เกษตรกรต้นแบบ

"กานต์ ฤทธิ์ขจร : เกษตรอินทรีย์การเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดต่างประเทศ"

 27 กันยายน 2560 6,720
จ.ราชบุรี
การดำรงอยู่อย่างยั่งยืน
ต้องเติบโตให้เหมือนต้นโพธิ์
นำหลายๆสิ้งมาหลอมรวมกัน
และเติบโตไปอย่างยั่งยืน

คุณกานต์ ฤทธิ์ขจร เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อว่า " ไร่ปลูกรัก "

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับเกษตรอินทรีย์ ไร่ปลูกรักเริ่มต้นตามหลักปรัชญานี้ เราปลูกข้าว ปลูกพืชผักสมุนไพร เลี้ยงสัตว์ มีแหล่งน้ำของตัวเอง มีโรงงานแปรรูปเหมือนที่อยู่ในสวนจิตรลดาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ตอนวัยรุ่นผมไม่เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ท่านสอนพสกนิกรแต่เมื่อทำไปเข้าสู่ปีที่ 5 ไปแล้วทุกสิ่งที่ทำมันใช่อย่างที่พระองค์สอนทั้งนั้นเลย ความจริงนี้ไม่ว่าจะผ่านไปอีก 10 ปี 20 ปีหรือ 50 ปีก็คือของจริงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้เหมือนธรรมมะของพระพุทธเจ้า หลังจากยุคนี้ไปแล้วเรื่องธุรกิจเกษตรอินทรีย์คือคำตอบของวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับไปเริ่มต้นที่บ้านเกิดแล้วต้องอยู่ให้ได้ ทำเกษตรอินทรีย์เลี้ยงตัวเองได้ มีความสุขขายของได้ราคาใช้ชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ได้ด้วย

“การได้ทำอะไรในสิ่งที่รัก ได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักสำหรับผมนั่นคือสิ่งสูงสุดในชีวิตแล้ว” ผมชอบกลิ่นข้าว กลิ่นดินในแปลงนายามฝนตกกลิ่นเหล่านี้มันหอมมากสำหรับผมมันลึกมากในระดับจิตวิญญาณของตัวเอง ผมเชื่อว่าคนที่รักในวิถีเกษตรอินทรีย์จะเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ในระดับจิตวิญญาณนี้คือพลังขับเคลื่อนชีวิตให้เดินไปข้างหน้าไปสู่สิ่งที่รักสิ่งที่ชอบและเรามีความสุขกับเส้นทางนี้ ความตั้งใจในการทำเกษตรอินทรีย์เพราะความรัก รักที่จะมีชีวิตครอบครัวกับคนที่เรารักได้อยู่กับสิ่งที่เรารักซึ่งในวันที่เริ่มต้นเราไม่รู้หรอกว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่แต่ก็รักไปแล้วก็ลุยฝ่าอุปสรรคด้วยการลงมือทำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นเกษตรกร เกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน มีการวางแผนที่ดีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะไม่อย่างนั้นทุน,เวลาหมดไปแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย เรื่องการส่งออกเกษตรอินทรีย์บอกเลยว่ายากอย่าเห็นว่าเขาทำแล้วเราต้องทำตามผลสุดท้ายก็แย่งตลาดแข่งกันในเรื่องราคากลับมาสู่วงจรเดิมๆ แต่ถ้าเราจะทำส่งออกหรือขายในประเทศอยากให้มองเข้าไปในตัวของเราเองว่าเราถนัดอะไรมีความเชี่ยวชาญผลิตอะไรสามารถทำได้ดีกว่าคนอื่น ประเทศคู่แข่งของเรามีน้อยอันนี้น่าสนน่าลุยไปให้สุด อุตสาหกรรมอย่าทำเยอะควรเริ่มทำเพียงไม่กี่อย่างจะทำให้เราไปถึงจุดหมายได้ดีกว่า

สรุปว่าต้องหาศักยภาพของเราให้เจอว่าเราคืออะไรเป็นอะไรได้บ้างเมื่อเจอแล้วลงมือทำเลย เกษตรอินทรีย์มีมิติที่กว้างมากไม่ว่าจะภายในประเทศ ส่งออก ท่องเที่ยว สร้างเสริมประสบการณ์คนรุ่นใหม่รวมถึงเด็กๆ อย่างตลาดในประเทศยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากเพราะตลาดอินทรีย์ ณ วันนี้มีเพียงแค่ 0.1 % เท่านั้นถ้าเทียบกับตลาดเกษตรทั้งหมดของประเทศนั่นแสดงให้เห็นว่าเรายังมีโอกาสเติบโตอีก99.9% วันนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายเล็กก็สามารถเติบโตได้เพียงแต่ต้องมีจุดขาย จุดแข็งเป็นของตนเองและยั่งยืนเท่านั้น

พืชผักสมุนไพรที่รวมกันเป็นไร่ปลูกรัก

จากเด็กบ้านนอกถิ่นอีสานเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ยังหาตัวเองไม่เจอก็มีโอกาสได้พบกับโยคี โยคีบอกว่า " มี 2 เรื่องเท่านั้นในทุกวันนี้เองคือเรื่องภายในและเรื่องภายนอกถ้าทำภายในให้ดีและภายนอกให้ดีเราจะค้นพบตัวเอง " เรื่องภายในที่ว่าคือการทำสมาธิปรับคลื่นสมอง ส่วนภายนอกคือการฝึกร่างกายการคลีนตัวเองกินอาหารที่ดี การช่วยเหลือผู้คนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน โดยคุณกานต์ไปเป็นอาสาสมัครบ้านอุ่นรักที่กาญจนบุรี,อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรทำอยู่ 4-5ปี จากการฝึกฝนในแบบโยคีทำให้ชีวิตเปลี่ยนเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น จุดเปลี่ยนของชีวิตคือการได้รู้จักภรรยาคือคุณอโณทัย ภรรยาเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีมีความฝันรักในการทำอาหารอยากจะมีร้านอาหารของตัวเองประกอบกับผมก็อยากมีอาชีพภรรยาจึงชวนมาเริ่มต้น ณ ที่แห่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างไร่ปลูกรักขึ้นมาบนพื้นที่ 60 ไร่

จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรของคุณกานต์คือ...เริ่มจากชาวบ้านที่เขาทำสืบทอดกันมาแต่การทำเกษตรแบบไม่ใช้เคมีเมื่อ 18 ปีที่แล้วองค์ความรู้นั้นอยู่ในงานวิจัยช่วงแรกๆจึงใช้ชีวิตอยู่ในห้องสมุดศึกษาองค์ความรู้เหล่านั้นบางครั้งก็โทรปรึกษาอาจารย์ท่านต่างๆ เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ในยุคเมื่อ 18 ปีที่แล้วที่ยังไม่บูมเหมือนในขณะนี้เป็นเรื่องยากมากเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์ต่างจากเกษตรปลอดสารอย่างไร เกิดความท้อแท้อยู่เหมือนกันแต่โชคดีที่ตลาดต่างประเทศชื่นชมเราที่อยู่ในวิถีแบบนี้อุดหนุนเราจึงเป็นกำลังใจให้ก้าวต่อไป ปัจจุบันไร่ปลูกรักได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ(IFOAM),มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา(USDA)และ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป(EU) ผลิตผักอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปส่งขายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ รวมถึงเปิดไร่เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์และมีบริการให้คำปรึกษาการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์แก่ผู้สนใจ

ความเข้าใจและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์
หัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์คือ “ความเข้าใจ” ต้องเข้าใจว่ากระบวนการเกษตรอินทรีย์มันมีความเชื่อมโยงกันและกัน ต้องมองแบบองค์รวมว่า ในดินต้องมีธาตุอาหารและสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง ในอากาศต้องมีแมลงอะไรบ้าง พืชผักพืชไร่ต้องเชื่อมโยงกับสัตว์ต่างๆ อย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราต้องออกแบบให้สัมพันธ์กัน บนพื้นที่ 60 ไร่ของไร่ปลูกรักมีการจัดการพื้นที่ผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่คือ 30-30-30-10 พื้นที่ลุ่มทำการปลูกข้าว เลี้ยงเป็ด พื้นที่ดอนจะปลูกพืชสมุน

พืชเกษตรอินทรีย์ ดูแลตั้งแต่เริ่มปลูก

การทำเกษตรอินทรีย์ที่หวังผลในเชิงธุรกิจต้องทำหลายๆอย่างในภาคการผลิตจะทำอย่างไรให้มีผลผลิตรองรับตลาดได้ต่อเนื่องไม่ขาด จะคุมคุณภาพอย่างไรให้คงที่ มาตรฐานการผลิตที่เป็นสากลสามารถส่งไปขายต่างประเทศได้ การออกแบบฟาร์มให้เหมาะสมกับตัวเรา พื้นที่ของเราเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะแต่ละพื้นที่ ภูมิภาค ภูมิอากาศไม่เหมือนการประสบการณ์ที่พบเจอก็ไม่เหมือนกันนั่นคือเกษตรกรจะต้องแน่วแน่ มุ่งมั่นอยู่ในแปลงค้นหาคำตอบส่วนผสมของชีวิตทั้งตัวเองและพืชให้เจอเป็นเรื่องสำคัญมาก “Organic Farm Design” จึงเป็นเรื่องแรกๆที่เกษตรกรต้องรู้และเข้าใจเพราะเป็นการตัดสินอนาคตของเขาเลยทีเดียวเช่นการออกแบบพื้นที่ขุดบ่อผิดที่ ปลูกต้นไม้แล้วต้องย้ายมันเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลย การออกแบบฟาร์มที่เป็นออแกนิคจะเน้นเรื่องความยั่งยืนการเชื่อมต่อพื้นที่กับธรรมชาติรอบๆอยู่แบบกลมกลืนและลดต้นทุน,ลดกระบวนการจัดการลงเป็นการเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดได้มากขึ้น จากความเข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์การทำแบบผสมผสานการเลือกปลูกต้นไม้หลายชนิดกระจายตามส่วนต่างๆ ของไร่ ด้วยเหตุผลที่ว่าการปลูกพืชชนิดเดียวไว้ด้วยกันมากๆ จะทำให้ถูกแมลงรบกวนได้ง่าย เพราะจะเป็นพืชอาหารอยู่จุดเดียว เช่นเดียวกับหลักการพื้นฐานในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ต้องปลูกพืชแบบหมุนเวียน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อตัดวงจรแมลง การปลูกดอกไม้เพื่อเชื้อเชิญให้แมลงเข้ามาใช้เป็นแหล่งอาหาร พักอาศัยเป็นการใช้แมลงควบคุมแมลงด้วยกันไม่ต้องใช้สารกำจัดแมลง ผลจากปลูกดอกไม้จำนวนมากจะได้เมล็ดพันธุ์สามารถนำมาจำหน่ายได้อีกด้วย การที่จะเข้าใจในหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องคลุกคลีใช้เวลาอยู่ในไร่ในฟาร์ม หมั่นสังเกต ทดสอบ ทดลองจนได้รูปแบบอย่างที่ต้องการ ดังนั้นการลงมือทำด้วยตนเองจึงเป็นหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรจะต้องทำให้ได้

ในเชิงธุรกิจกิจกรรมแต่ละชนิดในไร่ในฟาร์มแบบอินทรีย์มีมูลค่าอยู่ในตัวเองข้อดีของการทำที่หลากหลายเราจะมีผลผลิตมากมายถึงแม้จะไม่มากเท่ากับการผลิตเชิงเดี่ยวแต่ก็ไม่เสี่ยง ในทางกลับกันผลผลิตที่หลากหลายที่ผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์กลับให้ผลตอบแทนในเชิงมูลค่ามากกว่าการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวในพื้นที่เท่ากันโดยที่สิ่งแวดล้อมไม่เสีย คนปลูกคนกินไม่เสี่ยงผลลัพธ์จึงมีค่ากว่ากันมากมายนัก

-ที่ปรึกษาโครงการเกษตรอินทรีย์ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ( ว วชิรเมธี )
-อุปนายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย Vise President Thai Organic Trade Association (TOTA)
-คณะกรรมการนโยบายสัตว์น้ำ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Aquaculture Board
-Agriculture and Coopelative Department
-รางวัลฟาร์มเกษตรอินทรีย์ดีเด่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-รางวัลฟาร์มเกษตรอินทรีย์ดีเด่นจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย 
-รางวัลดีเด่นสำหรับธุรกิจขนาดย่อมจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมแห่งเอเชีย
-รางวัลฟาร์มดีเด่นสำหรับครอบครัวในวันสุดสัปดาห์

กิจกรรมในไร่ แบบเกษตรอินทรีย์ มีปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ แปรรูป

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณกานต์ ฤทธิ์ขจร
130 หมู่1 ถนนเพชรเกษม ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี 70160

เกษตรอินทรีย์การเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดต่างประเทศ

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด