เกษตรกรต้นแบบ

"ประกอบ ศรีวะรมย์ : เกษตรผสมผสานบนพื้นที่สองไร่"

 05 กรกฏาคม 2560 10,865
จ.นครนายก
ทำน้อยแต่ได้มาก ไม่จำเป็นต้องทำมาก
แต่ควรทำให้หลากหลาย
การผสมผสานคือความลงตัวของชีวิตในปัจจุบัน

คุณประกอบ ศรีวะรมย์ ผู้ใช้พื้นที่สองไร่ ในการทำเกษตรอินทรีย์

“ทำน้อยแต่ได้มาก” ไม่จำเป็นต้องทำมากแต่ควรทำให้หลากหลายอย่างละนิดอย่างละหน่อยเมื่อรวมกันมันจะมากเอง ไม่ต้องปวดหัวกับผลผลิตที่ล้นตลาด ความหลากหลายการผสมผสานคือความลงตัวของชีวิตในปัจจุบัน คือคำพูดของเกษตรกรที่ชื่อ “ประกอบ ศรีวะรมย์”

จากพนักงานบริษัทประกันภัยสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการวางแผนจัดการการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ ใฝ่หาความรู้เอามาปรับใช้ให้เหมาะกับฟาร์มของตัวเอง เกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานที่เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลักทำให้วันนี้คุณประกอบ ศรีวะรมย์และครอบครัว มีความสุขกับวิถีทางใหม่ที่เลือกแล้ววิถีชีวิตแบบพอเพียงที่ใครๆก็สามารถทำได้ถ้าตั้งใจที่จะทำ

การทำเกษตรผสมผสานของคุณประกอบ ศรีวะรมย์ มีแนวคิดที่ว่า “ยิ่งทำเกษตรยิ่งต้องสบาย เพราะคนเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ การปลูกพืชจึงควรเน้นพืชอายุยืนปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้นานหรือตลอดไป ส่วนพืชอายุสั้นปลูกไว้เพื่อกินเท่านั้น” ก่อนหน้านี้คุณประกอบก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในจำนวนมาก เพื่อต้องการผลผลิตมากๆจะได้ขายได้เยอะๆ แต่เมื่อทำไปแล้วต้องลงทุนสูงผลผลิตออกมามากขายไม่หมดกลายกลับเป็นว่าได้น้อยไม่คุ้มกับสิ่งที่ลงไป อีกทั้งต้องคอยปลูกใหม่ตลอด เหนื่อยตลอดทุกๆ45 – 90 วัน เป็นอย่างนี้ไม่จบสิ้น เมื่อเปลี่ยนวิธีคิดจึงหันมาปลูกพืชอายุยืน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอด อย่างผักกูดที่ปลูกแซมในร่มไม้ใหญ่ที่เป็นไม้เดิมของที่นา ปลูกผักพื้นบ้านอย่างผักติ้ว,เพกา,มะนาวแป้นดกพิเศษ,มะนาวไข่,มะนาวตาฮิติ,ดอกขจรฯลฯพืชผักเหล่านี้ปลูกไม่เยอะแต่หลากหลาย สำหรับปศุสัตว์มีทั้งหมูป่าหลุม,กบ,ปลาดุก,ไก่ไข่,เป็ด จากที่เคยเลี้ยงเป็นร้อยตัวก็เหลือไม่กี่สิบตัวมีผลผลิตทยอยออกมาเรื่อยๆเก็บเกี่ยวได้ทุกวันไม่ล้นตลาด มีรายได้ทุกวันอย่างน้อยก็ 400-500 บาท โดยที่ไม่มีต้นทุนอะไรที่ต้องจ่ายทำให้มีรายได้เหลือเก็บมากกว่าที่ทำเยอะๆทำมากๆเหมือนในอดีต

นอกจากการปลูกพืชอายุยืนทำให้ไม่ต้องเหนื่อยในการเริ่มต้นใหม่บ่อยๆแล้ว ทำให้คุณประกอบ ศรีวะรมย์ มีเวลาเพิ่มมากขึ้นในการจัดการเกษตรผสมผสาน โดยทำการเช่านาเพื่อทำนาอินทรีย์มีทั้งข้าวหอมมะลิ ,ข้าวไร้ซ์เบอร์รี่ ซื้อเครื่องสีข้าวมาสีข้าวของตัวเองและรับจ้างชาวบ้านสีข้าว เพิ่มรายได้อีกทาง ซึ่งได้ทั้งแกลบ,รำ,ปลายข้าวเพื่อเอามาหมุนวนใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเกษตรผสมผสานไม่ว่าจะเป็นแกลบ-ฟางข้าวไว้เป็นอินทรียวัตถุ,รำและปลายข้าวทำเป็นอาหารสัตว์ เป็นการทำแบบครบวงจร

หมูป่าหลุม สัตว์อีกชนิดที่ผลิตปุ๋ยได้ดี

ในเมื่อปลูกพืชหลากหลายจำนวนไม่มากเพราะมีพื้นที่เพียง 2 ไร่ การเพิ่มมูลค่าให้กับพืชในฟาร์มของตัวเองคือการเพาะพันธุ์ ชำ,ตอนกิ่งต้นไม้ในฟาร์มของตัวเอง มีไข่ไก่ ไข่เป็ด ลูกหมูป่า ปลาดุก กบ ทำให้มีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปีไม่มีขาด

เหตุไฉน? พนักงานบริษัท ถึงมาเป็นเกษตรกร...
คุณประกอบ ศรีวะรมย์ เป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอดีตทำงานพนักงานบริษัทมิตรแท้ประกันภัย เมื่อปีพ.ศ.2554 เกิดน้ำท่วมพระนครศรีอยุธยานานกว่า 3 เดือน จึงได้มาอาศัยบ้านพี่ชายและพี่สะใภ้ที่จังหวัดนครนายก หลังจากน้ำลดพอดีญาติพี่สะใภ้ขายที่ 1 ไร่จึงขอซื้อที่เพื่อจะหันเหชีวิตมาเป็นเกษตรกร ในปีพ.ศ.2556 เริ่มทำเกษตรด้วยการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ส่งขายตามร้านสเต๊กที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรายได้ดีพอควรแต่กำไรเหลือไม่มากเพราะหมดไปกับค่าขนส่งจึงกลับมาตั้งหลักใหม่ ออกไปอบรมศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเกษตร จึงเริ่มปรับเปลี่ยนเลิกทำผักไฮโดรโปนิกส์มุ่งสู่การทำเกษตรผสมผสาน เพราะด้วยพื้นที่ที่มีเพียงแค่ 2 ไร่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่ใช่คำตอบของชีวิต อีกทั้งคิดว่าเราอายุมากขึ้นทุกวันถ้าจะต้องปลูกผักอายุสั้นก็จะต้องเหนื่อยตลอดเวลาเพราะมีแรงงานทำเกษตรเพียงตัวเองและคุณแม่ จึงปรับแนวคิดหันมาปลูกพืชที่มีอายุยืนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เรื่อยๆ จากการศึกษาอบรม ดูงานตามที่ต่างๆคุณประกอบ ได้นำเอาข้อดีของแต่ละที่มาปรับใช้ที่ฟาร์มของตัวเองบนพื้นที่ 2 ไร่ได้ออกแบบวางแผนการเกษตรแบบครบวงจรโดยทำการปลูกไม้ยืนต้นอาทิเช่นมะม่วง,มะนาว,เพกา,สัก,ยางนาฯลฯ ปลูกผักในวงบ่อซีเมนต์ วงยางรถยนต์โดยทำการปรับปรุงดินให้มีความสมบูรณ์ ผักในวงบ่อซีเมนต์จึงเติบโตงดงาม เช่านาเพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ มีโรงสีเพื่อสีข้าวของตนเองและรับจ้างสีข้าว นำปลายข้าว รำข้าวมาทำเป็นอาหารสัตว์ภายในฟาร์มของคุณประกอบจะเลี้ยงกบ,ปลาดุก,ไก่ไข่,เป็ดหมูป่าหลุมโดยนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยและน้ำหมักมูลไส้เดือนไว้ใช้ภายในฟาร์มเหลือก็ขายทั้งปุ๋ย,น้ำหมัก,และตัวไส้เดือน

การทำเกษตรผสมผสานแบบสวนเกษตรประกอบฟาร์ม จะต้องทำแบบเกื้อกูลซึ่งกันและกันใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีให้มากที่สุด ทุกวันนี้ที่ฟาร์มซื้อเพียงมูลวัวจากลพบุรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เหลือสามารถผลิตได้เองจากในฟาร์ม

ทำไมถึงต้องห่มดิน...?
ที่สวนเกษตรประกอบฟาร์มทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงใดๆทั้งสิ้นหัวใจสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์คือการทำดินให้มีชีวิต “เลี้ยงดินเพื่อให้ดินเลี้ยงพืช” จากการสังเกตถ้าปลูกผักพื้นที่ที่เตียนโล่งถากหญ้าเปลือยดิน พื้นที่จะแห้งแล้งมีแมลงเข้ามารบกวนมาก แต่ถ้าในพื้นที่ไหนที่มีหญ้าขึ้นดินชุ่มชื้นไม่ค่อยมีแมลงรบกวนจึงได้ความคิด ถ้าจะปลูกพืชตรงไหนก็ถากหญ้าเฉพาะที่ปลูกก็พอ

ไข่ไก่ที่เลี้ยงไว้สามารถจำหน่ายได้ทุกวัน

เนื่องจากพื้นดินเป็นดินนาเก่าและบางส่วนมากเป็นดินถมเป็นดินที่ไม่มีชีวิต ไม่มีอินทรียวัตถุ การห่มดินจึงเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูผืนดินในสวนเกษตรประกอบฟาร์มแห่งนี้

การห่มดินหัวใจหลักทำเพื่อไม่ให้ดินถูกแดดเผา เริ่มแรกจะมีการเติมอินทรียวัตถุไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคอก มูลวัว มูลไก่ มูลหมูหรือปุ๋ยมูลไส้เดือน ที่ผ่านการหมักแล้วนำมาคลุกเคล้าสับลงไปในดินรอบๆทรงพุ่มของต้นไม้ จากนั้นนำฟางข้าวมาทับดินให้หนาราวหนึ่งคืบเป็นอย่างน้อย โดยกระจายฟางให้ทั่วโดยด้านนอกสุดให้กอบฟางม้วนเป็นก้อนเหมือนปั้นเป็นคันดินเพื่อกันความชื้นไม่ให้กระจายออกไปจากนั้นรดน้ำที่มีจุลินทรีย์ทุกเช้าและเย็น ที่ฟาร์มแห่งนี้ใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์จึงปล่อยน้ำจุลินทรีย์มาพร้อมกันโดยให้น้ำ 2 เวลาเช้า 10 นาที เย็น 10นาที ข้อดีของการห่มดิน ดินจะชุ่มชื้นตลอดเวลาถึงแม้จะมีแดดเผาดินจะไม่แห้งการคลายน้ำไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนเมื่อไอน้ำกระทบกับฟางจะกลั่นตัวกลับมาเป็นหยดน้ำ เมื่อดินมีความชื้นเพียงพอจุลินทรีย์จะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุรวมไปถึงฟางข้าวหรือหญ้าแห้งที่ใช้คลุมดินให้กลายเป็นอาหารของพืชต่อไป จากการสังเกตรอบโคนต้นไม้ที่ทำการห่มดินจะแตกรากปลายรากมีสีขาวหาอาหารได้ดีกว่าที่ไม่มีการห่มดิน ดังนั้นต้นไม้ที่ทำการห่มดินรอบต้นจะเจริญเติบโตดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ข้อดีอีกอย่างของการห่มดินคือทำให้ต้นไม้สามารถต่อสู้ภัยแล้งและเป็นการประหยัดน้ำและใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่ามากกว่าการไม่ห่มดินอย่างเห็นได้ชัด

เกียรติประวัติและผลงาน
ประกอบ ศรีวะรมย์ เกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจอินทรีย์ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ มีการวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบนำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์เพื่อหาจุดดี จุดด้อยมาปรับใช้กับฟาร์มของตัวเอง ด้วยแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสานยึดหลักทำน้อย แต่ได้มาก นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มของตัวเอง ได้รับคัดเลือกให้เป็น Young Smart Farmer ปี พ.ศ.2558 ในหมวดหมู่เกษตรผสมผสานของจังหวัดนครนายก สวนทำกษตรประกอบฟาร์ม เป็นจุดเรียนรู้เกษตรผสมผสานที่เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้การเกษตรผสมผสานบนพื้นที่ขนาด 2 ไร่ ซึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จริง มีความสุขในแบบพอเพียง

เทคนิคของการห่มดิน ช่วยให้ดินดี พืชผักสมบูรณ์เติบโตแข็งแรง

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณประกอบ ศรีวะรมย์ สวนเกษตรประกอบฟาร์ม
บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 6 ตำบลโคกกรวด
อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก 26130

ประกอบ ศรีวะรมย์ เกษตรผสมผสานบนพื้นที่ 2 ไร่

เทคนิคห่มดิน เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช แบบสวนประกอบฟาร์ม

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด