

"ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล : ทำเกษตรในเมืองใหญ่ ให้อยู่ได้อย่างมีความสุข"

มันจะมีวิธีไปให้ได้ของมันเอง
อุปสรรคคือความท้าทาย
ที่ทำให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้า

ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล เกษตรกรในเมืองใหญ่ ที่ไหนก็ทำเกษตรได้
“หลายคนวิ่งตามหาความสุขในชีวิต ออกไปหาเงินเพื่อซื้อความสุข มันใช่ความสุขที่แท้จริงหรือ? วันหนึ่งถ้าได้อยู่กับตัวเอง อยากทำในสิ่งที่เราอยากทำ ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำมันก็มีความสุขแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือได้เดินตามรอยในหลวง ทำให้มั่นใจในชีวิตว่าเราเดินไม่ผิดทางอย่างแน่นอน” จากนักเรียนนอก นักร้องวงอินดี้ คุณโอ๋ ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล ได้ค้นหาความสุขของตัวเองเจอแล้วเดินไปตามเส้นทางสายนั้นเส้นทางพอเพียง ทุกวันนี้เขาบอกกับทุกคนว่าเป็นเกษตรกรเต็มเวลา มีความสุขบนพื้นที่ 1ไร่ครึ่งที่ปรับเปลี่ยนจากสนามฟุตบอลมาเป็นสวนเกษตรผสมผสานปลูกทุกอย่างที่อยากกิน กินทุกอย่างที่ปลูก แปรรูปผลผลิตในสวนของตัวเอง สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอเพียง โดยใช้เวลา 5 ปีในการปรับเปลี่ยน วันนี้เขาพร้อมที่จะบอกให้คนที่สนใจโดยจัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมืองสำหรับคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัดจะทำอย่างไร ความสุขนั้นอยู่รอบกายเพียงแค่คุณยังหาไม่เจอเท่านั้นเอง
มีคำถามมากมายที่รอคำตอบเกษตรในเมือง คนที่มีพื้นที่ไม่มากทำเกษตรจะอยู่รอด ดำรงชีวิตในสังคมเมืองได้ไหม มันอยู่ได้ไหมอยู่ได้แต่ลำบากเหนื่อยหน่อยแต่ถ้ายึดหลักพอเพียง ทำกินให้อิ่มก่อน ถ้าเหลือก็แจก เหลือจากแจกถึงค่อยขาย สิ่งนี้เป็นของจริงคุณโอ๋ใช้หลักคิดนี้แจกจ่ายผลผลิตในพื้นที่ 1 ไร่ครึ่งให้คนรู้จัก อยู่มาวันหนึ่งมีคนให้โหระพาอิตาลี คุณโอ๋นำมาทำเป็นเพรสโต้ซอสได้ 2 ขวดเก็บไว้กินเอง 1 ขวดอีก 1 ขวดแจกมีคนชอบและบอกต่ออยากได้อีกก็เลยเริ่มทำขาย
หลักคิดชีวิตพอเพียง การเดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่9 สิ่งเหล่านี้มันก้องอยู่ในหัว จาก 2-3 เดือนที่ติดอยู่ในบ้านตอนน้ำท่วมปีพ.ศ.2554 แม่เก็บผักริมรั้ว ใช้ชีวิตอยู่นิ่งๆไม่ต้องใช้เงิน เงินไม่ใช่ที่สุดของชีวิตสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณโอ๋ ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล ย้อนกลับมาคิดถึงชีวิตตัวเองตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตก้าวเดินตามรอยในหลวง บนต้นทุนชีวิตในพื้นที่สนามฟุตบอล 1 ไร่ครึ่งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทันที ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมิได้สอนให้เราจนหรือต้องเป็นชาวนา เกษตรกรเท่านั้น คุณจะเป็นใครก็ได้ อาชีพอะไรก็ได้ก็สามารถนำปรัชญานี้ไปใช้ได้เหมือนกันโดยเริ่มต้นที่การพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เพราะทุกวันนี้คนไทยสบายกับการใช้ชีวิตใช้เงินซื้อความสบายทั้งหมดจนทุกวันนี้ถ้าไม่มีเงินก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้
ในพื้นที่ขนาดเล็กแบบนี้หลักคิด “ทำน้อยต้องให้ได้มาก”ก็จะเข้ามาสู่การแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่า คำถามที่คุณโอ๋มักโดนถามบ่อยๆแล้วอยู่ได้จริงหรือ? คำตอบต้องถามใจตัวเราเองก่อน สำหรับตัวเขาเองคือ “อยู่ได้” ทั้งนี้ต้องถามใจตัวเราเองก่อนว่าพอเพียงแค่ไหน ถ้ายังต้องใช้ของแบรนด์เนม,ดื่มกาแฟยี่ห้อดัง,ทำตัวหรูๆ โดยที่เงินในกระเป๋ามีไม่มาก การรู้จักประมาณตัวเองเรามีอยู่เท่านี้ หาได้เท่านี้ แบ่งใช้จ่าย แบ่งเก็บนั่นแหละจะรู้เองว่าเราควรจะทำตัวอย่างไร
พื้นที่ปลูกน้อยต้องเพิ่มมูลค่าให้สินค้า
กว่าจะเป็น Hip Incy Farm...
คุณโอ๋ ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล จบการศึกษา Retail Design and Management จาก University The Arts of London เจ้าของบริษัทออกแบบธุรกิจค้าปลีกและบริหารธุรกิจค้าปลีก เป็นช่างภาพจิวเวอร์รี่ นักร้องวง P2Warship เป็นเจ้าของสนามฟุตบอล แต่ไม่มีทักษะทางการเกษตรเลย จุดเปลี่ยนของชีวิตอยู่ที่ปลายปีพ.ศ.2554 น้ำท่วมใหญ่คุณพ่อ คุณแม่อพยพหนีน้ำจากมีนบุรีมาอยู่ที่สนามฟุตบอลแห่งนี้เห็นคุณแม่มีความสุขกับการปลูกผักริมรั้วได้เก็บกินอย่างมีความสุข 2-3 เดือนนี้เราแทบไม่ได้ใช้จ่ายอะไรเลยก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข จึงมีความคิดอยากลุกขึ้นมาทำเกษตรเล็กๆเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้กินผักปลอดสารเคมี อยากมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงเดินตามในรอยหลวงรัชกาลที่9 จึงกลับมาทบทวนต้นทุนของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ที่ดิน 1 ไร่ครึ่งที่มีอยู่จะทำอะไรได้บ้างค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตสักพักก็เริ่มออกแบบพื้นที่อันจำกัดของตัวเองว่าควรจะทำเกษตรอย่างไร ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำประมงควรจะวางตรงไหน พอได้แบบก็เริ่มลงมือทำเลย โดยทำการจัดระเบียบพื้นที่ลำดับความสำคัญก่อนหลังเริ่มแรกปลูกกล้วย,ทำเล้าไก่ซื้อลูกไก่มาเลี้ยง ปลูกไม้ยืนต้นทั้งไม้ป่า มะม่วงฯลฯเพื่อให้ร่มเงา จากนั้นไปเรียนปลูกข้าวที่มูลนิธิข้าวขวัญ อาจารย์เดชา ศิริภัทร จังหวัดสุพรรณบุรี คุณปริ๊นซ์ เจ้าชายผักได้แนะนำว่าเขามีการปลูกข้าว ดำนาวันแม่เกี่ยวข้าววันพ่อสนใจไหม ผมตอบตกลงทันที พื้นที่เล็กๆราว 1 งานเศษๆเนรมิตรให้เป็นนาข้าว มีปัญหาต่างๆมากมายต้องแก้ไปทีละอย่างโดยเฉพาะเรื่องดินที่ไม่เหมาะกับการทำเกษตรเลยเพราะใต้ผืนดินนี้มีทั้งอิฐ หิน ทราย ดินถมคุณภาพแย่ๆ ก็ต้องค่อยๆปรับปรุงมาเรื่อยๆจนสามารถปลูกพืชได้อย่างที่เห็น ตลอดเวลา 5 ปีคุณโอ๋มีบทสรุปของการทำงานว่า “ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้” อย่าตีกรอบตัวเอง อย่าเอาอุปสรรคหรือขีดจำกัดบางอย่างมาบดบังฝัน ต้องลองลงมือทำอย่างจริงจังค่อยๆทำค่อยๆแก้ปัญหาแล้วเราจะพบทางออกเอง
แทบจะไม่มีสภาพที่จะปลูกพืชได้ ต้องทำการขุดเศษอิฐ,หินออกมา นำดินใบก้ามปู น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ปุ๋ยคอก ฟางข้าวมาใช้ปรุงดินในจุดที่ต้องการปลูกพืชโดยผสมลงไปแล้วค่อยปลูกครั้งแรกอาจจะไม่เห็นผมแต่ค่อยๆทำไปเรื่อยๆดินจะปรับสภาพเองจนสามารถปลูพืชได้ทุกอย่าง แหล่งน้ำในเมืองถ้าจะใช้น้ำประปารดคงไม่คุ้ม พื้นที่ใกล้ๆสนามฟุตบอลยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า คุณโอ๋ ใช้วิธีขุดบ่อลึกราว 3-4 เมตรให้น้ำซึมลงบ่อในพื้นที่ของตัวเองแล้วสูบน้ำซึมนั้นใส่แท้งค์เก็บไว้รดพืช การทำเกษตรในเมืองต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อรวมกันซื้อวัสดุทางการเกษตรอย่างฟาง ดินปลูก มูลสัตว์ฯลฯซึ่งเป็นต้นทุนขั้นแรกของการทำเกษตร บนพื้นที่ขนาดเล็กจะต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุดจำเป็นจะต้องมีการออกแบบการใช้พื้นที่ให้ดี หลักการที่ใช้ได้ผลที่สุดในการออกแบบพื้นที่และออกแบบชีวิตตัวเองคือเราชอบอะไร ให้ทำอย่างนั้น ชอบกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น การปลูกพืชตามฤดูกาล ควรทำการเขียนแบบจำลองพื้นที่แล้วจัดวางสิ่งที่เราจะทำ เช่นพื้นที่ปลูกผักต้องโล่งมีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อยๆก็ต้องเช้าถึงบ่าย พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นต้องคำนึงถึงทิศทางของแสงและลมถ้าต้นไม้โตก็ไม่ควรบังแสงทั้งหมด ปศุสัตว์ควรอยู่ใต้ลมเป็นต้น เรียงลำดับความสำคัญในการทำงานไม้ยืนต้นควรปลูกก่อนเพราะใช้เวลานาน
สำหรับคนเมืองควรเริ่มต้นทำในวันหยุดทดลองดูว่าชอบ ทำไหวไหม อาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะไม่มีวันหยุดแต่ก็ไม่เสี่ยงทำจนคิดว่าไปได้ค่อยคิดอีกทีว่าจะออกมาทำเต็มตัวหรือเปล่า คนที่ยังเป็นโสดมีเรี่ยวแรงอยากทำทำเลย ส่วนคนที่มีครอบครัว มีภาระที่ต้องรับผิดชอบก็ต้องคิดนานหน่อย ต้องสำรองรายได้มากหน่อย การทำเกษตรบนพื้นที่ขนาดเล็กหรือเกษตรในเมืองต้องใช้หลักทำน้อยให้ได้มาก มองการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเช่นปลูกพืชแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ปลูกผักทำเป็นอาหาร หรือจะทำทั้งสองอย่างเลยก็ยิ่งดี เพราะการขายพืชผักขั้นพื้นฐานอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือความพอเพียงแต่ละคนพอเพียงไม่เท่ากัน สิ่งสุดท้ายที่อยู่ปลายทางมิใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียวแต่อยู่ที่ทำแล้วมีความสุขไหม พึ่งพาตัวเองได้มากเพียงใด มีกิน แบ่งปัน มีเพื่อนเครือข่าย มีขาย มีเก็บ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
การจัดการพื้นที่ที่ดี ทำให้สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด
ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล 11 นาคนิวาส30 ลาดพร้าว71 กรุงเทพมหานคร 10230


