งขาวมาปล่อย ถัดมาอีกสัก 7-10 วันก็ซื้อลูกปลามาปล่อย ขนาดลูกปลาที่ปล่อยลงไปจะมีขนาด 7-10กรัม น้ำหนักลูกปลา 7 กรัมจะมีอัตรารอด 70% ,น้ำหนักลูกปลา 10 กรัมจะมีอัตรารอด 90%

กุ้งขาวจะกินอาหารที่เหลือ ประหยัด2ต่อ

เลี้ยงในพื้นที่ 1 ไร่จะปล่อยลูกปลานิลจำนวน 1,000-1,200 ตัว การเลี้ยงของผมจะเข้มงวดกับเรื่องอาหารเพราะเป็นต้นทุนที่สำคัญ โดยจะทำการคำนวณอาหารต่อน้ำหนักตัวปลาจะต้องคำนวณอัตรารอดของปลาในบ่อ 1-2% ของน้ำหนักปลาในบ่อ การให้ปลานิลในแบบฉบับของผมคือให้อาหารผ่านสวิงเป็นระบบให้อาหารอัตโนมัติ โดยใช้มุ้งเขียวขึงกั้นระหว่างสวิงกับขอบบ่อเพื่อกันไม่ให้อาหารลอยเข้าฝั่งหรือขอบบ่อเพื่อลดการสูญเสียอาหาร เคล็ดลับของผมปกติคนเลี้ยงส่วนใหญ่จะปล่อยปลาเล็กแต่ผมจะปล่อยปลาใหญ่

การให้อาหารคำนวณอย่างนี้ถ้าปล่อยปลาขนาด 10 กรัม จำนวน 1,200 ตัว จะมีน้ำหนักทั้งหมดในวันที่ปล่อย 12 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่อย่างบ่อที่เลี้ยงมีพื้นที่ 6 ไร่จะมีปลา 7,200 ตัว น้ำหนักปลาที่ปล่อยไปวันแรกคือ 72 กิโลกรัม อาหารที่ให้คือ 1-2%ของน้ำหนักปลาประมาณ 1.4 กิโลกรัม ช่วงแรกลูกปลามีไรแดงแพลงตอนก็จะไม่ค่อยกินอาหารเม็ดแต่เราจะต้องฝึกด้วยการให้อาหารลงในสวิงเป็นประจำทุกๆวันปลาจะคุ้นเคยเมื่อถึงเวลาก็จะว่ายเข้ามากินอาหารเอง ถ้าผ่านไป 1 เดือน ปลานิลจะมีขนาด 10-20 ตัวโล ถ้าอัตรารอด 90% จะมีปลาอยู่ 6,300 ตัว ถ้าน้ำหนักปลาอยู่ที่ 20 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ปลา 1 ตัวจะมีน้ำหนัก 50 กรัมดังนั้นปลา 6,300 ตัวจะมีน้ำหนักที่ 324 กิโลกรัม อัตราให้อาหารที่ 2 % ของน้ำหนักปลาก็จะอยู่ที่6-7 กิโลกรัม การให้อาหารก็ต้องดูว่าปลากินดีไหมหมดช้า หมดเร็วถ้าหมดช้าก็ต้องลดปริมาณลง การจะเพิ่มต้องมีเหตุผลไม่ใช้ความรู้สึก

การเลี้ยงปลาที่ดีจะต้องมีการคำนวณต้นทุนFCR อัตราเรียกเนื้อ อย่างบ่อ 6 ไร่ปล่อยปลาไป 7,200 ตัวรอด 6,300 ตัว ผลผลิตที่ได้มาตรฐานคือ 1ไร่จะอยู่ที่ 800-1,000 กิโลกรัม ต้องคำนวณดูว่าถ้าเลี้ยงไป 3 เดือนปลาจะมีน้ำหนัก 500 กรัม ปลา6,300 ตัวจะต้องมีปลาทั้งหมด 3,150 กิโลกรัม ต้องให้อาหารวัน 1ถุงครึ่ง อัตราเรียกเนื้อที่ใช้คือ .8-1.2 คือปลากินอาหารที่8ขีดได้เนื้อปลา 1 กิโล หรือปลากินไป1.2 กิโลได้เนื้อปลา 1 กิโล ต้องคำนวณว่ามีปลา 3 ตันแล้วกินอาหารไป 3 ตันถ้าคำนวณแล้วมันเท่ากันก็มั่นใจได้ว่าเรามีปลาในบ่อน้ำหนัก 3 ตันซึ่งสามารถคำนวณได้ว่ามันคุ้มทุนหรือไม่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการให้อาหารแบบที่ผมทำจะช่วยลดต้นทุนการสูญเสียได้เป็นอย่างดีไม่มีอาหารทิ้งเพราะนั่นคือเงินที่เราต้องเสียไปถ้าเราให้อาหารแบบเดิมๆหรือตามความรู้สึก

เคล็ดลับที่ทำให้ปลานิลที่ผมเลี้ยงไม่มีกลิ่นโคลนเกิดจากการเตรียมบ่อที่ดี..... เมื่อน้ำและดินดีก็ส่งผลให้ปลามีสุขภาพดี ด้วย เรื่องอาหารจะใช้อาหารสำเร็จรูปไม่ใช้ขี้วัวขี้หมูมาเป็นอาหารปลา การให้อาหารในสวิงทำให้ปลากินอาหารโดยตรงปลาไม่ต้องไปกินอาหารตามพื้นโคลนดังนั้นปลาของผมจึงไม่มีกลิ่นโคลน

ปลา กุ้ง กล้วย สามสิ่งนี้ช่วยหนุนให้คุณพรชัย มีรายได้ทุกสัปดาห์

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณพรชัย บัวประดิษฐ์
24 หมู่ 2 ตำบลบางหัก อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี 20160

ปลานิลไร้กลิ่นโคลน

เทคนิคการเลี้ยงปลานิล ให้ไร้กลิ่นโคลน ที่หลายคนไม่เคยรู้

วิธีให้อาหารปลานิลบ่อดินแบบไร้กลิ่นโคลน

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด